ReadyPlanet.com


ไม้เก่า...คิดให้ดีก่อนทิ้ง
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร


เมื่อปีที่แล้วช่วงที่ทำ โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม อยู่นั้นผมได้กลับไปย่านขายไม้เก่าที่อยุธยาหลายครั้งเพื่อหาไม้ประดู่มาเพิ่มสำหรับการทำพนัง ไม้ประกับท้ายโต๊ะ และปากกา ทุกครั้งที่ผมไปเดินหาไม้หากพบไม้ราคาไม่แพงผมก็จะซื้อติดมือกลับบ้านมาด้วย

ครั้งหนึ่งที่ไปบางบาลหลังจากที่ได้ไม้ตามต้องการแล้ว ผมเหลือบไปเห็นเสาไม้ท่อนหนึ่งยาวประมาณเมตรเศษตากแดดตากฝนอยู่ในกอหญ้าริมรั้ว เดินไปดูใกล้ๆเห็นลายไม้เดาว่าน่าจะเป็นไม้ประดู่ แต่ก็เป็นประดู่ที่มีแต่ตำหนิรอยผ่า รอยมีดถาก และรอยบากฝังคาน นอกจากนี้ก็มีรูน๊อต รูตะปู และตะปูฝังอยู่จำนวนมาก โดยรวมแล้วไม่น่าจะมีใครซื้อ ลองถามคนขายว่าไม้อะไร เขาก็บอกว่าไม้ประดู่แต่อย่าเอาไปและไม้มันไม่สวย ผมรู้สึกเสียดานและคิดว่าถ้าไปอยู่กับผมน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าจึงออกปากขอซื้อ คนขายก็ขายให้ราคาร้อยกว่าบาท 

ถ้านึกอยากเห็นภาพของเสาต้นนี้ อดใจรอหน่อยนะครับ อีกเดี๋ยวก็จะได้เห็นครับ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาพี่เติมกับผมได้ฤกษ์เริ่มสร้างโต๊ะเราเตอร์ตัวใหม่มาแทนของเดิมที่มีใช้อยู่คนละตัว ตามแบบที่วางไว้ขอบโต๊ะและรางลิ้นจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เราพยามเลือกไม้เก่าที่เหมาะกับงานจากที่เก็บไม้และก็เห็นพ้องกันว่าน่าจะลองผ่าเสาไม้ประดูที่ผมเล่าถึงข้างต้นเพื่อดูเนื้อไม้



ผู้ตั้งกระทู้ เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-27 00:13:34


1

ความคิดเห็นที่ 1 (1503270)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ก่อนจะผ่าก็ต้องสำรวจเศษตะปูให้ทั่วแล้วถอนออกให้มากที่สุด เพราะกลัวจะไปทำใบกบบิ่นขณะไส ส่วนใบเลื่อยผมไม่กลัวเศษตะปูมากนักเพราะเป็นใบสำหรับเลื่อยเหล็ก

ตามรูปที่ 1 การถอนตะปูที่หักคาเนื้อไม้นั้นเราจะต้องเปิดเนื้อไม้ออกให้เห็นตะปูเพื่อที่จะให้คีมหนีบได้สะดวก เราทอลองหยอดน้ำมันพืชลงข้างตัวตะปูแล้วพบว่าถอนได้ง่ายขึ้นครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:14:56


ความคิดเห็นที่ 2 (1503271)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรูปที่ 2  พี่เติมกำลังใช้คีมปากนกแก้วต่อด้ามเพื่อถอนตะปูขนาด 4 นิ้วที่หักคาเสาออกมา

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:15:44


ความคิดเห็นที่ 3 (1503272)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรูปที่ 3 จะเห็นเศษตะปู 4 นิ้วที่หักคาอยู่ในเสาที่เราถอนหรือบ่งออกมาออกมา โดยรวมแล้วถอนตะปู 4 นิ้วได้ 4 ตัว และตะปูตัวเล็กอีกสิบกว่าตัวครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:18:27


ความคิดเห็นที่ 4 (1503273)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรูปที่ 4 ท่านจะได้เห็นภาพของเสาไม้ประดู่เก่าซึ่งจะเห็นเป็นสีเทาและมีรอยบากเต็มไปหมด

ในภาพพี่เติมกำลังใช้เลื่อยสายพานในการผ่าไม้หรือโกรกไม้ครับ เลื่อยที่เห็นเป็นของมากิต้าขนาด 12 นิ้ว ใบที่ใช้เป็นใบเลื่อยไฮสปีดขนาด 4/6 ฟันต่อนิ้วของซิมมอนด์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:20:40


