ReadyPlanet.com


โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร


user image

เรื่องที่จะเล่าในกระทู้นี้เป็นเรื่องที่ต่อจาก ตอนที่แล้วที่มีชื่อว่า “โต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผม”http://www.thaicarpenter.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaicarpentercom&thispage=2&No=1404776ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับความเป็นมา สรรพคุณ และปัญหาอุปสรรคที่ได้ประสบจากการใช้งานโต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผมมาตั้งแต่ปี 2518 จนปัจจุบันรวมเวลาแล้ว 3 รอบพอดี


ผมเป็นผู้ที่โชคดีมากที่มีโอกาสสร้างโต๊ะช่างไม้ถึงสองตัว โชคที่ว่านี้เกิดจากความประสงค์ของคุณชาญศิริ อักษรนันทน์ หรือ “พี่เติม” ที่อยากมีโต๊ะช่างไม้ที่มั่นคงถาวรไว้ใช้ ประกอบกับจังหวะชีวิตของผมช่วงต้นปีนี้ที่พอจะสรรหาเวลามามุ่งเน้นทำงานไม้อย่างจริงจัง  นอกจากผลงานที่ออกมาจะถูกใจทั้งพี่เติมผู้เป็นเจ้าของและผมแล้ว ผมก็ยังได้ผลพลอยได้จากการออกกำลังในห้องช่าง (Workshop) ของผมซึ่งทำให้น้ำหนักตัวของผมลดลงจาก 92 กิโลกรัมเหลือไม่ถึง 80 กิโลกรัมในเวลาไม่ถึง 4 เดือน :)


เรื่องของโต๊ะตัวช่างไม้ตัวที่สองนี้ผมตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม” ด้วยเหตุที่ว่าโต๊ะตัวนี้ (ตามรูปที่ 1) มีสรรพคุณที่ผมปรารถนาครบและตอบโจทย์เรื่องปัญหา อุปสรรคจากโต๊ะตัวแรกได้ทุกข้อ  ผมไม่มีโอกาสรับเขาไว้ในอุปการะเพราะเขามีพี่เติมได้เป็นเจ้าของตัวจริง ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมไม่ต่อโต๊ะแบบนี้ไว้เองอีกสักตัวหนึ่ง?


คำตอบของผมคือ 1) ผมรักโต๊ะตัวแรกของผมมากและไม่อยากจะทิ้งเขาไว้เฉยๆ 2) ผมไม่มีที่จะวางโต๊ะอีกตัว และ 3) ผมคงจะหาเวลาทำโต๊ะช่างอีกตัวยากแล้ว เพราะมีใจจะทำงานไม้เรื่องอื่นอีกหลายโครงการ เช่น เปลี่ยนประตูบ้านและประตูห้องน้ำให้คุณพ่อ… ทำตู้เก็บเครื่องมือแบบติดผนังและแบบตั้งพื้น… ทำโต๊ะเร้าเตอร์ใหม่… ทำแท่นรองสว่าน… ทำแท่นรองเลื่อยองศาและเครื่องรีดไม้… บูรณะเครื่องมือเก่าที่สะสมไว้… ออกแบบและผลิตเครื่องมือช่างไม้… รวมถึงการจัดระเบียบ 5ส ในห้องช่างของผมซึ่งบางวันแทบเดินไม่ได้และบ่อยครั้งที่หาของไม่เจอ


สรุปแล้วผมก็คงได้แค่ฝันถึงโต๊ะของพี่เติมล่ะครับ แต่ถ้ามีโอกาสผมก็จะพยามหาเวลามาปรับปรุงโต๊ะช่างตัวแรกให้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ ที่เล็งๆไว้ก็คืออยากจะ ไสปรับผิวโต๊ะให้เรียบสวย เพิ่มปากกาท้ายโต๊ะแบบ Wagon Vise และเพิ่มปากกาหัวโต๊ะแบบพวงมาลัยไม้หนีบ (Glide Leg Vise) ตาม Link นี้ครับhttp://www.youtube.com/watch?v=zWe32IDX-Ec
 



ผู้ตั้งกระทู้ เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-02 20:25:59


1 2 3 4 »

ความคิดเห็นที่ 1 (1443558)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

พี่เติมและผมใช้เวลาแรมเดือนในการสร้างโต๊ะช่างไม้ในฝันตัวนี้ โดยมีคุณพ่อผู้เป็น "โค้ช" ของผมติดตามดูแลความคืบหน้าและความประณีตอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นจนเสร็จงาน

ระหว่างต่อโต๊ะในฝันตัวนี้ พี่เติมและผมได้รับประสบการณ์ใหม่ๆที่มีคุณค่าและอยากแบ่งปันให้ท่านทราบอยู่หลายเรื่อง เรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้จึงจะเป็นเรื่องยาวที่มีรูปประกอบ และเว็ปไซด์อ้างอิงจำนวนมากนะครับ ผมวางโครงเรื่องของ “โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม” ไว้คร่าวๆดังนี้ครับ
1) “พี่เติม” เป็นใคร พร้อมอ่านแล้วครับ
2) การออกแบบ  พร้อมอ่านแล้วครับ
3) การเลือกซื้อไม้และการเตรียมไม้  พร้อมอ่านแล้วครับ
4) ปากกาท้ายโต๊ะแบบพวงมาลัย (Wagon Vise) ชุดเดือยกลม (Round Bench Dogs) และปากกา Record No. 52 ½ แบบมีกระเดื่องชักเร็ว (Quick Release)  พร้อมอ่านแล้วครับ
5) เสาพยุงไม้ (Sliding Deadman) ที่มีหน้าที่ประคองไม้ (ไม่ใช่เสาไม้พะยุง นะครับ)  พร้อมอ่านแล้วครับ
6) กระบวนการสร้างโดยละเอียด  พร้อมอ่านแล้วครับ
7) การเข้าไม้แบบต่างๆ ซึ่งจะเล่าถึงวิธีเข้าหางเหยี่ยว (Dovetail Joint) เดือยเหลี่ยม (Mortise and Tenon Joint) เดือยรางลิ้น (Dado Joint) การเพลาะไม้ (Edge Joining) และการอุดเดือยพรางตำหนิบนผิวไม้  ผมได้เขียนรวมไว้ในหัวข้อที่ 6 แล้วครับ
8) กบไสไม้ และ การใช้งานแบบต่างๆ คือไสล้าง ไสปรับระดับ ไสผิว และไสชิด  ผมได้เขียนรวมไว้ในหัวข้อที่ 6 แล้วครับ
9) การใช้เร้าเตอร์ทำเป็นเครื่องไสไม้  พร้อมอ่านแล้วครับ
10) เกร็ดความรู้ (Tips) เกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ รวมถึงแบบยึดงาน (Jig)  ผมได้เขียนรวมไว้ในหัวข้อที่ 6 แล้วครับ
11) บทเรียนที่ได้รับ และ งบประมาณที่ใช้  พร้อมอ่านแล้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-02 20:53:06


ความคิดเห็นที่ 2 (1443562)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

1) “พี่เติม” เป็นใคร?

พี่เติมคือรุ่นพี่ที่ผมรู้จักมากว่า 30 ปีแล้ว บ้านเก่าของเราแถวปากทางลาดพร้าวอยู่ตรงข้ามกันครับ พี่เติมอายุมากกว่าผม 11 ปีแต่เราก็สนิทกันมากและก็ได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่างเช่น เล่นแบดมินตัน สนุกเกอร์ ยิงปืน ซ่อมรถ ปลูกไม้ผล และงานช่าง

พี่เติมเป็นคนใจเย็น อัธยาศัยดี มีน้ำใจ และเป็นที่รู้จักและที่รักของหลายๆครอบครัวในหมู่บ้านเมืองเอกรังสิต นอกจากความถนัดในเรื่องช่างไม้แล้ว พี่เติมก็ยังมีฝีมือในเรื่องการทำอาหารด้วย เขาชำนาญจริงๆครับทั้งของคาวและหวาน ทั้งไทยและเทศ ขนาดเป็นเจ้าของสูตรเมนูขายดีในร้านอาหารในละแวกเมืองเอกรังสิตอยู่หลายร้าน

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-02 21:04:37


ความคิดเห็นที่ 3 (1443564)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

พี่เติมเริ่มสนใจงานช่างไม้ช่วงที่สร้างบ้านที่เมืองเอกเพราะมีโอกาสได้คลุกคลีกับช่างยี ผู้เป็นช่างไม้บิลท์อินที่ดีทั้งนิสัยและฝีมือ จากนั้นพี่เติมก็เริ่มทำเฟอร์นิเจอร์ใช้เองและต่อมาทำให้คนอื่นใช้ ร้านอาหารในเมืองเอกรังสิตหลายร้านก็มีผลงานของพี่เติมตั้งวางอยู่ 

พี่เติมมีข้อดีสารพัดแต่ก็มีข้อเสียที่ฉกรรจ์อยู่ประการหนึ่งคือ ไม่กล้าคิดเงินแบบได้กำไร ถ้าจะพูดให้ตรงกับความรู้สึกของผมก็ต้องบอกว่า พี่เติมเข้าเนื้อเสมอเวลารับงานเพื่อนฝูง

รูปที่ 4 เป็นรูปพี่เติมกำลังไสปรับหน้าเคาน์เตอร์ไม้เมเปิลที่เจ้าของร้านเบเกอรรี่ในเมืองเอกรายหนึ่งมาขอให้ช่วยทำ กบที่ใช้เป็นกบผิวธรรมศักดิ์ขนาด 9 นิ้วครับและเส้นสีแดงๆบนไม้คือไม้แดงที่ฝัง (Inlay) เพื่อความสวยงามครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-02 21:15:03


ความคิดเห็นที่ 4 (1443565)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

พี่เติมใช้เครื่องทุ่นแรง (Power Tools) เป็นหลักในการทำงานไม้ ดังนั้นการทำโต๊ะช่างในฝันของผมตัวนี้จึงเป็นโอกาสให้พี่เติมได้ใช้เครื่องมือแรงคน (Hand Tools) อย่างเต็มอิ่ม

ช่วงที่โต๊ะตัวนี้ใกล้เสร็จผมถามพี่เติมว่า “ให้ทำโต๊ะตัวนี้ใหม่อีกทีเอาไหมครับพี่เติม?” คำตอบก็คือ “เหนื่อย....... ไม่เคยคิดว่าต้องทำถึงขนาดนี้ ถ้ารู้ก็คงจะไม่เริ่มแน่” :) แต่ผมฟังแล้วก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าพี่เติมจะไม่สร้างโต๊ะช่างใหม่ เพราะสภาพของโต๊ะช่างที่พี่เติมใช้อยู่นั้นสุดจะบรรยายครับ  ดูรูปที่ 5 จะได้ความรู้สึกมากกว่าคำอธิบายของครับ
 
เรารู้จักพี่เติมกันแล้วนะครับ จากนี้ก็จะเห็นรูปพี่เติมปรากฏเป็นระยะๆครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-02 21:16:58


ความคิดเห็นที่ 5 (1443600)
avatar
ธัญ ไม้ทัย

เป็นโต๊ะงานไม้ในฝันของผมเช่นกันครับ ผมคนหนึ่งติดตามเรื่องราวและเก็บเกี่ยวความรู้จากคุณเขมทัต รูปที่ 1 สวยงามมากครับ ถ้าอยู่้ใต้ถุนบ้านผมว่าสวยงามเตะตามากกว่าเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเสียอีก ตอนนี้ผมหลงไหลงานไม้มากขึ้นทุกทีแล้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ธัญ ไม้ทัย (thanpisist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-02 22:25:02


ความคิดเห็นที่ 6 (1443631)
avatar
อินจำปา

มาติดตามผลงานครับ อยากรู้เรื่องพี่เติมมากขึ้นด้วยครับ และรู้สึกดีจังครับ กับทีมเวอร์คของพี่เขมทัต ที่มีคุณพ่อ และพี่เติม เป็นผู้สนับสนุนอยู่ข้าง ๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น อินจำปา (settachai-at-kanoksin-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 00:15:47


ความคิดเห็นที่ 7 (1443632)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

2) การออกแบบ


ในการสร้างโต๊ะตัวนี้ความต้องการหลักๆของพี่เติมคือการจับชิ้นงานอย่างมั่นคง สิ่งที่พี่เติมอยากได้คือ

1) ความบึกบึนของโต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผม

2) ปากกาหนีบไม้ ที่หัวโต๊ะและท้ายโต๊ะอย่างละตัว โดยปากกาหัวโต๊ะเป็นแบบ Quick Release (ตามรูปที่ 6)  ที่ซื้อไว้แล้วเมื่อปีก่อน

3) มีเดือยอัดไม้กลางโต๊ะที่ใช้คู่กับปากกาตัวท้าย 4) ความสูง 85.5 ซม. ซึ่งสูงกว่าโต๊ะตัวแรกของผม 3 ซม.

นอกจากนี้แล้วพี่เติมก็ไม่ได้เน้นอะไรเป็นพิเศษ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 00:16:31


ความคิดเห็นที่ 8 (1443637)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ส่วนผมซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในด้านการสร้างก็อยากให้โต๊ะตัวใหม่นี้มีสรรพคุณหลายอย่างดังนี้ครับ


1) มั่นคงและถาวรและทำจากวัสดุที่สวยงามคงทน แปลง่ายๆว่าต้องทำด้วยไม้จริงทั้งตัว และเมื่อพิจารณาราคาไม้ใหม่แล้วก็สรุปได้เลยว่าเราจะต้องไปหาไม้เก่าที่สภาพดีมาใช้หากไม่อยากกระเป๋าฉีก


2) ตอบปัญหาอุปสรรค 5 ประเด็น (ตามรูปที่ 7) ที่พบระหว่างการใช้โต๊ะตัวแรกของผม เรามีโจทย์ในเรื่อง:
          2.1 การยืดหดตัวของไม้
          2.2 การยุบตัวของเดือยพรางรูหัวน๊อตยึดพื้นโต๊ะ
          2.3 อาการ “ท้ายตก” ของปากกาท้ายโต๊ะ
          2.4 “จุดบอด” ของปากกาท้ายโต๊ะและเดือยกลางโต๊ะที่ทำให้หนีบไม้บางขนาดไม่ได้
          2.5 ระยะจากขอบโต๊ะถึงแนวกลางปากกาตัวท้ายห่างเกินไปทำให้ต้องเอี้ยวตัวขณะไสไม้
 

3) อุปกรณ์และคุณลักษณะอื่นๆที่ต้องการผมอยากให้มีคู่กับโต๊ะตัวนี้ (ตามรูปที่ 8)
          3.1) เดือยหนีบไม้แบบเป็นทองเหลืองกลมเหมือนของ Veritas ระยะระหว่างเดือย 10 ซม.
          3.2) เสาประคองไม้ (Sliding Dead Man) ที่มีรางเลื่อนได้ เพื่อใช้รองรับไม้ที่มีขนาดยาวกว่าความกว้างของไม้ประกับปากกาหัวโต๊ะ
          3.3) โครงสร้างของโต๊ะต้องไม่มีคานขวางระหว่างขาทั้งสี่ เพื่อที่จะได้หนีบอัดงานกับพื้นโต๊ะได้สะดวกโดยใช้ปากกาตัว F Clamp

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 01:21:36


ความคิดเห็นที่ 9 (1443638)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

รูปที่ 8: อุปกรณ์และคุณลักษณะอื่นๆที่ต้องการ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 01:22:59


