ผู้เขียน กับสมาชิกส่วนหนึ่งได้ร่วมกับศูนย์ฝึกที่จังหวัดนครปฐม อ.วิเชียร-อ.มานะ จัดเป็นการอบรมยกระดับฝีมือ และได้ทำโต๊ะทำงาน (Work Bench) โดยจัดหาไม้กันมาเอง วันนี้โต๊ะสำเร็จ ลงได้แบบเหนื่อย หืดเอาการอยู่ หลายท่านเวลานี้ เอาไปใช้งานจริงแล้ว แต่สำหรับผู้เขียนเอง ยอมรับว่ายังไม่ได้เริ่มงานที่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็เอาไว้หนีบประตู แต่งบาน ดีเหมือนกัน ขณะนี้ผู้เขียนกำลังจัด Shop เล็กๆอยู่ กะว่าถ้าเริ่มเห็นเค้าโครง ก็จะเอามาฝากให้ใครที่อยากทำ Shop เอาไว้ที่บ้าน ดูเป็นแนว แล้วก็เอาไปจัดกันตามกำลัง สถานที่ ตามความเหมาะสมกันตามสภาพต่อไป
นี่เป็นบรรยากาศ การทำโต๊ะงาน เอามาให้ดูการทำกันครับ
ตัวนี้เขาว่าเป็นตัว Original เก่าแก่มากๆ
อาจารย์มานะ กับสมาชิกกำลังร่วมกันเตรียมไม้ "เอ้าๆ รับไม้จากอาจารย์หน่อย"
เริ่มจากนำไม้มา ไสชิด(ไสเพลาะ) แล้วก็ปรับโดยเครื่องไสขนาด เตรียมให้ครบทุกชิ้นส่วน เสียก่อน " อาจารย์อีกแย้ววว"
นี่ผู้เขียนกับอาจารย์กำลังช่วยกัน ตั้ง Roller เพื่อเอาไว้ดันไม้ให้ชิดกับรั้วโกรก (จะทำการผ่าไม้) โดยเป็นสปริงอยู่ภายในชุดแขน นอกจากช่วยลดอันตรายแล้วยังช่วยเรื่องคุณภาพงานด้วย (สงสัยรุ่นนี้ไม่มีขายแล้ว อาจารย์มานะแกก็เกือบลืมไปแล้ว เช่นกัน)
ผู้เขียนกับคุณโสภณ ร่วมกันตีเดือย ปากกาตัว L ด้วยเพลาตั้ง ตัวคัตเตอร์ หนา 10มม ความเร็วรอบ ค่อนข้างสูง
ภาพ ไม้หน้าโต๊ะที่เราจะเอาไปทำการเพลาะ ทำเป็นเครื่องหมายก่อนประกอบ เลือก สี-ลายไม้ ให้เข้ากันการเพลาะใช้ตีลิ้นไม้ โดยใช้ไม้อัดเป็นลิ้น (ไม่แนะนำให้ใช้ไม้จริง เพราะไม้อัดมีการประสานเนื้อไม้สลับกัน ทำให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า
คุณนิพล กำลังใช้เลื่อยวงเดือนผ่าเดือย โดยใช้ไม้อัดเป็นตัวกันชน ตั้งระยะความลึก
คุณผ่านเมฆ กับอาจารย์มานะ ช่วยกันประกอบปากกาตัว L (ปากกาที่ใช้เวลาทำนานเลยทีเดียวครับ)
คุณนริศ กับคุณสุชาย ยืนมองอาจารย์ ด้วยความตั้งใจ(ที่เห็นกองอยู่คือหน้าโต๊ะที่เพลาะเสร็จแล้วครับ)
กำลังช่วยกันประกอบหน้าโต๊ะ สังเกตว่าเทคนิคการต่อแม่แรงของอาจารย์สามารถนำไปใช้ได้กับงานที่มีระยะความยาวมากเกินแม่แรงตัวเดียวครับ น้ำหนักหน้าโต๊ะค่อนข้างจะหนักเอาการเลยครับ
แผงขาอีกส่วนหนึ่ง ก็ทำมารอกับหน้าโต๊ะ (เห็นคุณอรรคแกยืนยิ้มๆอยู่ข้างอาจารย์มานะสงสัยแกประกอบขาไม่ได้ฉากแหงเลย )
โต๊ะงาน (Work Bench) ที่เราทำเสร็จแล้ว สำหรับงานชุดนี้เราใช้ไม้ที่นำมาทำวงกบประตู เห็นว่าแข็งแรง เช่นไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ประดู่ฯ แต่ดูแล้วสีไม่ค่อยสวย นี่คิดว่าอยากจะทำแบบเป็นไม้ยางพารา (คุณสมบัติแข็งปานกลาง มีความเหนียว)ปรึกษาอาจารย์ ศิระดูแล้ว คิดว่าน่าจะลองทำขึ้นมาสักตัว เอาแบบหนาๆ Top หนาสัก 30-40มม จะได้ดูแข็งแรงหน่อยแต่รูปแบบไม่ยุ่งยากมาก หากเสร็จแล้วจะนำมาให้ได้ชมกันครับ