ความคิดเห็นที่ 5 (1503274)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรอยผ่ามีตะปูเหลืออยู่ตัวหนึ่งเราจึงทดลองเลื่อยดูเพื่อทดสอบใบ ผลออกมาอย่างที่เห็นในรูปที่ 5 ครับ ระหว่างใบเลื่อยกินเนื้อตะปูก็มีเสียงดังขึ้นกว่าปกตินิดหน่อยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:22:19


ความคิดเห็นที่ 6 (1503275)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

หลังผ่าไม้และไสปรับให้ได้หน้าเรียบสำหรับอ้างอิงหนึ่งหน้า เราก็ซอยไม้ให้ได้ขนาด ตามรูปที่ 6 ผมกำลังซอยไม้โดยใช้จิ๊กซอยไม้

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:23:09


ความคิดเห็นที่ 7 (1503277)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

จิ๊กนี้ใช้งานได้ดีมากครับ ตามรูปที่ 7 จะเห็นว่าใบเลื่อยอยู่ใกล้ขอบมาก ผิวไม้ด้านนอกที่เห็นจะเป็นคลื่นไม่เรียบเพราขณะโกรกนั้นไม่มีผิวเรียบที่แนบกับรั้วครับ

ผมเคยทดลองใช้เลื่อยตัวนี้ใส่ใบไฮสปีด 4/6 ของซิมมอนด์ทดลองผ่าไม้ประดู่กว้าง 6 นิ้ว โดยผ่าบาง 1-2 มม.กับคุณเชน คุณ Solar คุณเซี่ยงและท่านอื่นๆมาแล้วผลออกมาเรียบดีมาก ดีจนท่านที่มีเลื่อยสายพานสั่งซื้อใบเลื่อย 4/6 ของซิมมอนด์จากร้านวังแดงที่สะพานเหลืองไปคนละใบเลยครับ เรื่องการทดสอบใบเลื่อยนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจควรแก่การเขียนถึงอย่างละเอียดอีกครั้งครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:24:01


ความคิดเห็นที่ 8 (1503278)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

จากนี้ก็อยากให้ท่านชมภาพซึ่งเป็นใจความสำคัญสนับสนุนหัวเรื่องที่ว่า ไม้เก่า...คิดให้ดีก่อนทิ้ง ครับ

ตามรูปที่ 8 ลองชมภาพก่อนและหลังการผ่านะครับ หลังผ่าออกมาไม่เหลือเค้าเดิมเลยครับ เป็นเจ้าเงาะถอดรูปไปเลยครับ จะเห็นเนื้อไม้ประดู่แดงที่สวยงามและมีกลิ่นหอมคล้ายควันธูปคลุ้งออกมา

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:26:37


ความคิดเห็นที่ 9 (1503279)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ไม่น่าเชื่อว่าเนื้อไม้ข้างในจะสวยอย่างที่เห็นในรูปที่ 9 ภาพที่เห็นเป็นผิวที่ผ่าด้วยเลื่อยสายพานเท่านั้นนะครับยังไม่ได้ไส

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:27:16


ความคิดเห็นที่ 10 (1503280)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อไสแล้วได้หน้าตาตามรูปที่ 10 ครับ ลายไม้มีสีส้มและเหลืองแทรกแปลกตา ผิวเรียบลื่นดีมากครับ

ระหว่างไสให้ได้ขนาดก็รูสึกได้ว่าเนื้อไม้แข็งมาก ลับใบกบมาใหม่ๆไสได้ไม่ถึงสิบนาทีก็หมดคม

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:28:56


ความคิดเห็นที่ 11 (1503281)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมอยากทราบว่าเนื้อไม้แน่นขนาดไหนจึงวัดขนาดและชั่งน้ำหนักตามรูปที่ 11 เพื่อคำนวณหาความถ่วงจำเพาะ หรือ ความหนาแน่น ของเนื้อไม้ ได้น้าหนักของชิ้นงาน 520 กรัม

ส่วนปริมาตรก็ได้จากการวัดความกว้าง B หนา T และ ยาว L แล้วเข้าสูตรคำนวณ ได้ปริมาตร 496 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร 

ผลออกมาได้ความถ่วงจำเพาะ (ถพ.) อยู่ที่ 1.05 หรือเทียบเท่าความหนาแน่น 1,050 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นความหนาแน่นที่สูงมากสำหรับไม้ประดู่ อาจเป็นได้ว่าไม้ชิ้นนี้มาจากแก่นใกล้โคนต้นมากเนื้อจึงแน่นเช่นนี้

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:33:57


ความคิดเห็นที่ 12 (1503282)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

สำหรับผู้ที่สนใจสูตรคำนวณความถ่วงจำเพาะ หรือความหนาแน่นก็ดูได้จากรูปที่ 12 ครับ

 

จากเรื่องที่เล่ามานี้ท่านคงเห็นด้วยกับผมว่า ไม้เก่า...คิดให้ดีก่อนทิ้ง ใช่ไหมครับ?