ความคิดเห็นที่ 10 (1443641)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมขอขยายความเรื่องการออกแบบเพื่อจัดการการยืดหดตัวของไม้นะครับ ขอให้ดูรูปที่ 9 ประกอบนะครับ
 

การยืดและหดตัวของไม้เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เราต้องปรับตัวปรับแบบเข้าหา ดังนั้นทุกจุดที่มีการยึดไม้บนโต๊ะตัวใหม่เราต้องให้ไม้ยืดและหดตัวอย่างสะดวกโดยที่ชิ้นงานไม่เสียรูป ในกรณีของพื้นโต๊ะซึ่งกว้าง 71 ซม. เราเลือกที่จะเพลาะไม้ทั้ง 4 ชิ้น ที่มีขนาดประมาณ 210 x 18 x 7 ซม. เข้าด้วยกันโดยใช้เดือยไม้บิสกิท (Biscuit) เป็นตัวคุม “ความเรียบเสมอของผิวไม้” ใช้สตัด (Stud) ซึ่งเป็นเกลียวตัวผู้ที่ไม่มีหัวน๊อตเป็นตัวคุม “ความสนิทของแนวรอยต่อ” โดยสตัดจะดึงไม้ที่จะเพลาะที่ทากาวแล้วเข้าหากัน ผมจะอธิบายเรื่องของบิสกิทและสตัดอีกครั้งภายหลังนะครับ


การเพลาะไม้ลักษณะนี้จะทำให้ไม้ทั้ง 4 ชิ้นยืดและหดไปด้วยกันถ้าไม่มีอะไรมาขวาง แต่หากเรายึดพื้นที่เพลาะแล้วเข้ากับคานโดยเจาะรูร้อยน๊อตตลอดแนวแล้วอัดแน่นก็เท่ากับเป็นการ “ขวาง” การยืดหดตัวของไม้เพราะไม้พื้นและไม้คานซึ่งมีลายตั้งฉากกัน (Crossed Grain) ย่อมมีการยืดหดไม่เท่ากัน (ลองสังเกตกรอบประตูบ้านระหว่างหน้าฝนดูนะครับ จะเห็นว่าส่วนที่เป็นสันมักจะยื่นเลยส่วนที่เป็นผิวไม้เสมอ)
ผลของการขวางก็คือความเสี่ยงที่ไม้พื้นจะปริแตกครับ อาการนี้ผมเคยเห็นเกิดขึ้นกับพื้นโต๊ะและพนักเก้าอี้ไม้มะค่ากว้างๆที่ถูกยึดตรึงตามแนงขวางหรือขอบตลอดแนวเสมอครับ

ในกรณีของเราเนื่องจากไม้พื้นโต๊ะที่เราใช้เป็นใช้ไม้เก่าที่มีรอยร้าวอยู่หลายแห่งเราจึงต้องคิดลดความเสี่ยงนี้ครับ เราใช้การยึดพื้นโต๊ะเข้ากับคานแบบกึ่งลอยตัวครับ สำหรับพื้นโต๊ะหน้ากว้าง 71 ซม. ที่วางบนคาน 2 ตัวเรายึดน๊อตขนาด 6 หุนคานละ 3 ตัว เราสอดฝังน๊อตตัวเมียซึ่งเป็นรูปทรงกระบอก (คล้ายน๊อตที่ใช้ในเฟอร์นิเจอร์แบบ น็อคดาวน์) เข้าไปในรูที่เจาะขนานกับพื้นโต๊ะและแนวคาน จากนั้นเจาะรูที่ด้านใต้ของพื้นโต๊ะในแนวตั้งฉากเพื่อให้น๊อตตัวผู้โผล่เข้ามาหากระบอกน๊อตตัวเมีย ถ้ารูใต้พื้นโต๊ะกล่างกว่าตัวน๊อตก็จะทำให้เกิดการขยับตัวได้ครับ ดูรูปที่ 9 ประกอบไปด้วยนะครับเพราะอธิบายไม่ง่ายเลยครับ


รูใต้พื้นสำหรับน๊อตตัวหน้าโต๊จะเจาะพอดีตัวน๊อตเพราะเราต้องการ “ยึดตาย” ส่วนรูใต้พื้นสำหรับน๊อต 2 ตัวหลังเราเจาะเซาะร่องให้มีขนาดกว้างกว่าตัวน๊อตเพราะเราต้องการให้เกิดการขยับตัว ที่ 2 จุดนี้ เมื่อเกิดการยืดหนรอหดของพื้นเนื้อไม้ก็จะขยับตัวได้ในส่วนหลังโต๊ะเท่านั้นเพราะด้านหน้าถูกยึดตรึงไว้
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 01:49:12


ความคิดเห็นที่ 11 (1443661)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมเพิ่มภาพที่มองจากด้านบนบองโต๊ะเพื่ออธิบายเรื่องการยึดพื้นโต๊ะกับคานครับ

ขอให้สังเกตว่าพื้นด้านหน้าถูกตรึงไว้ดังนั้นขอบโต๊ะด้านหน้าจะขยับไม่ได้ (น้อยมาก) และจะเสมอกับขอยเสาตลอดเวลา ในขณะที่พื้นส่วนซ้าย (ด้านหลัง) ขยับตัวได้เมื่อเทียบกับคาน เมื่อขยับตัวก็จะเกิดการเหลื่อมกับเสาด้านหลังซึ่งผมคิดว่าดูน่าเกลียดน้อยกว่าการเหลื่อมด้านหน้าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 09:39:01


ความคิดเห็นที่ 12 (1443664)
avatar
หนุ่มm100

ติดตามตลอดเลยครับ เห็นโต๊ะงานตัวนี้แล้วเกิดกิเลสเป็นอย่างมาก แต่ถ้าจะทำแบบนี้ผมคงไม่ไหว แบบว่าขาดกำลังทรัพย์น่ะครับ คงต้องปรับปรุงตัวเก่าให้ดีขึ้น ขอบคุณสำหรับความรู้ คำแนะนำที่แบ่งปันให้กับทุกๆฅน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆฅนที่อยากจะมีโต๊ะงานในฝันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น หนุ่มm100 (m10017-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-03 09:52:19


ความคิดเห็นที่ 13 (1443673)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

คุณ หนุ่มm100 ครับ

ขอบคุณที่ให้ความสนใจครับ  การนำเรื่องโต๊ะตัวนี้มาเล่าสู่กันฟังมีวัตถุประสงค์หลักเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ครับ ถ้าผู้อ่านอ่านแล้วอยากทำโต๊ไว้ใช้ผมก็ดีใจครับ แต่อยากที่กล่าวก่อนหน้านี้ว่าโต๊ะช่างไม้ของแต่ละคนต้องเข้ากับสภาพการใช้งานและปัจจัยเฉพาะของแต่ละท่านด้วยครับ

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากให้ผู้อ่านรู้สึกคือ รู้สึกว่าโต๊ะช่างไม้ต้องแพงและคงจะเกินเอื้อม  โต๊ะช่างไม้มีมากมายหลายแบบนะครับ ตัวที่เราเห็นอยู่นี้เป็น "โต๊ะในฝันของผมครับ" และพี่เติมก็เปิดไฟเขียวให้ผมใส่ทุกอย่างที่คิดว่าดีเข้าไปซึ่งสำหรับบางท่านอาจคิดว่าบางส่วนเกินพอดีก็เป็นได้ครับ สำหรับผมการทำโต๊ะตัวนี้คือการเรียนรู้งานไม้แบบหนึ่งครับและจะสรุปบทเรียนให้ฟังตอนท้ายครับ

ถ้ามีโอกาสผมจะนำเสนอโต๊ะช่างไม้แบบทันด่วนและประหยัดให้เป็นความรู้ครับ ถ้าอยากได้เร็วก็จะเป็นการรวบรวมบทความของช่างต่างประเทศ ถ้าอยากได้ของจริงคงต้องรอนานหน่อยให้ผมมีเวลาสร้างโต๊ะที่ว่าขึ้นมานะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 10:53:12


ความคิดเห็นที่ 14 (1443676)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ถ้าท่านสังเกตจากรูปที่ 1 จะเห็นว่าทางด้านท้ายโต๊ะ (ด้านซ้ายของรูป) จะมีไม้ขอบโต๊ะขวางตลอด ไม้ชิ้นนี้เป็นตัวยึดชุดปากกาท้ายโต๊ะครับ
การยึดไม้ชิ้นนี้เข้ากับพื้นโต๊ะก็ต้องยึดแบบกึ่งลอยตัวเหมือนกันครับเพราะลายของทั้งสองชิ้นขวางกัน โดยเรายึดแบบติดตายด้วยน๊อตและกาวทางฝั่งหน้าโต๊ะ (ขวาของรูป) ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุดปากกาพวงมาลัย (Wagon Vise) และให้ปล่อยลอยตัวทางด้านหลังโต๊ะ (ขวาของรูป) 

ดูรูปที่ 11 ประกอบนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 10:57:09


ความคิดเห็นที่ 15 (1443678)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

กลับมาดูโจทย์อีก 4 ข้อที่เหลือในการออกแบบนะครับ

2.2) การยุบตัวของเดือยพรางรูหัวน๊อตยึดพื้นโต๊ะ

หมดปัญหาแล้วครับเพราะเราไม่ได้ยึดน๊อตแบบทะลุพื้น สำหรับการอุดรอยตำหนิของไม้ผมจะเล่าให้ฟังภายหลังครับ

ส่วนข้อ 2.3) อาการ “ท้ายตก” ของปากกาท้ายโต๊ะ และข้อ 2.4) “จุดบอด” ของปากกาท้ายโต๊ะและเดือยกลางโต๊ะที่ทำให้หนีบไม้บางขนาดไม่ได้

ปัญหาก็หมดไปจากการใช้ปากกาท้ายโต๊ะแบบ Wagon Vise ครับ

ข้อสุดท้าย 2.5) ระยะจากขอบโต๊ะถึงแนวกลางปากกาตัวท้ายห่างเกินไปทำให้ต้องเอี้ยวตัวขณะไสไม้

แก้ไขโดยขยับแนวหนีบของปากกาท้ายโต๊ะกับรูเดือยให้เข้าใกล้ขอบโต๊ะด้านหน้าครับ โดยมีระยะห่างประมาณ 7 ซม. ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 11:07:15


ความคิดเห็นที่ 16 (1443698)
avatar
mosaic coffee

  สุดยอด.....ครับ  ขอตามเป็นแฟน (คลับ)

ผู้แสดงความคิดเห็น mosaic coffee วันที่ตอบ 2011-09-03 13:56:26


ความคิดเห็นที่ 17 (1443737)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

ของจริง  คุณเขมทัต

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 17:30:53


ความคิดเห็นที่ 18 (1443757)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

อธิบายข้อ 2.5) ด้วยภาพครับ

จากภาพจะเห็นว่าระยะจากขอบโต๊ะถึงกึ่งกลางแนวเดือยลดลงจาก 7 นิ้วหรือ 17.8 ซม. เหลือ 7 ซม. ทำให้การไสไม้ขณะหนีบทำได้ถนัดขึ้นมากกว่าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 20:30:23


ความคิดเห็นที่ 19 (1443764)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ก่อนจะจบเรื่องการออกแบบ ผมขอสรุปมิติของ โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม ตามรูปที่ 13 ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 21:07:45


ความคิดเห็นที่ 20 (1443766)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมจะขอกระโดดข้ามหัวข้อที่ 3 เรื่องการเลือกซื้อไม้และการเตรียมไม้ ไปเล่าหัวข้อที่ 4 เรื่อง ปากกาท้ายโต๊ะแบบพวงมาลัย (Wagon Vise) ก่อนนะครับ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการกู้รูปภาพประกอบซึ่งติดค้างอยู่ในโทรศัพท์มือถือที่ชำรุดอยู่ ทันทีที่ได้ภาพผมจะกลับมาเล่าเรื่อง การเลือกซื้อไม้และการเตรียมไม้ ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 21:16:38


ความคิดเห็นที่ 21 (1443780)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง
image

.

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 21:50:41


ความคิดเห็นที่ 22 (1443792)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

4) ปากกาท้ายโต๊ะแบบพวงมาลัย (Wagon Vise) และชุดเดือยกลม (Round Bench Dogs)
ท่านที่อ่านเรื่อง “โต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผม” คงจำได้ว่าผมพบปัญหาการทรุดตัวหรือ “ท้ายตก” ของปากกาหนีบไม้ Record ท้ายโต๊ะทำให้หนีบไม้ได้ไม่ถนัด นอกจากนี้ยังมี “จุดบอด” ในการหนีบไม้ระหว่างเดือยปากกาท้ายโต๊ะกับเดือยกลางโต๊ะ
พี่เติมและผมจัดการดูแลสองปัญหานี้ด้วยการเลือกใช้ปากกาตัวท้ายแบบที่มีเดือยเลื่อนเข้าออกฝังอยู่ในพื้นโต๊ะ หรือแบบ Wagon Vise ซึ่งมีใช้มาหลายร้อยปีแล้วตามรูปเก่าในหนังสือช่างไม้ของฝรั่ง  แบบของปากกาที่เราพิจารณามี 6 แบบ (ตามรูปที่ 15)

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 22:43:21


ความคิดเห็นที่ 23 (1443798)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

.
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 23:28:40


ความคิดเห็นที่ 24 (1443800)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

คุณเอ๋ เพาะช่างครับ

กรุณาอดใจรอสักนิดครับ ผมมีรูปและคำอธิบายจะเล่าให้ฟังอยู่แล้วครับ ในหัวข้อที่ 6) กระบวนการสร้างโดยละเอียด ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 23:32:34


ความคิดเห็นที่ 25 (1443801)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

ผลการประเมินทางเลือกทั้ง 6 ของเราเป็นดังนี้ครับ:


แบบที่ 1 ไม่ใช่ทางเลือกแน่เพราะแก้ปัญหาท้ายตกไม่ได้
แบบที่ 2 และ 3 มีข้อดีมากที่หนีบชิ้นงานเต็มหน้าได้กว้างมาก แต่ก็ห่วงว่าจะเจอปัญหาท้ายตกเหมือนเดิม ราคาแพงก็มากด้วยเพราะต้องนำเข้า
แบบที่ 4 สะดวกและราคาเยาแต่มีความรู้สึกว่าบอบบางและขาดลำหักลำโค่น
แบบที่ 5 กับ 6 ทำงานได้เหมือนกันแต่เราชอบพวงมาลัยเพราะปั่นเข้าออกไม้สะดวกกว่าแบบด้ามขัน และรู้สึกสวยแปลกตา


ถ้าจะนำเข้าปากกาของ BenchCrafted ก็ต้องจ่ายค่าสินค้าประมาณ 11,000 บาท ภาษีประมาณ 20% หรือ 2,200 บาท และค่าส่งน่าจะอีกอย่างน้อย  5,000 บาท รวมแล้วร่วม20,000 บาท เมื่อดูแบบของเขาโดยละเอียดและเช็คราคาของพร้อมค่าแรงแล้วผมมั่นใจว่าทำเองในประเทศได้ในราคาไม่เกิน 1 ใน 3 ของต้นทุนนำเข้าและที่สำคัญสนุกกว่าด้วย


ผมจึงเขียนแบบขึ้นมาแล้วซื้อวัสดุจากโอเดี้ยนและคลองถมไปให้คุณอธิวัชร หรือ “ช่างสิทธิ์” (รูปที่ 16) ช่างกลึงฝีมือดี นิสัยน่ารักเจ้าของโรงกลึงคงทรัพย์ 46 ที่ปากทางเข้าลำลูกกาจัดการกลึงไสและกัดให้ตามแบบที่ผมเขียนไว้

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 23:45:17


ความคิดเห็นที่ 26 (1443802)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ท่านผู้นี้แหละครับ คุณอธิวัชร ช่างกลึงฝีมือดีที่ผมรู้จักมากว่า 30 ปีและเป็นผู้ให้เทคนิคและเกร็ดความรู้เรื่องงานโลหะกับผมหลายเรื่องมาก

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 23:48:22


ความคิดเห็นที่ 27 (1443804)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ปากกาตัวนี้ใช้ยึดชิ้นงานได้ 3 ลักษณะ ตามรูปที่ 17 คือ

 1) หนีบยึดชิ้นงานแนวราบบนพื้นโต๊ะระหว่างเดือยบนแป้นวิ่งของปากกากับเดือยในรูพื้นโต๊ะ ระยะหนีบ 7 ถึง 181 ซม. ระยะเคลื่อนตัว (ช่วงชัก)  ของเดือยทองเหลือง 23 ซม.

