ReadyPlanet.com


‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่30บาทต่อดอลลาร์
avatar
Amber


นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 30.00บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงคืนที่ผ่านมาเป็นฝั่งยุโรปที่คึกคัก นำโดยหุ้นอิตาลีที่ปรับตัวบวกแรงที่สุดในรอบสามสัปดาห์ หลังอดีตประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) นายมาริโอ ดรากี ตอบรับเข้ามาช่วยจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หนุนให้ ดัชนี STOXX 600 ปรับตัวบวกติดต่อกันเป็นวันที่สามที่ 0.27% ขณะที่ฟากสหรัฐ ดัชนี S&P 500 ก็ปรับตัวขึ้น 0.10% ด้วยแรงหนุนของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่บนความหวังว่าจะมีนโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองในยุโรปส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์อิตาลีและเยอรมันอายุสิบปีลดลงสู่ระดับ104bps ต่ำที่สุดในรอบห้าปี และเงินยูโร (EUR) ฟื้นตัวขึ้นเหนือระดับ 1.20 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าดีกว่าสกุลเงินหลักอื่น ๆเนื่องจากช่วงนี้ ดอลลาร์แข้งค่ารับตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (U.S. Jan. ADP Employment Change) ที่กลับมาขยายตัว 1.74 แสนตำแหน่งในเดือนมกราคม และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (U.S. Jan. ISM Services Index) ที่เร่งตัวขึ้นมาที่ระดับ 58.7จุดจากการจ้างงานของโรงแรมและร้านอาหาร

ส่วนฝั่งของเงินบาทระยะสั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยการซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบาง หลังธนาคารแห่งประเทศไทย“คง” ดอกเบี้ยนโยบายตามคาดที่ 0.50% นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทย สวนกับนักลงทุนไทยที่กระจายการลงทุนไปต่างประเทศ มองช่วงถัดไปคาดว่าเงินบาทจะกลับมามีทิศทางชัดเจนได้ ก็ต่อเมื่อเริ่มเห็นเงินทุนไหลกลับเข้าฝั่งเอเชียจากความสำเร็จของการผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.10 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ ในระยะสั้นความเสี่ยงของเงินบาทคือ การลดสถานะ “Reflation Trades” ที่ผู้เล่นต่างเก็งว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของประเทศอื่นๆและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของสหรัฐฯ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจมาพร้อมแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกระลอก กดดันให้ ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกสุทธิ ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลง

แต่เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.05-30.10บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้นหากตลาดไม่ได้มีแนวโน้มปิดรับความเสี่ยงที่รุนแรง เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์+/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจน เริ่มเล่นหุ้น

ตลาดโดยรวมยังคงเปิดรับความเสี่ยง ทว่าเริ่มเห็นภาพผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง หุ้น ที่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในสัปดาห์นี้ โดย ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ส่วนดัชนีหุ้นขนาดเล็กRussell ปรับตัวขึ้นราว 0.4% จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวได้ดีจากคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP ก็เพิ่มขึ้นกว่า 1.7แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 5หมื่นราย นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการโดย ISM ในเดือนมกราคม ก็ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58.7จุด ดีกว่าที่ตลาดมองไว้ว่าจะปรับตัวลดลงเหลือ56.8จุด

ด้านฝั่งยุโรป ดัชนี stoxx50 ก็กลับมาปิดบวก 0.5% หลังจากปัญหาการเมืองในอิตาลีเริ่มคลี่คลายลง ทันทีที่นายมาริโอ้ ดรากิ อดีตประธาน ECB ประกาศเตรียมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้ ตลาดหุ้นอิตาลี (ดัชนี FTSE MIB) ปรับตัวขึ้นกว่า 2%

ทั้งนี้ ตลาดก็จะรอติดตามความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เหลือ ก่อนจะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป

นอกจากนี้ สภาวะการเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ เด้งขึ้นต่อ 4bps สู่ระดับ 1.14% และหนุนให้ สินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ต่อเนื่องราว 2% แตะระดับ 58.7ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับแรงหนุนจากท่าทีของ กลุ่ม OPEC+ ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันต่อด้วยการพยายามลดอุปทานส่วนเกินที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ COVID-19

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 91.1 จุด

สำหรับวันนี้ ตลาดจะยังคงติดตามความคืบหน้าของกระบวนการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯรวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ เริ่มจากในฝั่งยุโรป ภาพเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวทั่วยุโรปและความหวังการแจกจ่ายวัคซีนที่เริ่มกลับมาเร็วขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารกลาง ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ไว้ที่ระดับ 0.10% ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก(Initial jobless claims) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นราว 8แสนราย ลดลงจากรายงานก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นราว 8.5แสนรายสะท้อนภาพการจ้างงานที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น



ผู้ตั้งกระทู้ Amber (lucasjojo20-at-outlook-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก :: วันที่ลงประกาศ 2021-02-04 09:09:46


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.