2)  ถ่างชิ้นงานแนวราบบนพื้นโต๊ะที่อยู่ด้านนอกของเดือยบนแป้นวิ่งของปากกากับเดือยในรูพื้นโต๊ะ ระยะถ่าง 9 ถึง 183 ซม. ระยะเคลื่อนตัว (ช่วงชัก)  ของเดือยทองเหลือง 23 ซม. และ

3) หนีบชิ้นงานแนวดิ่งในร่องวิ่งของปากกาเข้ากับขาโต๊ะ หนีบชิ้นงานได้กว้าง 0 ถึง 23 ซม.

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-03 23:58:36


ความคิดเห็นที่ 28 (1443805)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

Wagon Vise ที่เราออกแบบโดยใช้แนวคิดของ BenchCrafted และผลิตขึ้นที่โรงกลึงคงทรัพย์ 46 มีส่วนประกอบ ตามรูปที่ 18 และมีมิติ โดยย่อดังนี้ครับ:


1) เพลาเกลียวขนาด 1 ¼ นิ้ว เกลียวเป็นเกลียวซ้ายแบบคางหมู (ACME) ขนาด 4 ฟันต่อนิ้ว เหตุที่ต้องใช้เกลียวซ้ายเพราะเพลาหมุนอยู่กับที่และต้องการให้เดือยวิ่งไปทางหัวโต๊ะเมื่อเราหมุนพวงมาลัยตามเข็มนาฬิกาครับ

2) พวงมาลัยเหล็กชุบโครเมี่ยมขนาด 140 มม. ยึดกับเพลาเกลียวด้วยลิ่ม มีด้ามหมุนเป็นไม้ประดู่หมุนฟรีได้ (พวงมาลัยซื้อจากคลองถม ด้ามไม้ทำเอง)
3) ชุดเกลียวตัวเมียทำด้วยเหล็กและสเตนเลส ขันเข้ากับเพลาเกลียว
4) รางประคองชุดเกลียวตัวเมียทำด้วยเหล็กขนาด 380 x 25 x 12 มม.
5) เบ้ารับเพลาเกลียวทำด้วยสเตนเลส ขนาด 100 x 60 x 25 มม. มีแหวนทองเหลืองผ่าซีกและแหวนสเตนเลสเป็นตัวยึดเพลาเข้ากับเบ้า ตัวเบ้าฝังเข้ากับคานไม้ประดู่ท้ายโต๊ะแล้วยึดน๊อต หัวจมสเตนเลส 2 ตัว
6) แป้นวิ่งไม้ประดู่ เป็นตัวถ่ายกำลังจากชุดเกลียวตัวเมียไปยังเดือยทองเหลือง และเป็นตัวอัดไม้ที่จะหนีบในแนวดิ่งเข้ากับขาโต๊ะ
7) เดือยหนีบไม้ทำจากเพลาทองเหลืองกลมขนาด ¾ นิ้ว ปลายบากสำหรับจับไม้ และปรับสูงต่ำได้โดยมีลวดสปริงด้านข้างเป็นตัวล็อกตามแบบของ Veritas Round Dog

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 00:16:36


ความคิดเห็นที่ 29 (1443806)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

รูปที่ 19 ดูชิ้นส่วนแต่ละชิ้นใกล้ๆครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 00:27:23


ความคิดเห็นที่ 30 (1443807)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ภาพที่ 20 จะเห็นตัวปากกาของเราจากด้านใต้โต๊ะครับ ช่วงที่ถ่ายรูปนี้กำลังทดลองประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกัน จะเริ่มเห็นการเข้ามุมแบบหางเหยี่ยวแล้วนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 00:49:00


ความคิดเห็นที่ 31 (1443808)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

กลับมาประเด็นเรื่องจุดบอดขณะหนีบไม้บนโต๊ะและปัญหาท้ายตกนะครับ


 เนื่องจากช่วงชักของเดือยซึ่งมีระยะ 23 ซม. ซึ่งยาวกว่าระยะระหว่างเดือยที่บนพื้นโต๊ะซึ่งห่างกันเพียง 10 ซม.จึงทำให้หมดปัญหาเรื่องจุดบอดไปเลยครับ

ส่วนปัญหาเรื่องท้ายตกก็หมดประเด็นไปครับเพราะเดือยทองเหลืองฝังอยู่ในชุดเกลียวตัวเมียที่วิ่งในรางใต้โต๊ะทำให้ตัวเดือยขนานกับพื้นโต๊ะตลอดเวลา ผมลองหนีบและไสไม้บาง 4 มม.ได้สะดวกดีครับ ไม่หลวมหลุดและไม่โก่งตัว (ดูรูปที่ 17 ขวาล่างครับ)


การใช้งานของปากกาพวงมาลัยตัวนี้ถูกใจทุกอย่างครับ ถูกใจจนผมกำลังคิดจะสร้างปากกาแบบเดียวกันขึ้นมาอีกตัวหนึ่งสำหรับโต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผมด้วยครับ โดยตั้งใจไว้ว่าจะติดทะแยงมุมกับปากกาท้ายโต๊ะที่มีอยู่แล้วครับ

ราคาค่าวัสดุและค่ากลึงกัดสำหรับต้นแบบตัวนี้อยู่ที่ประมาณ 6,500 บาทครับ


ผมหวังว่าเรื่องของ Wagon Vise ที่เล่ามาจะเป็นที่เข้าใจของท่านผู้อ่านนะครับ ถ้าสงสัยประการใดถามมาได้เลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 00:58:10


ความคิดเห็นที่ 32 (1443809)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ของฝากคุณ เอ๋ เพาะช่าง ครับ

รูปที่ 22 เป็นตัวอย่างคร่าวๆของการเข้่าเดือยไม้แบบสี่เหลี่ยมไม่ทะลุระหว่างพนังกับขาโต๊ะ และคานรองพื้นโต๊ะกับขาโต๊ะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 01:31:45


ความคิดเห็นที่ 33 (1443817)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง
image

.

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 07:47:04


ความคิดเห็นที่ 34 (1443847)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

5) เสาพยุงไม้ (Sliding Deadman) ที่มีหน้าที่ประคองไม้ (ไม่ใช่เสาไม้พะยุง นะครับ)


ในรูปที่ 1 ท่านคงจะเห็นส่วนประกอบของโต๊ะช่างไม้อยู่ส่วนหนึ่งที่แปลกตา ส่วนที่ผมพูดถึงก็คือ เสาพยุงไม้ครับ ดูรูปขยายตามรูปที่ 23 ประกอบไปด้วยนะครับ


ท่านที่เคยเพลาะไม้ (การเพลาะไม้คือการนำไม้มาต่อประกบกันเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่กว้างขึ้นครับ) คงตระหนักดีว่าการนำไม้กระดาน 2 ชิ้นมาไสขอบให้สนิทกัน (ไสชิด) แบบน้ำไหล่ไม่ผ่านและแสงลอดไม่ได้ นั้นต้องใช้ความชำนาญพอสมควร การที่สันไม้จะแนบกันอย่างสนิทนั้นสันทั้งสองข้างจะต้องเป็นระนาบที่ประกบกันพอดีครับ ระนาบที่ว่านี้จะเป็นระนาบตรงแบนเรียบหรือโค้งก็ได้นะครับแต่ในที่นี้ผมขอพูดถึงระนาบที่ตรงแบนเรียบเท่านั้น


เครื่องมือที่ใช้ในการปรับสันไม้ให้เรียบตรงและได้ฉาก มีอยู่ 3 อย่างครับ คือ
1) กบไสชิด (Jointer Plane) มีทั้งแบบใช้แรงคน (Hand Tool) และใช้แท่นที่ไฟฟ้า (Stationary Power Tool) ครับ ผมมีแต่แบบใช้แรงคนครับเคยอยากได้แท่นไสชิดแต่ก็ยังไม่ถึงคิวของเขาสักที ตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีที่วางหรือไม่ ในกรณีกบแบบใช้แรงคนกบไสชิดที่ว่านี้จะมีความยาวตั้งแต่ 18 นิ้วขึ้นไป ทั้งกบไม้และกบเหล็กครับ
2) ไม้ฉาก สำหรับวัดมุมสันไม้ และ
3) อุปกรณ์ยึดไม้ให้นิ่งขณะไสขอบไม้ซึ่ง จะเป็นม้าไสไม้ที่มีที่หนีบไม้รูปตัว V จะเป็นปากกาหนีบไม้ด้านหัวโต๊ะของโต๊ะช่างไม้ หรือจะใช้ ปากกาตัว C ตัว F หนีบไม้ประกบกับขาหรือแผงข้างของโต๊ะ ก็ได้ครับ  ที่สำคัญต้องยึดไม้ให้นิ่งขณะไสเพราะลำพังการประคองกบไสไม้ให้ได้ระดับขณะที่เราเคลื่อนตัวไปข้างหน้าก็ยากอยู่แล้ว ถ้าไม้ที่ไสขยับไปด้วยก็คงได้ขี้กบเป็นเข่งแหละครับกว่าไม้จะชิดกันสนิท ประสบการณ์ผลิตขี้กบเป็นเข่งที่ว่านี้เคยเกิดขึ้นกับผมมาแล้วครับตอนที่ไสชิดบนม้าเลื่อยไม้
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 13:37:58


ความคิดเห็นที่ 35 (1443849)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

การใช้ปากกาตัว C ตัว F หนีบไม้ประกบกับขา พนัง หรือคานของโต๊ะก็มั่นคงดีครับแต่ไม่สะดวกและต้องมีคนช่วยในกรณีชิ้นงานมีน้ำหนักมาก เหมือน ไม้ประดู่8 x 3 นิ้ว ยาวกว่า 2 เมตรที่ใช้ทำพื้นโต๊ะตัวนี้ ซึ่งแต่ละชิ้นหนักกว่า 30 กก. ครับ)


ในกรณีของปากกาหัวโต๊ะนั้นถ้าใช้หนีบไม้สั้นๆไม่มีปัญหาครับเพราะหนีบได้เต็มหน้าไม้และเรากระจายน้ำหนักไม้ให้สมดุลย์ได้ แต่ถ้าหนีบไม้ยาวๆแล้วจะจุดที่ปากกาหนีบไม้จะขยับจากกลางไม้ไปเป็นปลายไม้และจะเกิดอาการไม่สมดุลย์ครับ (ดูรูปที่ 24 ประกอบครับ)


แรงถ่วงที่เกิดขึ้นจะทำให้เราต้องขันอัดปากกาแน่นขึ้นจากปกติและบ่อยครั้งปากกาจะออกอาการหนีบไม่แน่น เพราะไม่สามารถทานแรงผนวกจาก น้ำหนักไม้ แรงถ่วง และแรงกดขณะได้ การแก้ปัญหาทำได้ 3 วิธีครับ คือ

 1) หนุนรองไม้ด้านถ่วงที่หรือยึดเข้ากับโครงสร้างของโต๊ะที่ใกล้ปลายไม้ที่สุดตามรูปที่ 24 ด้านล่าง (ผมใช้วิธีนี้ตลอดมาและไม่ชอบเลยครับ) 

2) สร้างเสาประคองไม้แบบตั้งพื้น (Bench Slave ตามรูปที่ 25) และ

3)  สร้างเสาประคองไม้ให้เป็นส่วนหนึ่งของโต๊ะช่างไม้ (Sliding Dead Man) ตามที่ท่านเห็นในรูปก่อนหน้านี้ครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 13:41:34


ความคิดเห็นที่ 36 (1443850)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

รูปที่ 25 แสดงเสาประคองไม้แบบตั้งพื้น (Bench Slave) ซึ่งพิจารณาแล้วว่าอาจจะใช้งานไม่สะดวกเพราะเกือบทั้งชิ้นจะยื่นจากแนวขอบโต๊ะและจะขวางการเคลื่อนไหวของขากับสะโพกของเรา

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 13:49:44


ความคิดเห็นที่ 37 (1443852)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

พี่เติมกับผมเลือกวิธีการประคองไม้ด้วยเสาพยุงแบบ (Sliding Dead Man) ครับ เพราะใช้สะดวกที่สุดใน  3 แบบ และดูสวยเพราะเป็นส่วนหนึ่งของโต๊ะ

เสาประคองของเราตามรูปที่ 26 ทำด้วยไม้ประดู่ขนาด กว้าง 18 ซม. หนา 4 ซม. สูง 45 ซม. ด้านล่างเป็นร่องตัว V ซึ่งครอบบนรางไม้สักตัว V ที่อยู่บนสันของพนังหรือคานหน้าโต๊ะ ด้านบนมีร่องลิ้นกว้าง 14 มม. ลึก 28 มม. ตลอดความกว้าง ร่องลิ้นนี้จะประกอบเข้ากับเดือยไม้สักที่ยาว 19 ซม. กว้าง 4.4 ซม. ที่มีความหนาด้านบน 12 มม. ด้านล่าง 14 มม.  ด้านบนของเดือยไม้สักจะสอดเข้ากับร่องลิ้นขนาด ½ นิ้วใต้โต๊ะที่ใช้เราเตอร์เซาะไว้ตลอดแนวระหว่างขาหน้าซ้ายและขวา

เวลาประกอบก็ครอบไม้ประคองลงบนราง แล้วดันเดือยไม้สักขึ้นไปในแนวดิ่งเข้าในร่องลิ้นใต้โต๊ะ จากนั้นยึดเสาประคองเข้ากับร่องใต้โต๊ะโดยการสอดเดือยไม้สักเข้าร่องลิ้นด้านบนของเสาประคองจนสุดความยาว 19 ซม.ของเดือย ดูรูปที่ 26 ประกอบด้วยนะครับ


ทันทีที่ได้ลองใช้เสาพยุงไม้ตัวนี้ก็เกิดความถูกใจเป็นยิ่ง แล้วก็ถามตัวเองว่าทำไมไม่คิดทำขึ้นใช้ก่อนหน้านี้ทั้งๆที่เห็นรูปมาเป็นปีๆแล้ว

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 13:56:13


ความคิดเห็นที่ 38 (1443867)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมกู้ภาพจากโทรศัพท์ได้แล้วครับ ขอย้อนกลับไปหัวข้อที่ 3 นะครับ

3) การเลือกซื้อไม้และการเตรียมไม้


ด้วยคำแนะนำของ คุณสรรพาวุฒิ หรือ “คุณเซี่ยง” แฟนพันธุ์แท้งานไม้ที่ได้รู้จักกันตั้งแต่ปีที่แล้วจึงทราบว่า บางบาลเป็นแหล่งไม้เก่าที่น่าไปเยี่ยมชม  พี่เติมกับผมจึงหาเวลาเดินทางไปอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อเลือกซื้อไม้เก่าสภาพดีกัน (ตามรูปที่ 27) จำได้ว่าเป็นวันที่ 8 กันยายน 2553

หลังจากที่ตระเวณดูโรงไม้หลายสิบโรงในบางบาล  เราโชคดีที่ได้ไม้ประดู่เก่าสภาพดีราคาพอสมควร (8 x 3 นิ้ว ศอกละ 350 บาท หรือคิดเป็นคิวก็ประมาณ 1,300 บาทต่อคิวครับ) และโชคดียิ่งขึ้นไปอีกที่ได้ไสเปิดหน้าไม้ที่โรงไม้เลยเพราะจะได้ไม่ต้องขนย้ายไปมาอีก

ไม้พื้นโต๊ะที่เราได้มาเคยเป็นคานโรงสีมาก่อน มีขนาด 10 ศอก (5 เมตร) x 8 นิ้ว x 3 นิ้ว  มีตะปูคาอยู่เพียบ ถอนกันเป็นชั่วโมงเลยครับ นอกจากนี้ก็มีรอยบากเข้ากับเสา มีรูน๊อตเก่า และโหดที่สุดคือมีของฝากเป็นเหล็กเส้นขนาด 5 หุนฝังคาอยู่กลางคานตามแนวกว้างอยู่หลายตัวซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญระหว่างการไสชิดเพื่อเพลาะไม้พื้นโต๊ะ

ส่วนไม้ทำขาได้มาจากโรงไม้อีก 2 แห่งเป็นเสาขนาด 5 x 5 นิ้ว


จากไม้ที่เราได้มาเราก็พยามใช้ให้เหลือเศษน้อยที่สุดและก็กำหนดความกว้างได้ ประมาณ 71 ซม. ความยาว 210 ซม. ความสูงสรุปกันที่ 85.5ซม. ความหนาของพื้นโต๊ะหลังไสแล้วอยู่ที่ 70 มม. ส่วนขาเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 110 x 110 มม. ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 16:25:05


ความคิดเห็นที่ 39 (1443868)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

พี่เติมกับผมใช้เวลาเจาะและกัดตะปูและน๊อตที่ฝังอยู่ในไม้อยู่หลายวัน โชคดีที่ผมมีดอกมิลลิ่งกัดเหล็ก (End Mill) ที่ซื้อไว้นานแล้วจากแผงแบกะดินแถวคลองถมก็เลยใช้กัดน๊อตได้สะดวก (ตามรูปที่ 28) ขอโทษด้วยที่ภาพไม่ค่อยชัดครับ

ถ้ากำจัดอุปสรรคพวกนี้ไม่หมดก็จะเจอปัญหาขณะเลื่อยและไสครับซึ่งอันตรายมากหากใช้เครื่องมือไฟฟ้าอย่างเร้าเตอร์หรือเลื่อยวงเดือน เพราะเมื่อฟันของเครื่องมือโดยเหล็กที่คาอยู่ก็จะเกิดอาการตีกลับ (Kick-back) แล้วทำให้คมของเครื่องมือพลาดมาโดนเราได้ ถ้าไสหรือเลื่อยด้วยมือก็เครื่องมือบิ่นแล้วต้องเสียเวลาลบล้างคมกันอีกนานครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 16:27:21


ความคิดเห็นที่ 40 (1443869)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อน๊อตและตะปูหมดแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนเตรียมไม้ครับ เราลดงานปรับหน้าไม้ไปมากเพราะผมจ้างช่างที่โรงไม้ทำการไสเรียบด้วยเครื่องชิดหน้ากว้างทำให้ได้ผิวไม้ที่ค่อนข้างเรียบตรง หลังจากที่ผิวแรกเรียบตรงแล้วก็ส่งเข้าเครื่องรีดเพื่อไสให้หน้าตรงข้ามขนานกับหน้าแรกและมีความหนาเท่ากับชิ้นอื่นที่จะประกบกันตามรูปที่ 27


เรามาพบภายหลังว่าแม้จะไสไม้มาแล้วด้วยเครื่องชิดตามด้วยเครื่องรีดเราก็เจอปัญหาไม้โก่งและบิดครับคงเป็นเพราะอยู่ในช่วง ปลายฝนต้นหนาว เลยมีผลให้ไม้ยืดหดตัว เราเลือกที่จะไม่อบไม้เพราะคิดว่าไม้เก่าที่เก็บไว้ในที่แห้งอย่างที่พบน่าจะเกือบอยู่ตัวแล้วครับ


ในส่วนสันไม้นั้นเราไสด้วยเครื่องที่โรงไม้ไม่ได้เพราะมีเหล็กท่อนโตคาอยู่แทบทุกแผ่นครับ งานนี้ต้องทำเองล้วนๆด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ตามรูปที่ 29 โดยเริ่มจากการไสล้างเพื่อปรับหน้าไม้ให้มีความเรียบพอควร

ไม้ประดู่แข็งมากครับ มีกบอะไรเราออกมาลองหมด เวลาผ่านไปหลายชั่วโมงงานยังเหลืออีกเยอะในขณะที่แรงของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 16:32:58


ความคิดเห็นที่ 41 (1443870)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เราก็เลยเกิดแนวคิดที่จะใช้เราเตอร์ช่วยทุ่นแรงตามรูปที่ 30

โดยหนีบรางอะลูมิเนียมขนาด 6 นิ้ว หนา 2 หุน 2 รางประกบคู่เข้ากับด้านข้างของไม้ที่จะล้างสันโดยจับระดับให้รางขนานกันและขนานกับแนวไม้ที่ต้องการ เวลากัดไม้เราจะเว้นระยะจากขอบไม้ประมาณ 1 ซม. ทั้งสองข้างเพื่อไม่ให้ดอกเร้าเตอร์เข้าใกล้รางโลหะครับ แนวไม้ที่เหลือ 1 ซม.นั้นไสออกด้วยกบล้างง่ายมากครับ

ถ้าใครนำวิธีนี้ไปใช้ขอให้คุมแนววิ่งของดอกเราเตอร์ให้ดีนะครับ เพราะถ้าเกิดดอกเราเตอร์สัมผัสโลหะก็จะเกิดอันตรายจากการตีกลับอย่างที่กล่าวมาได้ครับ
 

ผลออกมาดีครับงานเสร็จ แรงเหลือ :)

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 16:37:39


ความคิดเห็นที่ 42 (1443881)
avatar
หนุ่มm100

คุณเขมทัตครับ ผมว่าโต๊ะช่างไม้ในฝันของคุณ คงเป็นฝันของอีกหลายๆฅนแน่ๆ รวมทั้งผมด้วยฅนหนึ่ง เพียงแต่ว่าหลายๆฅนขาดความรู้ ความเข้าใจในการที่จะสร้างมันขึ้นมา การที่คุณเขมทัตได้กรุณาออกมาเล่า นำเสนอรูปแบบการทำการสร้างโต๊ะช่างไม้ในขณะนี้ ผมว่ามีฅนสนใจมากทีเดียว สำหรับผมฅนทรัพย์น้อยคงใช้โต๊ะตามกำลังไปก่อน ส่งลูกเรียนจบแล้ว(กำลังจะจบ ป.โท ปีนี้ครับ)ผมคงได้ทำตามฝันของผมมั่ง ขอบคุณ คุณเขมทัตมากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น หนุ่มm100 (m10017-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 19:14:52


ความคิดเห็นที่ 43 (1443883)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

ยินดีครับ คุณหนุ่มm100 ถ้ามีคำถามหรือความเห็นเชิญโพสท์มาเลยนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 19:26:05


ความคิดเห็นที่ 44 (1443898)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

ผมว่ากระทู้ ของคุณเขมทัตนี่ น่าปักหมุดไว้เลย แบบว่าหัวกระทู้อยู่กับที่
ใครเข้ามาบอร์ดนี้ได้เจอเลย เพราะเป็นกระทู้นี่น่าศึกษาอย่างยิ่งครับ....เยี่ยมยอด

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 20:28:47


ความคิดเห็นที่ 45 (1443925)
avatar
ธัญ ไม้ทัย

 เหมือนหนังสือดีๆเล่มหนึ่งเลยครับ ผมเข้ามาต้องเปิดอ่านก่อน อ่านหลายรอบยิ่งทำความเข้าใจได้ดียิ่งๆขึ้นครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ธัญ ไม้ทัย (thanpisist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-04 23:21:37


ความคิดเห็นที่ 46 (1443974)
avatar
mosaic coffee

เห็นด้วยกับพี่เอ๋ เพาะช่าง ครับน่าจะปักหมุดเลย

ขอถามคุณเขมทัตหน่อยนะครับว่าตัว bench dog หรือเดือยทองเหลือง

นั้นหาซื้อที่ไหนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น mosaic coffee วันที่ตอบ 2011-09-05 10:43:32


ความคิดเห็นที่ 47 (1443996)
avatar
อัษฎาวุธ

สุดยอดของรายละเอียดครับ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นแยะเลยครับ ชอบเสาพยุงไม้แบบเลื่อนได้ครับ ยอดมากๆครับ แต่ไม่อยากคิดเลยครับว่าสรุปแล้วราคาโต๊ะของพี่เขมทัตจะปิดที่ราคาเท่าไหร่ แค่ค่าไม้ก็คงหลายตังอยู่ ได้แต่ดูและเชียร์ครับ สุดยอดจริงๆครับ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เอ๋นะครับปักหมุดเลยครับAdminกระทู้นี่ได้ความรู้มากๆครับผม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น อัษฎาวุธ วันที่ตอบ 2011-09-05 11:09:00


ความคิดเห็นที่ 48 (1444001)
avatar
พิพัฒน์

 เข้ามาติดตามอ่านครับ

เป็นงานที่เกิดจากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์มาอย่างยาวนาน

เป็นความรู้และเป็นประโยชน์มากครับ

ปล.สนับสนุนให้ปักหมุดเช่นกันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น พิพัฒน์ วันที่ตอบ 2011-09-05 11:10:29


ความคิดเห็นที่ 49 (1444094)
avatar
หนุ่มm100

คุณเขมทัตครับ ผมว่าจะถามตั้งแต่เมื่อวาน ผมเลยลืม มัวแต่อ่าน+ดูเพลินไปหน่อย คือผมอยากรุ้ว่า ปากกาหัวโต๊ะRecord Quick Release ที่คุณเขมทัตซื้อเมื่อปีก่อนนั้น คุณเขมทัตซื้อจากที่ไหน+ราคาเท่าไรครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น หนุ่มm100 (m10017-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-05 18:29:52


ความคิดเห็นที่ 50 (1444129)
avatar
wit

ขอบคุณจากใจอีกคนครับ  สำหรับทุกอย่างที่ได้โพสต์ลงมาเป็นความรู้ให้กับมือใหม่และผู้ที่สนใจทั้งหลายแหล่ แต่ไม่รู้จะไปหามาจากที่ไหน

เสียสละทั้งเวลาและสมองอีกต่างหาก  ข้าน้อยขอ ซูฮก เลยครับ  ปักหมุด ปักหมุด ปักหมุดๆๆๆๆๆๆๆๆ

"แรงใจเกิดแล้ว  อีกไม่นานจะมีขนาดย่อมๆ สักตัว  ด้วยฝีมือเราเอง"

ปล. แต่ไม่รู้จะไปได้แค่ไหน

ผู้แสดงความคิดเห็น wit (w-dot-tanakorn1973-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-05 21:55:21


ความคิดเห็นที่ 51 (1444141)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

ผมขอขอบคุณทุกความเห็นและทุกคำนิยมครับ ถ้ามีคำถามก็ไม่ต้องเกรงใจนะครับยินดีอธิบายเพิ่มและตอบทุกข้อสงสัยครับ สำหรับคำตอบของคำถามที่ถามมาอยู่ด้านล่างของความเห็นนี้นะครับ


นับว่าเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับมือใหม่หัดเขียนอย่างผมครับ เรื่องของ “โต๊ะช่างไม้ในฝัน” ผ่านไปแล้วประมาณครึ่งเรื่องครับผมกำลังเรียบเรียงส่วนที่เหลือให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย และจูงใจให้ทั้งผู้มีประสบการณ์ในงานไม้และมือใหม่หันมาสนใจใน “งานไม้ประณีต” ครับ


งานไม้ประณีตในความหมายที่ผมกล่าวถึงคืองานไม้ที่ให้คุณค่าเหนือประโยชน์จากการใช้งานปกติ เป็นผลงานที่เน้นฝีมือในการ ออกแบบ เลือกวัสดุ ผลิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์และ นำเสนอ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะก่อให้เกิดเป็นความประทับใจแก่ผู้ที่ได้สัมผัสและผู้เป็นเจ้าของ ในทางการตลาดแล้วราคาสินค้าขึ้นอยู่กับทั้งคุณค่าจากการใช้งานและคุณค่าจากความประทับใจครับ โดยที่อย่างหลังจะให้อัตราผลกำไรสูงกว่าอย่างแรกอย่างเทียบกันไม่ได้ ขอยกตัวอย่างตลาดรถยนต์นะครับ ถ้าเทียบรถยุโรปกับรถเอเซียในเรื่องการใช้งานแล้วคุณค่าไม่น่าต่างกันมากเท่ากับส่วนต่างของราคาที่เราเห็นกันอยู่ แต่ทำไมจึงมีคนยอมจ่ายส่วนต่างนั้นล่ะครับ ในความเห็นของผมเขาจ่ายเพราะเขาได้คุณค่าทางจิตใจจากความเป็นเจ้าของครับ


ผมเองก็ห่างงานไม้ประณีตไปนานครับ หลังจบมัธยมแล้วเข้าเรียนวิศวกรรมเครื่องกลก็หันความสนใจไปที่งานโลหะ เพิ่งจะกลับมาให้เวลากับงานไม้ประณีตอย่างจริงจังก็เมื่อปีที่แล้วนี้เองครับ ก่อนหน้านี้ก็จะหนักไปทางการติดตามเรียนรู้เรื่องงานไม้ประณีตจากหนังสือ นิตยสาร และเว็บไซท์งานไม้ แต่ความสนใจด้านงานโลหะก็ได้ช่วยเพิ่มมุมมองและศักยภาพของผมในการประดิษฐ์เครื่องมือที่ช่วยทุ่นแรง ลดเวลา และเพิ่มความเที่ยงตรงขึ้นใช้เอง นอกจากนี้ก็ยังเกิดความกล้าที่จะนำโลหะมาประกอบผสมผสานกับงานไม้เพื่อเพิ่มความสวยงามแปลกตาแทนที่จะต้องอยู่ในกรอบของอุปกรณ์มาตรฐานอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นกรณีปากกาท้ายโต๊ะแบบ Wagon Vise ของโต๊ะช่างไม้ในฝันของผม ถ้าผมไม่มีความรู้เรื่องการออกแบบและขึ้นรูปงานโลหะผมก็คงต้องนำเข้าของฝรั่งซึ่งออกแบบมาสำหรับพื้นโต๊ะที่หนากว่าไม้ที่เรามีอยู่และผลงานก็อาจจะไม่กลมกลืนเท่าที่ควร หรือหากผมนำชิ้นส่วนที่ใกล้เคียงที่หาได้ในประเทศมาประกอบกันก็คงคล้ายการจับแพะมาชนแกะและผมก็คงได้เพียงคุณค่าจากการใช้งานปกติ


ผมอยากให้ความสนใจเรื่องงานไม้ประณีตในบ้านเราขยายตัวมากกว่าที่เป็นอยู่หลายๆเท่า งานไม้ประณีตทำได้ตั้งแต่งานที่ใช้เครื่องมือแรงคน (Hand Tools) ล้วนๆจนถึงงานที่ใช้เครื่องจักร (Stationary Power Tools) ครับ ผมเชื่อว่าเราสร้างตลาดงานไม้ประณีตได้แน่ครับถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันและเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาสำหรับผู้ที่ฝากอนาคตไว้กับวงการงานไม้ในประเทศไทย ในระยะยาวผมไม่มั่นใจว่าช่างไทยจะสู้ได้ตลอดรอดฝั่งในตลาดราคาเพราะคู่แข่งสำคัญในตลาดราคาน่าจะเป็น จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชาและ พม่า ซึ่งล้วนแล้วแต่มีศักยภาพที่จะดูแลจัดการด้านต้นทุนการผลิตและนำสินค้าราคาถูกมาแข่งขันในบ้านเรา


ตลาดที่น่าเป็นห่วงคือตลาดเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน (Built-in) ประเภทไม้อัดประกอบไม้โครงครับเพราะจะต้องแข่งกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์โรงงานทันสมัยที่มีต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่าทั้งจากในและนอกประเทศ และแข่งกับผลิตภัณฑ์น๊อคดาวน์ (Knock-down) ที่ทำจากทั้งวัสดุสังเคราะห์และไม้จริง  ท่านอาจได้ข่าวเหมือนผมว่าอีก 58 วันหรือประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ห้างเครื่องเรือน IKEA ก็จะมาเปิดสาขาแรกในบ้านเราแล้ว ที่ถนนบางนาตราด กม. 8 ถ้า IKEA ในประเทศไทยสามารถสร้างจุดขายที่โดนใจคนไทยได้เหมือนในประเทศอื่นที่ผมเคยสัมผัสอีกไม่นานเราก็จะเห็นทางเลือกใหม่ของผู้เลือกซื้อเครื่องเรือนและอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ซื้อและสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเราครับ ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดที่ผมนึกได้คือการค้ารูปแบบใหม่ (Modern Trade) ที่เราเห็นในบ้านเรานี่แหละครับ

IKEA ก็คล้ายกับห้าง Makro ที่เน้นเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านในราคาที่โดนใจนั่นแหละครับ เขาประชาสัมพันธ์แนวคิดของเขาไว้ชัดเจนครับว่า "เราจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านที่มีความหลากหลาย ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้รับการออกแบบขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ให้ประโยชน์ใช้งานได้ดี ในราคาย่อมเยาที่คนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของได้” สนใจเรื่องของ IKEA ก็ลองเยี่ยมชมเว็บไซท์ www.ikea.co.th ครับ


ท่านอาจสงสัยว่าตลาดงานไม้ประณีตจะใหญ่พอหรือมีกำลังซื้อพอหรือ? ผมไม่ทราบหรอกครับว่าตลาดใหญ่ขนาดไหนแต่ผมเชื่อว่ามนุษย์จำนวนไม่น้อยชอบที่จะเป็นเจ้าของความแตกต่าง ที่สำคัญเขาพร้อมที่จะจ่ายเพิ่มครับสำหรับการเป็นเจ้าของความแตกต่างที่ทำให้เขารู้สึกดี มนุษย์ที่ผมพูดถึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนไทยนะครับเหมือนกับตลาดงานไม้ประณีตที่มีศักยภาพไปนอกประเทศไทย คนไทยมีชื่อตลอดมาด้านงานฝีมือ ไม้เราก็ยังพอหาได้ ต้นทุนแรงงานฝีมือเราก็ไม่น่าจะสูงกว่าประเทศที่เราหมายตาให้เป็นลูกค้า เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา ปริมาณการขายงานไม้ประณีตอาจไม่สูงเท่างานไม้ราคาถูก แต่ในความเห็นของผมตลาดงานไม้ประณีตน่าจะมีศักยภาพดีกว่าในเรื่องผลกำไรและความมั่นคงยั่งยืนครับ  ถ้าท่านขอให้ยกตัวอย่างสักแห่งหนึ่งที่ทำงานไม้ประณีต ผมก็ขอให้หาเวลาไปเที่ยวศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ ท่านก็จะได้พบกับ อาจารย์ ชัชวาลย์ ลางดี ปรมาจารย์ช่างไม้ที่ผมนับถือในฝีมือและยกย่องในความทุ่มเทให้กับการพัฒนาช่างไม้ประณีตไทยครับ งานไม้ของบางไทรมักจะมีผู้ซื้อรอคิวเสมอครับ


โดยสรุปแล้วผมมีความเชื่อว่างานช่างไม้ประณีตเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ที่ฝากอนาคตกับงานไม้ในบ้านเราควรศึกษา และผมอยากเชิญชวนให้ท่านนี่สนใจงานไม้ศึกษาพัฒนาทักษะงานไม้ประณีตแต่เนิ่นๆครับ

สำหรับคำถามของ คุณmosaic coffee "ตัว bench dog หรือเดือยทองเหลืองนั้นหาซื้อที่ไหนครับ"

Veritas เป็นเจ้าของแบบครับ ถ้าสนใจสั่งซื้อก็ลองเข้าลิ้งค์นี้ดูนะครับ

http://www.leevalley.com/US/wood/page.aspx?p=31127&cat=1,41637,41645&ap=1

ตัวที่เห็นผมขอให้ช่างสิทธิ์ทำให้ครับ เขาคิดตัวละ 300 บาทครับ

สำหรับคำถามของ คุณหนุ่มm100 "ปากกาหัวโต๊ะRecord Quick Release ที่คุณเขมทัตซื้อเมื่อปีก่อนนั้น คุณเขมทัตซื้อจากที่ไหน+ราคาเท่าไรครับ"

เป็นปากกาที่ทำตามแบบ Record นะครับไม่ใช่ของ Record เหมือนที่ติดตั้งบนโต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผม ตัวที่เห็นติดตั้งบนโต๊ะช่างไม้ในฝันผมนี้ผมซื้อจากงาน Intermach ที่ไบเทคครับ ปีนี้ก็เห็นเขานำมาขายอีก ราคาประมาณ 3,400 บาทครับ ร้านเขาอยู่ที่ในซอยแยกจากถนนเจริญกรุงตรงข้ามเวิ้งนาครเขษมครับ เข้าใจว่าถ้าไม่เป็นซอยเจริญกรุง 9 ก็เป็นซอย (ถนน) บริพัตรครับ ลองเดินหาดูนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-05 23:15:33


ความคิดเห็นที่ 52 (1444260)
avatar
หนุ่มm100

ขอบคุณ คุณเขมทัตมากครับ สำหรับคำตอบ คำแนะนำและความรู้ต่างๆที่แบ่งปันให้ ผมยังเฝ้ารออ่านตอนต่อไปอยู่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น หนุ่มm100 (m10017-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-06 18:58:28


ความคิดเห็นที่ 53 (1444274)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง
image

เข้ามานั่งรอดูตอนต่อไปครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-06 20:42:57


ความคิดเห็นที่ 54 (1444278)
avatar
ปราโมทย์ พิดโลก

 ขอบคุณครับคุณเขมทัต จะรออ่านตอนต่อไปครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ปราโมทย์ พิดโลก (motepits6-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-06 21:00:33


ความคิดเห็นที่ 55 (1444279)
avatar
wit

คำขอบคุณคำนี้ผมชอบจริงๆ ขออนุญาตนำไปใช้นะครับพี่เอ๋

แล้วผมก็ยังรออ่านกระทู้ต่อเช่นกันครับ...

ผู้แสดงความคิดเห็น wit (w-dot-tanakorn1973-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-06 21:04:26


ความคิดเห็นที่ 56 (1444285)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

555...ผมSave มาจากเว็บโป๊ครับคุณ Wit (พูดตรงไปรึเปล่า)

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-06 21:26:56


ความคิดเห็นที่ 57 (1444298)
avatar
Thana

เรียนคุณ เขมฑัต

พอจะมีเบอร์ร้านที่ซื้อไม้หรือเปล่าครับ หรือชื่อร้านที่ซื้อไม้ประดู่นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Thana วันที่ตอบ 2011-09-06 23:41:00


ความคิดเห็นที่ 58 (1444312)
avatar
อนุชา จันทบุรี
image

ผมเห็นโต๊ะช่างไม้ของคุณ เขมทัต แล้วไม่กล้าคิดทำเลยครับ ที่ผมใช้อยู่ก็โต๊ะที่เอาไว้ใช้กินข้าวแบบที่พับขาได้น่ะครับ 555

ผู้แสดงความคิดเห็น อนุชา จันทบุรี (korpred-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-07 05:06:41


ความคิดเห็นที่ 59 (1444316)
avatar
จ๊อด

ต้องขอขอบคุณ คุณเขมทัตมากครับ เป็นวิทยาทานที่ประเมินค่าไม่ได้เลยจริงๆ 

เป็นโต๊ะงานไม้ในฝันผมเหมือนกัน กำลังหาข้อมูลอยู่เหมือนกัน ได้ข้อมูลและขั้นตอนของคุณเขมทัต ช่วยทำให้เข้าใจอะไรหลายๆอย่างมากขึ้นเยอะ..

โต๊ะตัวนี้ผมได้มีโอกาสลูบๆ คลำๆ ตอนงานรวมพลแล้ว ขอบอกว่าประทับใจมาก และบอกกับตัวเองว่า นี่ละโต๊ะงานไม้ที่เราอยากมี ^^

ผู้แสดงความคิดเห็น จ๊อด วันที่ตอบ 2011-09-07 07:54:08


ความคิดเห็นที่ 60 (1444480)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมหยุดเขียนไปหลายวันเพราะมีภารกิจจากงานหลักเข้ามาครับก็เลยได้แต่เตรียมผูกเรื่องไว้ว่าจะเล่าอะไรบ้าง

 

ขอตอบคำถาม คุณ Thana เรืองร้านไม้เก่าที่ผมซือไม้ประดู่มาทำโต๊ะตัวนี้ก่อนนะครับ ผมจำชื่อร้านไม่ได้แต่จำตำแหน่งได้แม่นครับ เป็นร้านที่ 3-4 ฝั่งซ้ายมือขาเข้าบางบาลครับ หน้าร้านมีป้ายปูนของราชการ เขียนว่า "บางบาล" ครับ เบอร์โทรศัพท์ผมก็ไม่มีครับ ผมแนะนำให้ลองหาเวลาไปเยี่ยมชมโรงไม้แถบนั้นดูนะครับ ร้อนหน่อยแต่ก็สนุกดีครับ

ส่วนภาพที่ คุณอนุชาส่งมาก็น่าสนใจครับ ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ผมเรียนต่อที่ต่างประเทศแล้วได้ดูรายการ The New Yankee Workshop (ทุกวันนี้ก็ยังมี VDO เก่าของรายการนี้ให้ดูที่ www.YouTube.com ครับ) กับอ่านวารสาร Fine Woodworking เป็นประะจำ ซักพักก็เกิดอาการถ่านไฟเก่ากำเริบอยากทำงานไม้มากจนต้องไปเช่าโกดังเก็บของเล็กๆเพื่อต่อโต๊ะเขียนหนังสือขึ้นใช้ครับ ต่อมาก็ทำตู้หนังสือ ช่วงก่อนกลับเมืองไทยก็ได้มอบงานทั้งสองชิ้นไว้กับอาจารย์ชาวไทยที่ผมให้ความคารวะไว้ใช้ในบ้านพักของท่าน

ผมลองไปเปิดอัลบั้มที่ภรรยาเก็บภาพไว้ ก็พบภาพเก่าขณะกำลังทำงานไม้ในห้องเก็บของขนาดจิ๋ว (5 x 10 ฟุต) ตั้งแต่ปี 2534-2535 ภาพแรกกำลังซอยไม้อัดทำตู้ สำหรับทำส่วนที่เป็นฐานและขาโต๊ะครับ ภาพต่อมาเป็นภาพแมวของเราที่ชื่อ "ติ๊นา" โดยมีตู้หนังสือที่ผมต่อไว้อยู่หลังภาพครับ ติ๊นาเป็นแมวที่อายุยืนที่สุดที่ผมเคยเลี้ยงมา ตอนที่เขาจากเราไปเมื่อต้นปีนี้เขามีอายุ 19 ปีครับเรียกว่าเป็น "พลแมวอาวุโสจริงๆ" ครับ ม้าเลื่อยไม้สองตัวที่เห็นในภาพก็ยังใช้อยู่จนถึงุกวันนี้ครับแม้ว่าส่วนขาจะเริ่มผุกร่อนแล้วก็ตาม

เครื่องมือที่ผมมีในช่วงนั้นก็ไม่ได้ต่างจากในภาพของคุณอนุชามากครับ แต่พื้นที่คุณอนุชามีมากกว่าผมแน่นอนครับ ผมจะไม่แปลกใจเลยถ้า 5 ปีจากนี้คุณอนุชาจะมีโต๊ะช่างไม้ที่มั่นคง มีเครื่องมือมากกว่าวันนี หรือแม้กระทั่งมีห้องช่าง ทั้งหมดนี้อยู่ที่ความสนใจและความตั้งใจของเราครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-07 23:27:50


ความคิดเห็นที่ 61 (1444484)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ในภาพนี้ผมกำลังต่อโต๊ะเขียนหนังสือที่โกดังที่ว่านี้ ยังหาภาพโต๊ะที่เสร็จแล้วไม่พบครับ ผมใช้ประตูไม้อัดเป็นพื้นโต๊ะครับแล้วเสริมขอบด้วยไม้สน ส่วนขาทำเป็นตู้ลิ้นชักสองใบซ้ายขวา ในภาพที่เห็นผมกำลังซอยแผ่นไม้อัดเบิร์ช (Birch Plywood) ด้วยเลื่อยวงเดือนยี่ห้อ Craftsman ชิ้นไม่อัดวางอยู่บนม้าเลื่อยไม้ขนาดยาว 4 ฟุต สูง 2 ฟุตซึ่งผมก็ยังใช้อยู่ทุกวันนี้ครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-07 23:54:17


ความคิดเห็นที่ 62 (1444488)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ภาพนี้มี ติ๊นา เป็นนางเอกและมีตู้หนังสือไม้สน (Pine) ที่ผมต่อไว้ใช้เป็นตัวประกอบครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-08 00:01:38


ความคิดเห็นที่ 63 (1444489)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

กลับมาเรื่องโต๊ะช่างไม้ในฝันต่อนะครับ สัปดาห์นี้ผมคงหาเวลามาเล่าได้น้อยมากครับ ตั้งใจไว้ว่าวันจันทร์หน้าเป็นต้นไปจะเขียนอย่างต่อเนื่องให้จบภายในสิ้นสัปดาห์หน้าครับ

เรื่องกระบวนการสร้างฯที่ผมตั้งใจจะเล่าให้ฟังประกอบด้วยเรื่องต่อไปนี้ครับ:

6) กระบวนการสร้าง (โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม) โดยละเอียด


6.1) การเพลาะไม้พื้นโต๊ะ
6.2) การยึดไม้ขอบโต๊ะกับพื้นโต๊ะ  (ตามรูปที่ 11)
6.3) การติดตั้งปากกาแบบ Quick Release ที่หัวโต๊ะ
6.4) การติดตั้งปากกาแบบ Wagon Vise ที่ท้ายโต๊ะซึ่งจะรวมถึงการทำงานของปากกาตัวนี้ด้วยครับ
6.5) การเข้าไม้ยึดขาโต๊ะเข้ากับพนังและคานรองพื้นโต๊ะ
6.6) การทำเสาประคอง (Sliding Deadman)
6.7) การปรับแต่งผิวโต๊ะ
6.8) การอุดรอยตำหนิในไม้เก่าและการเสริมความแข็งแรงของไม้เก่า


ถ้ามีเรื่องอื่นที่ผมไม่ได้ระบุไว้แต่ท่านผู้อ่านอยากทราบ ก็เขียนมาแจ้งได้เลยนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-08 00:13:35


ความคิดเห็นที่ 64 (1444785)
avatar
wit

ไม่ได้เข้ามาอ่านหลายวัน  เกือบตามไม่ทัน

พี่เอ๋ครับ  สงสัยเราจะดูกันคนละเว็บแฮะ  (หนุกหนานนะครับ) 55

และก็ขอขอบคุณ  คุณเขมฑัต  มากจริงๆ ครับ

ทุกขั้นตอนที่อธิบายมาทำให้ผมแทบจะนึกไม่ออกเลยว่าจะถามอะไรอีก

รออ่านใจจะขาดแล้วครับ

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น wit (w-dot-tanakorn1973-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-09 23:10:43


ความคิดเห็นที่ 65 (1444791)
avatar
ธัญ ไม้ทัย

ผมก็ไม่รู้จะถามอะไรดีเหมือนกันครับ แต่เข้ามาอ่านทุกวัน ขอบคุณ คุณเขมทัต ที่สละเวลาอันมีค่ามาให้ความรู้และให้ผมได้เปิดโลกทัศน์จาก websiteต่างๆรวมทั้งyoutube สำหรับ  ikea ที่จะเข้ามาประเทศไทย ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับแต่งบ้าน ทำให้ผมคิดย้อนถามตัวเองว่าเราจะทำงานแบบไหนต่อไป จากภาพอดีตถึงปัจจุบัน ผมนับถือการทำงานและการดำเนินชีวิตแบบคุณเขมทัตสมควรเอาเป็นตัวอย่างและติดตามต่อไปครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ธัญ ไม้ทัย (thanpisist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-10 00:42:01


ความคิดเห็นที่ 66 (1445060)
avatar
อ๊อด

อยากขอควารู้เรื่องการทำสี อีกซักเรื่องครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น อ๊อด วันที่ตอบ 2011-09-12 10:08:02


ความคิดเห็นที่ 67 (1445182)
avatar
ahu77

อยากอ่านต่ออย่างแรง

ผู้แสดงความคิดเห็น ahu77 (pant_bit-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-12 22:01:49


ความคิดเห็นที่ 68 (1445210)
avatar
ตั้มโคราช

โอ้..........นานๆมาที โต๊ะงานไม้ตัวนี้ทำได้ หนาแน่นถึงใจดีแท้ แต่ผมมองการติดตั้ง wagon vise และปากกา มันกลับกัน ครับ หรืออาจเป็นความถนัดแล้วแต่ล่ะบุคคล เพราะปากกาหนีบไม้ เมื่อติดด้านขวามือ สำหรับคนถนัดขวา เวลาเอากบไสไม้มันจะติดเอว หรือเกาะกับเสื้อ ไม่ก็กางเกงได้ ทำให้ไม่คล่องตัว  เพราะส่วนใหญ่คนถนัดขวา จะทำงานกับโต๊ะด้านขวาเป็นส่วนใหญ่ เกิดความ ไม่คล่องตัวได้ และ Wagon vise เมื่อติดด้านซ้าย ทำให้การล็อคชิ้นงานอาจขยับได้เพราะ มันไม่ตายตัวเหมือนหมุดที่ปักระยะ อาจต้องใช้แรงในการอัดมากขึ้นเพื่อไม่ให้งานที่ต้องการไสขยับ เมื่ออัดมากก็เกิดรอยอัดที่ชิ้นงานได้ อันนี้คือข้อคิดเห็นที่มองครับ ตั้มโคราช แค่แสดงความคิดเห็นครับไม่มีเจตนาใดๆทั้งสิ้น ฝีมือการทำสุดยอดครับโตะงานไม้ตัวนี้ คงอยู่ยันรุ่นลูกหลานเลยก็ว่าได้ เพราะไม้แต่ละชิ้น หนาๆ ทั้งนั้นแถมเป็นไม้ประดู่เก่า ปัญหาการยืดหดตัวก็น้อย ต้องขอบพระคุณพี่เขมทัตมาก ที่เอาผลงานชิ้นนี้มาให้ชม และความรู้ เอามาให้อ่านกันจนตาลายไปเลย 

ผู้แสดงความคิดเห็น ตั้มโคราช วันที่ตอบ 2011-09-13 09:01:28


ความคิดเห็นที่ 69 (1445218)
avatar
ตั้มโคราช

 ลืมไป ปากกาจับไม้ยี้ห้อ LACROC ขนาด 9 นิ้ว หรือเปล่าครับ เขาอ่าน ลา คล็อค ผมอ่าน แลค ล็อค ยี่ห้อนี้ก็อบมาจากเร็คคอร์ด นั่นเอง เห็นหุ่นเหมือนกันเดะ กะจะสั่ง 9 นิ้วมาทำเหมือนกัน ตอนนี้ผมมีแต่ปากกาจับเหล็กเรคคอร์ดขนาด 6 นิ้ว 31 กิโล จับไม้อยู่ ทั้งทุบทั้งตี มันเฉยเลย จีนแดงตีแตกไปสองตัวล่ะ เนื่องจากเหล็กมันกรอบ ผมใช้งาน ทั้งงานเหล็กงานไม้ครับ เลยคิดจะทำแยกใช้เหมือนกันแต่ยังไม่มีมีแรงผลักดันซักที ไม้ประดู่ยังเป็นกองอยู่เลย เห็นกระทู้นี้ชักคันไม้คันมืออยากทำบ้างจัง..........................

ผู้แสดงความคิดเห็น ตั้มโคราช วันที่ตอบ 2011-09-13 09:23:31


ความคิดเห็นที่ 70 (1445398)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

 

เรียนท่านผู้ตามอ่านเรื่อง "โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม" ทุกท่าน


ขอเวลาอีกวันสองวันนะครับจะกลับมาเขียนต่อ ผมดีใจครับที่มีผู้อยากอ่านต่อหลายท่านผมก็อยากเขียนต่อครับ :) ช่วงนี้มีงานประจำที่กำลังเร่งทำอยู่ครับ


ระหว่างนี้ขอตอบคำถามที่ถามมาก่อนนะครับ

คุณอ๊อดขอความรู้เรื่องการทำสี
ผมขอเรียนว่าผมไม่เคยใช้สี ชแล็ค แล็คเกอร์ สีย้อม หรือ ยูริเทน กับงานไม้เลยครับ จึงไม่มีความสันทัดในเรื่องนี้ ผมชอบใช้ไม้จริงและชอบเห็นลายไม้เดิมๆบนงานที่ทำก็เลยเลือกใช้น้ำมันสักหรือทีคออยล์ (Teak Oil) ตลอดมาครับ เพราะงานออกมาดูดี ใช้ง่ายมาก และราคาไม่แพง ในอนาคตอาจต้องเริ่มหัดการแต่งผิวด้วยวิธีอื่นบ้างเหมือนกันครับ
 

คุณตั้มโคราชครับ
ขอนับถือในความช่างสังเกตครับ เรื่องที่คุณตั้มมองว่าการติดปากกาเป็นการติดกลับทิศนั้นเป็นความรู้สึกที่ถูกต้องแล้วครับถ้าเจ้าของโต๊ะถนัดขวา แต่พี่เติมถนัดซ้ายครับ การวางตำแหน่งปากกาจึงออกมาอย่างที่เห็นครับ


ผมตั้งใจจะเล่าเรื่องนี้ในบทเรียนตอนท้ายว่า ตอนที่ออกแบบโต๊ะผมลืมไปว่าพี่เติมถนัดซ้ายจึงวางตำแหน่งของส่วนประกอบสำหรับคนถนัดขวา จนมาวันหนึ่งระหว่างที่พี่เติมกำลังไสชิดไม้บนโต๊ะตัวแรกของผมนั่นเองที่ผมสังเกตว่าท่าทางที่ไสไม้ของพี่เติมดูขัดๆตาชอบกล จึงได้ถึงบางอ้อว่าเราลืมไปสนิทว่าพี่เติมถนัดซ้าย บทเรียนนี้ราคาแพงครับเพราะตอนที่รู้นั้นผมเจาะรูยึดปากกาทั้งสองและเซาะร่อง ปากกาท้ายโต๊ะ Wagon Vise รวมถึงเข้าหางเหยี่ยวไปเกือบเสร็จแล้ว การจะแก้ไขจึงต้องเล็มไม้ทิ้งไปประมาณ 7 ซม. และทำงานซ้ำงานซ่อมอีกหลายวันไปเลยครับ


ส่วนเรื่องที่คุณตั้มมีความเห็นว่า "Wagon vise เมื่อติดด้านซ้าย ทำให้การล็อคชิ้นงานอาจขยับได้เพราะ มันไม่ตายตัวเหมือนหมุดที่ปักระยะ อาจต้องใช้แรงในการอัดมากขึ้นเพื่อไม่ให้งานที่ต้องการไสขยับ เมื่ออัดมากก็เกิดรอยอัดที่ชิ้นงานได้" นั้น ผมขอเรียนว่า:


1) การใช้งานของปากกาท้ายโต๊ะ Wagon Vise ส่วนใหญ่จะใช้รับแรงในแนวขนานกับแนวหมุดหรือเดือย ดังนั้นแรงที่จะกระจายออกทางด้านข้างจะมีน้อยมาก การหนีบปากกาแทบจะไม่ต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยเลยครับเพราะเส้นผ่าศูนย์กลาง 140 มม.ของพวงมาลัยเมื่อผนวกกับเกลียวขนาด 4 ฟันต่อนิ้วบนเพลาขนาด 32 มม.จะให้ "การได้เปรียบเชิงกล" (Mechanical Advantage) อย่างมหาศาล เพียงแค่ “ปั่น” พวงมาลัยเดือยของปากกาท้ายโต๊ะก็อัดไม้แน่นแล้วครับ ปากกาท้ายโต๊ะชุดนี้ก็ไม่ต่างจากแม่แรงยกรถแบบมือหมุนเลยครับ น่าจะแข็งแรงกว่าด้วยซ้ำเพราะขนาดเกลียวใหญ่กว่ามากครับ


2) ส่วนเรื่องการติดปากกาท้ายโต๊ะทางด้านซ้ายหรือขวาของโต๊ะไม่มีผลกับความแน่นในการหนีบไม้ครับ แม้ว่าเดือยตัวที่เคลื่อนที่จะขยับได้แต่มันก็ถูกบังคับทั้งในแนวดิ่ง (ด้วยร่องลิ้นของรางเหล็กคู่ด้านใต้โต๊ะ) และแนวนอน (ด้วยร่องไม้ที่กระหนาบแป้นวิ่งที่รับเดือยทองเหลือง) อย่างมั่นคงครับ (ถ้านึกภาพไม่ออกขอให้ดูรูปที่ 14, 18 และ 20 ประกอบนะครับ)


3) การที่เราใช้เดือยทองเหลืองกลมสอดไว้ในรูกลมนั้นจะทำให้เดือยขยับขึ้นลงและหมุนรอบตัวเองได้ คุณสมบัติในการหมุนนี้เป็นจุดที่ทำให้เดือยกลมเหนือกว่าเดือยเหลี่ยมครับ เพราะในกรณีที่เรานำไม้ที่ตัดมาไม่ได้ฉากมาใช้กับเดือยเหลี่ยม ก็จะเกิดการสัมผัสแบบไม่เต็มหน้า ตามรูปที่ 31 ในกรณีนี้เราอาจจะขันปากกาแน่นขึ้นเพื่อต้องการจุดสัมผัสที่กว้างขึ้นและทำให้ไม้ยุบตัวได้ครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-13 21:55:11


ความคิดเห็นที่ 71 (1445399)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

รูปที่ 31: การสัมผัสไม้ของเดือยเหลี่ยม

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-13 21:57:47


ความคิดเห็นที่ 72 (1445401)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ส่วนการยึดไม้ที่ไม่ได้ฉากกับเดือยกลม ตามรูปที่ 32 เราจะเห็นว่าเดือยสัมผัสกับขอบไม้ได้สมบูรณ์กว่าเดือยเหลี่ยมครับ เพราะเดือยกลมที่หมุนขยับรอบตัวเองได้จะขยับหน้าสัมผัสให้ขนานกับรอบเลื่อยบนสันไม้โดยอัตโนมัติครับ การที่ปรับตัวได้เองทำให้เราไม่ต้องออกแรงกดเดือยให้จมลงไปในเนื้อไม้เพื่อการสัมผัสที่แนบสนิทครับ


การขยัยตัวรับไม้เอียงนี้มีมุมจำกัดนะครับ ถ้าเอียงมากก็จะเกิดอาการ “ปลิ้น” ออกข้างครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-13 21:59:29


ความคิดเห็นที่ 73 (1445403)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

4) ตามรูปที่33 จะเห็นว่าหน้าสัมผัสของเดือยทองเหลืองปาดเป็นมุมงุ้มลงครับ มุมงุ้มนี้จะช่วยทำให้เกิดแรงกดในแนวดิ่งขณะหนีบทำให้จับไม้ได้แน่นขึ้นครับ


โดยรวมแล้วการหนีบด้วย Wagon Vise แน่นกว่าที่ผมเคยคิดไว้มากครับและก็ไม่ทิ้งร่องรอยบนสันไม้เลยครับ


ท่านอาจสงสัยต่อว่าแล้วในกรณีที่เราจะออกแรงตั้งฉากกับแนวหมุด แนวเดือยจะหนีบได้แน่นไหม? แน่นครับแต่ไม้จะขยับหรือไม่ขึ้นอยู่กับแรงที่กระทำในแนวตั้งฉาก ในกรณีนี้ผมจะหาไม้มาหนุนด้านหลังเพื่อเป็นหลักรับแรงแนวฉากครับ ถ้าไม่มีหลักรับแรงเราก็ต้องหนีบไม้ให้แน่นมากๆและอาจทำให้เกิดรอยอัดที่ชิ้นงานตามที่คุณตั้มโคราชเป็นห่วงได้ครับ

ส่วนคำถามของคุณตั้มโคราชว่าปากกาที่ใช้เป็นยี่ห้อ La Croc (ลาคร็อค) หรือไม่? ถูกต้องครับเป็นยี่ห้อดังกล่าว
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-13 22:01:40


ความคิดเห็นที่ 74 (1445410)
avatar
ตั้มโคราช

โอ้โห้...ตอบรวดเร็วทันใจ ผมก็คิดไว้ในใจว่าคงต้องมีเหตุและผล ที่ทำกลับกันอย่างนี้ ผมมาช้าไปจริงๆๆ มาเร็วกว่านี้คงได้แจมความรู้กันมันแน่ มัวแต่ขายของที่บอร์ด ทีเคที หมวดDIY เกี่ยวกับเครื่องมือช่าง ผมเห็นปากกาจับไม้แล้วมันคุ้นๆ จึงลองถามดู ยังกะถูกหวยครับ ถ้าเป็นคนถนัดซ้ายก็ต้องกลับด้านทำอย่างนั้นถูกแล้ว Wargon vise กำลังอัดมากจริงๆ เหมือนที่ว่าครับอันนี้เข้าใจ ผมมัวแต่ดูนายแบบไสกบด้านบน เมื่อเห็น แต่ไม่ได้อ่านล่ะเอียดว่าคนทำกะคนใช้ มันคนล่ะคนกัน ใช้ความรู้สึกของคนถนัดขวาเป็นหลักจึงออกมาแสดงความคิดเห็นพี่เขมทัตนิดนึง ตั้มโคราชได้คำชี้แจ้งแล้ว ข้อสงสัยจึงหมดไป หมุดทองเหลืองผมไม่ติดใจ เพราะสามรถเปลี่ยนเป็นไม้ได้ถ้ากลัวโดนคมกบ ส่วนเรื่องอื่นผมว่าโต๊ะตัวนี้ โอเคเลย ใครจะทำตามอยากใส่ลูกเล่นลงไปก็ใส่ไข่ใส่นมกันตามสไตร์เรา ตามแต่ละคนจะใส่ลูกเล่นลงไป เช่นปลั๊กไฟ หรือลิ้นชัก หรือจะทำ ปรับสูงต่ำ แบบในยูทูป ก็ตามสะดวก ขอบพระคุณพี่เขมทัตมากครับที่ให้ความรู้ จะรออ่านติดตามต่อไป

ผู้แสดงความคิดเห็น ตั้มโคราช วันที่ตอบ 2011-09-13 22:40:49


ความคิดเห็นที่ 75 (1445432)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมกลับมาเล่าเรื่องต่อแล้วนะครับ

 

6.1) การเพลาะไม้พื้นโต๊ะ


ตอนที่ผมต่อโต๊ะช่างไม้ตัวแรกนั้นผมยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการยืดหดตัวของไม้และเข้าใจไปเองว่าไม้ที่อบแล้วน่าจะไม่ยืดหด ดังนั้นผมจึงยึดไม้พื้นโต๊ะเข้ากับคานด้วยวิธีเจาะรูร้อยน๊อตตามรูปที่ 34

เพื่อไม่ให้หัวน๊อตโผล่มาให้เห็นที่ผิวโต๊ะผมใช้สว่านข้อเสือเจาะรูขนาด 1 นิ้วลึกพอที่จะร้อยหัวน๊อตตัวผู้แล้วเหลือที่สำหรับการอุดรูด้วยเดือยไม้ประดู่ขนาด 1 นิ้วซึ่งแต่งให้เป็นทรงเรียว (Taper)

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 00:19:38


ความคิดเห็นที่ 76 (1445434)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อมีโอกาสเพลาะไม้พื้นโต๊ะอีกครั้งก็ตั้งใจที่จะยึดไม้พื้นเข้าด้วยกันเป็นชิ้นเดียวด้วยแรงน๊อตและกาวโดยที่ไม่ต้องการให้มีการร้อยน๊อตจากด้านบนเพราะไม่ต้องการอุดรูด้วยเดือยไม้ ผมนึกถึงทางเลือกในการเพลาะไม้ 2 ทางคือ


ทางที่ 1) เจาะรูร้อยสตัดยาวตลอดแล้วยึดน๊อตตัวเมียที่หัวและท้ายสตัด ตามรูปที่ 35 และ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 00:26:30


ความคิดเห็นที่ 77 (1445435)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ทางที่ 2) ยึดไม้พื้นทีละคู่ด้วยสตัด ตามรูปที่ 36

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 00:30:21


ความคิดเห็นที่ 78 (1445438)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ภาพที่ 37 เป็นภาพการเพลาะไม้แบบที่ 2 ที่ถ่ายจากต้านใต้โต๊ะครับ  เหตุผลที่เลือกแบบนี้จะตามมาในไม่ช้าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 00:36:06


ความคิดเห็นที่ 79 (1445439)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ภาพที่ 38 เป็นการแสดงขั้นตอนการใช้สตัดและน๊อตดึงไม้พื้นที่จะเพลาะเข้าหากัน

มุมขวาล่างจะเป็นตัวอย่างภาพถ่ายสตัดและน๊อตครับ ผมไม่มีขนาดจริงที่ใช้คือ ¾” เหลือเลยก็เลยให้ดูขนาด ½” แทนครับ
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 00:39:13


ความคิดเห็นที่ 80 (1445578)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

ไม่ว่าจะเลือกการเพลาะไม้ด้วยสตัดแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 ก็จะเจอประเด็นเรื่องการบังคับหน้าไม้ให้เรียบสนิทเสมอกันเพราะสตัดที่ตั้งใจจะใช้มีขนาดไม่พอดีกับรูที่เจาะ สตัดขนาด 6 หุนที่ผมใช้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 มม.เศษ ในขณะที่ดอกสว่าน 6 หุนจะเจารูขนาด 6 หุนพอดี หรือ 19.1 มม.
 
การที่สตัดเล็กกว่ารูจะทำให้ไม้ที่ประกบคู่กันขยับตัวได้ขณะยึด การขยับตัวเพียงมิลลิเมตรเดียวจะส่วนผลทำให้เพิ่มงานเวลาไสหน้าโต๊ะอย่างมหาศาลเพราะไม้ประดู่แข็งมากนอกจากนี้ก็จะเสียเนื้อไม้โดยเปล่าประโยชน์
 
วิธีที่ผมใช้คุมผิวไม้ให้เรียบเสมอกันขณะยึดกาวและสตัดคือการเซาะร่องลิ้นในสันไม้ทั้งสองข้างแล้วสอดเดือยบิสกิท (Biscuit) หรือไม้อัดทรงรีเข้าระหว่างไม้ที่ประกบกัน ร่องลิ้นเจาะด้วยเครื่องเจาะที่เรียกว่า Biscuit Jointer ครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 18:05:07


ความคิดเห็นที่ 81 (1445581)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ขออธิบายการทำงานของเครื่องเจาะบิสกิท (Biscuit Jointer)โดยย่อดังนี้ครับ

ตามรูปที่ 39 ตัวเครื่องดูคล้ายกับเครื่องเจียรมือขนาดเล็กหรือลูกหมูที่มีใบเป็นแผ่นเหล็กคล้ายใบเลื่อยวงเดือน ด้านหน้าเครื่องจะมีรั้วที่ใช้ประกบเข้ามุมของไม้ที่จะเซาะร่อง ในขณะที่ประกบรั้วเราสามารถดันตัวใบให้เจาะลึกเข้าไปในเนื้อไม้ได้ตามความลึกที่ตั้งไว้

เดือยรูปวงรีที่ใช้จะมีขนาดพอดีกับร่องที่เซาะและจะพองตัวเมื่อได้รับความชื้นจากกาวขณะติดไม้

จุดเด่นของการเพลาะไม้ด้วยเครื่องนี้คือเราจะคุมระยะจากผิวถึงร่องได้ง่ายและแม่นยำครับ นอกจากนี้ยังไม่ต้องกังวลเรื่องการคุมระยะตามแกนไม้หรือการเยื้องเพราะตัวเดือยวงรีมีขนาดสั้นกว่าความยาวของร่องที่เซาะทำให้ขยับหรือเยื้องได้ประมาณ 2 มม. ถ้าเปรียบกับการใช้เดือยกลม (Dowel) แล้วบิสกิทง่ายกว่ามากครับเพราะการเจาะรูเดือยกลมต้องแม่นยำทั้งสองแกนครับ ถ้าอยากเห็นการทำงานของเครื่องเจาะบิสกิทลองดูใน Link นี้ครับ:
http://www.youtube.com/watch?v=OvO4-hbZb3k&feature=related

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 18:12:33


ความคิดเห็นที่ 82 (1445585)
avatar
หนุ่มm100

ได้ความรู้มากขึ้นอีกเยอะเลยครับ สมกับที่รอคอยจริงๆ ขอบคุณ คุณเขมทัตมากครับ ผมจะรออ่านตอนต่อไปเช่นเดิม

ผู้แสดงความคิดเห็น หนุ่มm100 (m10017-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-14 19:04:55


ความคิดเห็นที่ 83 (1445589)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

กลับไปเรื่องการเลือกวิธีเพลาะไม้ทั้งสองแบบนะครับ


จุดอ่อนของการเพลาะไม้แบบที่ 1 คือการเจาะรูร้อยสตัดให้ได้แนวขนานกับผิวไม้ซึ่งกว้างประมาณ 18 ซม. จากการทดลองเจาะไม้ประดู่ด้วยแท่นสว่านและดอกสว่านเจาะเหล็กขนาด 6 หุน ผมสังเกตว่ารูที่เจาะจะมีอาการหนีศูนย์หรือดิ้นมากขึ้นเรื่อยๆตามความลึก หากจะเจาะจากทั้งสองด้านแล้วมาเจอกันตรงกลางก็ไม่ง่าย ถ้ารูสตัดของไม้ที่ประกบกันไม่ตรงกันก็จะเกิดการเหลื่อมของผิวไม้ที่เกินกว่าแรงของเดือยบิสกิทจะบังคับไหว

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 19:24:07


ความคิดเห็นที่ 84 (1445594)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมมีดอกสว่านขนาด 6 หุนอยู่ 4 แบ ตามรูปที่ 40 ครับ คือ ดอกขูดหรือดอกแบบเจาะบานพับถ้วย (Forstner Bit) ดอกใบพาย (Spade Bit) ดอกเจาะเหล็ก (Twist Bit) และดอกข้อเสือ (Auger Bit) ในดอก 4 แบบนี้ดอกที่เที่ยงตรงที่สุดคือดอกขูด


ตามรูปจะสังเกตได้ว่าดอกขูดมีขนาดสั้นมาก ความสั้นนี่เองที่มีผลทำให้เที่ยงตรงขณะเจาะแต่ก็มีข้อจำกัดที่เจาะรูได้ลึกที่สุดเพียงประมาณ 60 มม. เท่านั้น


พี่เติมและผมต้องการคุมผิวของไม้คู่ที่เพลาะกันให้เสมอที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นดอกขูดจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะเที่ยงตรงกว่าดอกสว่านอีก 3 แบบ แต่ดอกขูดก็มีข้อจำกัดเรื่องความลึกของรูที่เจาะและไม่สามารถเจาะรูร้อยสตัดโดยตลอดความกว้าง 18 ซม.ของหน้าไม้พื้นได้

ข้อจำกัดนี้จะไม่เป็นประเด็นสำหรับทางเลือกที่สองเพราะเราต้องการรความลึกของรู 6 หุนที่เจาะเพียง 4 ถึง 5 ซม.ครับ

ดังนั้นเราจึงเลือกเพลาะไม้แบบที่สองคือเพลาะทีละคู่โดยใช้สตัดสั้นครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 19:34:07


ความคิดเห็นที่ 85 (1445612)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อเราเจาะรูร้อยสตัดแล้วเราก็ต้องเซาะร่องด้วยเราเตอร์เพื่อร้อยและขันกวดน๊อตตัวเมียด้วย

เพื่อรักษาเนื้อไม้ผมเซาะร่องกว้างเพียงด้านเดียวตามรูป 37 และ 41 เพื่อสอดประแจปากตาย ส่วนอีกด้านหนึ่งเซาะร่องแล้วใช้สิ่งบ้องแต่งมุมให้ได้ร่องสี่เหลี่ยมเจาะรูฟิตพอดีหัวน๊อตครับ

สิ่งน่องหรือ Mortise Chisel ตามรูปที่ 41 คือสิ่วที่มีความหนาของใบมากกว่าสิ่วปกติมาก ใช้เจาะร่องลึกๆ (Mortise) เช่นร่องเดือยประตูหน้าต่าง ความหนาของสิ่วบ้องทำให้ตัวสิ่วไม่เสียการทรงตัวขณะถูกกระแทกหนักๆ และมีความแข็งแรงพอที่จะให้เราใช้ใบสิ่วงัดเศษไม้ที่คมสิ่วเฉือนขาดและเกือบขาดออกจากรูได้โดยไม่ต้องกลัวหักหรืองอครับ

สิ่วน่องที่อยู่ในรูปเป็นขนาด ½” ตราฉลาม (E.A. Berg Eskilstuna) ของสวีเดนที่ผมใช้มาตั้งแต่ทำโต๊ะตัวแรกครับ สังเกตความหนาของสิ่วบ้องเทียบกับสิ่วที่มีขอบลบเหลี่ยมธรรมดา (Bevel Edge Chisel) อีก 3 อันนะครับจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 20:07:22


ความคิดเห็นที่ 86 (1445664)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

งานที่ยากที่สุดในการเพลาะไม้พื้นโต๊ะคือการไสชิดครับ เนื่องจาก

1) หน้าไม้ (70 มม.) กว้างกว่าใบกบ (45มม. ถึง 66 มม.) และ
2) การยกไม้มาประกบกันเพื่อทดสอดความสนิทซึ่งต้องทำเป็นระยะๆเพื่อทดสอบความชิดทำได้ลำบากมาก ที่ลำบากก็เพราะต้องใช้แรงมากทำคนเดียวเสี่ยงเจ็บตัวและเสี่ยงมุมไม้บิ่นขณะยกขึ้นยกลงเนื่องจากไม้ยาวกว่า 2 เมตรและหนักกว่า 30 กก. ครับ

ตามรูปที่ 42 จะเห็นพี่เติมกำลังไสชิดขอบไม้ด้วยกบล้างหลาย 3 แบบ ดังนี้ครับ
ซ้ายบนป็นกบลูกครึ่ง หรือ Transitional Plane ที่มีตัวกบเป็นไม้และมีชุดปรับใบกบแบบกบเหล็ก กบตัวนี้ยี่ห้อ Stanley No. 26 ครับ อายุของเขา 99 ปีครับ
ขวาบนเป็นกบล้างธรรมศักดิ์ของอาจารย์ดนัยครับ ใช้ดีจริงๆ อย่างที่ผมเคยพูดไว้ที่งานรวมพลคนรักงานไม้ปี 2553 ว่า “กบไม้และกบเหล็กใช้งานได้ดีทั้งคู่ ถ้าผมเริ่มงานไม้ใหม่วันนี้ผมจะเลือกกบไม้” และกบตัวแรกที่ผมจะซื้อก็จะเป็นกบล้างตัวที่อยู่ในรูปนี้แหละครับ
ขวาล่างเป็นน้องใหม่ในครอบครัว กบเขียด ของผม เป็นกบล้างประเภทใบคว่ำหรือ Bevel-up Jack Plane ยี่ห้อ เวอริทาส (Veritas) ครับ สรรพคุณสุดยอดเพราะทำหน้าที่ได้ทั้ง ล้าง ไสหัวไม้ และเป็นกบผิว พี่เติมชอบมากขนาดหามาเป็นเจ้าของตัวนึงเลยครับ เรื่องของกบตัวนี้น่าศึกษามาก ขอขยายความในโอกาสหน้านะครับ ถึงกบเวอริทาสตัวนี้จะมีสรรพคุณเยี่ยมยอดอย่างไรก็ตามผมก็ยังยืนยันคำเดิมนะครับว่าผมแนะนำให้มือใหม่ซื้อกบล้างขนาด 14 นิ้วไว้ใช้เป็นกบตัวแรกครับ

ถ้าสนใจจะทราบรายละเอียดและราคาดูได้ใน Link นี้เลยครับ
http://www.leevalley.com/US/wood/page.aspx?p=49708&cat=1,41182,52515

 

เสียดายที่ไม่มีรูปขณะพวกเราใช้กบบรรทัด อาจเป็นเพราะเหนื่อยกันจนลืมเก็บภาพครับ
สังเกตขนาดของไม้พื้นที่พี่เติมหนีบไว้กับปากกาหัวโต๊ะนะครับ ว่ามันยาวเกินโต๊ะไปมาก


อุปกรณ์หลักๆในการชิดไม้ก็คือ กบล้าง กบบรรทัด ไม้ฉากดินสอ บรรทัดยาว 8 ฟุต และปากกาหนีบไม้ขณะไส

สำหรับวิธีไสขอบไม้ให้ตรงและได้ฉากขอยกไปเล่าในเรื่องของการใช้กบไสไม้นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 22:26:33


ความคิดเห็นที่ 87 (1445665)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ขั้นตอนการไสไม้ให้ประกบกันพอดี (ชิดไม้) นี้อาศัยความอดทนและมุ่งมั่นล้วนๆครับ

ดูสภาพของผมตามรูปที่ 43 ตอนที่โค้ชมาเยี่ยมน่าจะพอรู้สึกถึงแรงที่ออกไปและความสนุกที่ผมได้รับในวันนั้นนะครับ
 

ผมต้องการให้ไม้ทั้งสองข้างสนิทกันแบบแสงลอดไม่ได้เมื่อวางประกบกันโดยไม่ใช้ปากกาอัด ถ้าทำออกมาไม่สนิทก็คงได้เห็นตำหนิไปถึงรุ่นหลานเลยแหละครับ อีกเหตุผลหนึ่งที่งานเพลาะไม้ต้องออกมาสนิทก็เพราะโค้ชของเรามาเยี่ยมชมความคืบหน้าและตรวจคุณภาพเกือบทุกวันครับ และโค้ชจะถามเสมอว่า “จำได้มั้ยว่าพ่อสอนว่าอะไร?” คำตอบคือ “เป๊ะ” หรือ “Precision” ครับ :)

สำหรับผมไมถือว่าเป็นแรงกดดันแต่ประการใดครับ กลับเห็นเป็นเรื่องสนุกด้วยซ้ำที่จะทำงานให้ประณีตขึ้นเรื่อยๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 22:31:49


ความคิดเห็นที่ 88 (1445682)
avatar
ธัญ ไม้ทัย

 สมกับการรอคอยครับ วันนี้ผมได้อะไรหลายๆอย่างนอกเหนือจากความรู้ครับ ขอบคุณ คุณเขมทัต ในรายละเอียดต่างๆ มากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ธัญ ไม้ทัย (thanpisist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 23:25:50


ความคิดเห็นที่ 89 (1445683)
avatar
pongcop
image

ขอคารวะด้วยใจ...ขอบคุณความรู้ที่แบ่งปันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น pongcop (pongcop-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 23:26:28


ความคิดเห็นที่ 90 (1445688)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อไม้พื้นชิดกันและเจาะรูสตัดร่องใส่น๊อตเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเตรียมการเรื่องการยึดพื้นโต๊ะเข้ากับคานแบบกึ่งลอยตัวตามภาพที่ 9 และ 10  รวมทั้งการยึดปากกาหัวโต๊ะเข้ากับพื้นโต๊ะครับ


เนื่องจากเราไม่ต้องการให้เห็นหัวน๊อตหรือรูอุดหัวน๊อตบนผิวโต๊ะเราจึงต้องฝังหัวน๊อตตัวเมียไว้ในพื้นโต๊ะ และการฝังน๊อตสำหรับคานนี้ต้องฝังในลักษณะที่หัวน๊อตตัวเมียขยับตัวได้ตามการยืดหดของไม้ด้วยตามที่กล่าวมาแล้ว


ตอนที่ออกแบบน๊อตตัวเมียที่ว่านี้ผมนึกถึงการยึดน๊อตที่เคยเห็นในเฟอร์นิเจอร์แบบน็อคดาวน์ตามรูปที่ 44 ผมไม่ทราบว่าช่างเขาเรียกน๊อตแบบนี้ว่าอะไรแต่ในอินเตอร์เน็ตพบว่าฝรั่งเรียกว่า Cross Dowel ครับ ผมขอเรียกว่ากระบอกเกลียวไปก่อนจนกว่าจะพบชื่อเฉพาะครับ ใครทราบชื่อไทยของเขากรุณาแจ้งให้ทราบด้วยนะครับ

กระบอกเกลียวตอบโจทย์ทั้งสองเรื่องคือฝังอยู่ในพื้นและสามารถขยับเลื่อนในรูที่เราเจาะไว้ได้ ผมจึงขอให้คุณสิทธิ์ช่างกลึงของเราทำกระบอกเกลียวเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ¼ นิ้วแล้วเจาะรูต๊าปเกลียวสำหรับน๊อตขนาด 6 หุนที่จะร้อยผ่านคาน


ก่อนจะเพลาะพื้นเราต้องสอดกระบอกเกลียวทั้ง 6 ตัวเข้าไปในที่อยู่ของมันก่อน สำหรับการยึดปากกาหัวโต๊ะแบบ Quick Release ก็ใช้กระบอกเกลียวตัวเมียซ่อนอยู่ในพื้นโต๊ะเหมือนกันครับ แต่เป็นขนาด1 นิ้ว จำนวน 4 ตัว ที่เล็กกว่าเพราะน๊อตตัวผู้ที่ยึดปากกามีขนาดเพียง ½ นิ้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-14 23:46:43


ความคิดเห็นที่ 91 (1445692)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image


ก่อนจะติดกาวก็ต้องทดสอบความชิดและการขันกวดสตัดให้แน่ใจว่าทุกอย่างพร้อมและสามารถขันกวดให้แน่นก่อนกาวแห้ง

วันที่ติดกาวพี่เติมกับผมก็แบ่งหน้าที่กันเป็นอย่างดีและเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไว้ข้างตัว ตามรูปที่ 45 ครับ ระหว่างรอกาวแห้งเราหนีบไม้ประกบเพื่อรักษาหน้าไม้ให้เรียบตรง เราเพลาะไม้ทีละคู่ครับ วันแรกทำได้ 2 คู่ รอกาวแห้งหนึ่งวันจึงนำไม้ที่เพลาะแล้วทั้งสองคู่มาเพลาะกันอีกครั้งครับ

กาวที่เราใช้คือกาวลาเท็กซ์ธรรมดาครับไม่ได้ใช้กาวเหลือง (ของ Elmer’s) เพราะกลัวกาวเหลืองจะแห้งก่อนขันน๊อตเสร็จครับ ผมเพิ่งมาทราบทีหลังว่ากาวลาเท็กซ์มีหลายเกรดให้เลือก ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ทำการบ้านให้ดีเสียก่อน

จากรูปที่ 45 จะเห็นว่าปากกาหนีบไม้ทั้งหมดที่เราใช้นั้นทำหน้าที่หนีบไม้ที่ประกบไม้พื้นเพื่อคุมไม่ให้โก่งหรือแอ่น หน้าที่ในการหนับอัดไม้ให้ชิดเป็นของน๊อตและสตัดครับ จากภาพจะเห็นพี่เติมกำลังกวดน๊อตและเห็นกาวลาเท็กซ์ทะลักขึ้นมาเป็นแนวตามรอยต่อครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 00:06:59


ความคิดเห็นที่ 92 (1445693)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรูปที่ 46 วันที่เราเพลาะนำไม้คู่หน้าโต๊ะและคู่หลังโต๊ะที่เพลาะแล้วมาเพลาะเข้าด้วยกันให้เป็นความกว้าง 4 แผ่นนั้นเราเลือกที่จะใช้ขาโต๊ะทั้ง 4 ขาเป็นไม้ประกับกันโก่งกันแอ่นครับ

ผลออกมาดีมากครับไม้ประกบกันสนิทถูกใจดีมากครับ การเหลื่อมและโก่งมีเพียงเล็กน้อย งานไสไม้ล้างให้เรียบก็ไม่หนักมากนักครับ

เรื่องของการเพลาะไม้พื้นโต๊ะก็สิ้นสุดเท่านี้ครับ ถัดไปก็จะเป็นเรื่องของหัวข้อ 6.2) การยึดไม้ขอบโต๊ะกับพื้นโต๊ะ  (ตามรูปที่ 11)

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 00:12:27


ความคิดเห็นที่ 93 (1445733)
avatar
nana

ขอบคุณค่ะ มีประโยชน์มากๆๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น nana วันที่ตอบ 2011-09-15 10:03:02


ความคิดเห็นที่ 94 (1445799)
avatar
ปราโมทย์ พิดโลก

เมื่อก่อน เวลาผมจะทำอะไรขึ้นมาใช้สักชิ้นหนึ่ง ผมก็ลงมือทำแค่ให้งานนั้นออกมาใช้งานได้ก็พอใจแล้ว พอได้อ่านกระทู้ของคุณ เขมทัต แล้ว ชอบใจและถูกใจคำว่า "งานไม้ประณีต" มาก ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนเลยครับ ขอบคุณคุณ เขมทัต ที่ทำให้ให้ผมต้องทบทวนการทำงานของผมให้ประณีตยิ่งขึ้นครับ แต่...คงยังไม่ประณีตเท่าเจ้าของกระทู้แน่นอนครับ...ผมยังอึดไม่พออ่ะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ปราโมทย์ พิดโลก (motepits6-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 15:44:24


ความคิดเห็นที่ 95 (1445813)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เรียนคุณ nana

ผมดีใจครับที่มีสุภาพสตรีสนใจอ่าน และดีใจที่คุณnana เห็นประโยชน์ครับ

เรียนคุณปราโมทย์ พิดโลก

เรื่องงานไม้ประณีตที่ผมชื่นชมนั้นผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ครับถ้าอยากจะทำ ตามความรู้สึกของผมถ้าเราไม่ใช่ช่างอาชีพเราก็คงมีโอกาสทำงานไม้ได้ไม่กี่ชิ้นในชีวิต ถ้าทำได้น้อยชิ้นแล้วผมก็อยากให้ทุกชิ้นที่ทำได้ประโยชน์ทั้งจากการใช้งานและคุณค่าทางจิตใจ และที่สำคัญอยากเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังๆไว้ใช้งานและชื่นชมต่อๆกันไปด้วยครับ

เมื่อปีที่แล้วในงานรวมพลคนรักงานไม้ผมได้ฟังท่านอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน ท่านพูดเรื่องงานไม้ และมีใจความตอนหนึ่งว่า ท่านคิดว่างานทุกชิ้นของท่านคือมรดกครับ สิ่งที่ผมได้ยินถูกใจผมมากครับเพราะผมก็คิดเช่นนั้นตลอดมา

มีงานไม้อยู่ชิ้นหนึ่งที่ผมประทับใจทุกครั้งที่เห็นภาพหรือนึกถึง งานที่ว่านี้เป็นตู้เก็บเครื่องมือแบบแขวนผนังทำโดย Henry O. Studley ช่างทำเปียโนในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว ท่านที่สนใจลองชม VDO สั้นๆที่ Norm Abram แห่ง The New Yankee Workshop พาชมได้ตาม Link นี้ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=C9QaFTI2F9c

พร้อมกันนี้ผมก็นำรูปมาให้ชมรูปหนึ่งครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 16:38:40


ความคิดเห็นที่ 96 (1445814)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

6.2) การยึดไม้ประกับท้ายโต๊ะกับพื้นโต๊ะ


จากรูปที่ 48 จะเห็นว่าตลอดแนวขวางพื้นโต๊ะด้านที่มีปากกาท้ายโต๊ะจะมีไม้อยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งผมเรียกว่าไม้ประกับท้ายโต๊ะ (End Board) ครับ
 

ไม้ประกับท้ายโต๊ะมีหน้าที่หลักในการยึดปากกาท้ายโต๊ะครับ ขณะใช้ปากกาท้ายโต๊ะอัดงานจะมีแรงต้านจากชิ้นงานผ่านเดือยทองหลือง แป้นวิ่งไม้ประดู่ ชุดเกลียวตัวเมีย เพลาเกลียว เบ้ารับเพลา จนถึงไม้ประกับท้ายโต๊ะตามลำดับ แรงที่ว่าจะเป็นแรงที่ดันให้ไม้ประกับออกจากพื้นโต๊ะ ส่วนถ้าใช้ปากกาถ่างงานแรงดังกล่าวก็จะดึงไม้ประกับเข้าหาพื้นโต๊ะครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 16:43:13


ความคิดเห็นที่ 97 (1445832)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรูปที่ 48 ไม้ประกับยึดอยู่กับพื้นโต๊ะด้วย:


1) เดือยหางเหยี่ยวที่มองเห็นจากด้านหน้าโต๊ะ เดือยนี้ลึกประมาณ 5 ซม. (ศร A ในภาพที่ 48)
2) ร่องลิ้นยาวตลอดแนวไม้ประกับ ที่รับกับเดือยลิ้นซึ่งอยู่ที่ส่วนสันของท้ายโต๊ะ ตามภาพร่างของผมในรูปที่ 49 ครับ ผมพยามหาภาพจริงแต่หาไม่พบครับคงลืมเก็บภาพไว้ และ
3) น๊อตหัวจมแบบผ่าทำด้วยสเตนเลสขนาด ½ นิ้วยาว 6 นิ้วรวม 4 ตัว (ศร B) ที่ขันเข้ากับเกลียวตัวเมียที่ฝังไว้ใต้โต๊ะ

ส่วนไม้ประกับและชุดปากกาท้ายโต๊ะยึดติดกันโดยการเจาะฝังเบ้ารับเพลาเกลียวเข้าไปในไม้ประกับตามศร C ในรูปที่ 48 แล้วยึดตัวเบ้าเข้ากับไม้ประกับด้วยน๊อตหัวจมสเตนเลสขนาด 3/8 นิ้ว ยาว 3 ½ นิ้วสองตัว (ศร D และ E ในรูปที่ 48)

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 19:40:10


ความคิดเห็นที่ 98 (1445840)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ภาพร่างในรูปที่ 49 คือภาพสามมิติที่เขียนด้วยมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำเป็นประจำเวลาออกแบบ สมันเรียนยังไม่มีโปรแกรม CAD (Computer Aided Design) ครับก็เลยยังใช้โปรแกรมพวกนี้ไม่เป็น

เราจะเห็นร่องและเดือยลิ้นที่วิ่งยาวตลอด รวมถึงหางเหยี่ยวและรูน็อตครับ ตามภาพร่างร่องลิ้นจะกว้างเพียงครึ่งเดียวของโต๊ะแต่ผมเปลี่ยนเป็นยาวตลอดภายหลังครับ

แก้ไขเพิ่มข้อความ: ผมเพิ่งจะพบภาพจริงของlส่วนปลายโต๊ะที่เป็นเดือยภาพหนึ่งครับจึงได้นำมาแสดงไว้กับภาพไม้ประกับท้ายโต๊ะที่มีร่องลิ้นและหางเหยี่ยวตัวเมีย ไว้ในรูปที่ 166 ในความเห็นที่่่ 294 ครับ (19 ต.ค. 2554)

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 19:53:14


ความคิดเห็นที่ 99 (1445842)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

รูปที่ 50 เป็นรูปที่ถ่ายขณะเข้าเดือยหางเหยี่ยวที่ท้ายโต๊ะครับ ซึ่งผมจะอธิบายทีละภาพดังนี้ครับ:

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 19:57:08


ความคิดเห็นที่ 100 (1445853)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง
image

เห็นภาพนี้แล้วคิดถึงเตี่ยเลยครับพี่

ผมว่าแบบสเก็ตมือที่พี่เขียนคลาสสิคดีครับพี่

 

อ่านหน้าถัดไปกดเลข2ข้างล่างเลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-15 20:25:09



1 2 3 4 »


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.