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 00:35:26


ความคิดเห็นที่ 13 (1503304)
avatar
peter o-ver

โอววว.....ไม้สวยมากเลยครับพี่เขมทัต

ตั้งแต่ผมทำเรือจำลองมา ผมจะเห็นคุณค่าของเศษไม้มากๆ

เศษไม้ทุกชิ้นที่ช่างไม้ไม่ใช้แล้ว ผมจะขอมาเก็บไว้ในตะกร้าใบใหญ่ของผมครับ

เศษไม้ทุกชิ้นมีค่าสำหรับคนทำงานจำลองมากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น peter o-ver ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 01:57:50


ความคิดเห็นที่ 14 (1503313)
avatar
tphen

เป็นไม้ที่ใสแล้วสวยมากครับคุณเขมทัต.

งานผมหลายงานใช้ไม้เก่ามาทำ จากไม้พาเลท ถึงแม้ไม่ใช่ใม้เนื้อแข็ง

เลือกดูึ คัดไม้มาทำเหมือนกันครับ ทำแล้วเศษไม้ยังรู้สึกเสียดายไม่ิทิ้ง

เต็มไปหมดเหมือนกันครับ /

ผู้แสดงความคิดเห็น tphen (tphen-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 08:31:24


ความคิดเห็นที่ 15 (1503316)
avatar
เอกครับ

ขอบคุณพี่เขมทัตครับ ที่สละเวลามาแบ่งปันความรู้ เป็นการรักษาทรัพยากรอันมีค่า เหมือนเอาหินมาเจียรไนให้กลายเป็นเพชรเลยครับ  เป็นผมคงจะเอาไว้เป็นขอนรองได้อย่างเดียว

ของจะดีก็ต่อเมื่อมีคนเห็นค่าของมัน

ผู้แสดงความคิดเห็น เอกครับ วันที่ตอบ 2012-06-27 08:58:57


ความคิดเห็นที่ 16 (1503420)
avatar
ดมแต่ฝุ่น

สอบถาม ลุงเขมทัต นะครับ ถ้าผมเอาไปแปลรูปทำเดือยสำเร็จ ตัวเดือยจะแข็งแรงมากไหม๊ครับกับความหน่าแน่ขนาดนี้ พอดีทีบ้านผมมีเศษอยูหลายท่อน กำลังคิดอยู่ครับ เพราะเวลาผมบิวบ้านลูกค้าไปเจอจังหวะที่ต้องใช้เดือย ยาวๆเหมือนกัน

ผู้แสดงความคิดเห็น ดมแต่ฝุ่น วันที่ตอบ 2012-06-27 13:41:48


ความคิดเห็นที่ 17 (1503426)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนคุณดมแต่ฝุ่น

ผมไม่เข้าใจคำถามที่ว่า "ผมเอาไปแปลรูปทำเดือยสำเร็จ ตัวเดือยจะแข็งแรงมากไหม๊ครับกับความหน่าแน่ขนาดนี้" ก็เลยไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไรครับ

ช่วยอธิบายด้วยครับว่าเศษไม้ที่จะทำเดือยมีขนาด กว้าง หนา ยาว เท่าไร และเดือยสำเร็จที่ตั้งใจจะทำนั้นเป็นแบบไหน ใช้งานประเภทใด

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 14:33:28


ความคิดเห็นที่ 18 (1503488)
avatar
changchai

กระทู้นี้ทำให้ผมเห็นคุณค่าของไม้เก่าขึ้นเยอะเลยครับ

แถมยังได้ความรู้สูตรการคำนวนหาความถ่วงจำเพาะของไม้

สุดท้ายขอถามคุณเขมทัตหน่อครับ

ถ้าเราอยากรู้ว่าไม้นั้นเนื้ออ่อนหรือว่าเนื้อแข็งขนาดไหนเราสามารถใช้สูตรนี้ได้เลยใช่ไหมครับ

ความถ่วงจำเพราะยิ่งมากไม้นั้นก็จะแข็งมากใช่ไหมครับ

ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น changchai (chai-elecs-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 17:40:14


ความคิดเห็นที่ 19 (1503493)
avatar
sornid
image

สนับสนุนครับ ไม้เก่าเก็บไว้เถอะครับ มีประโยชน์เสมอ แต่ผมเก็บหมดครับ บางทีมีเศษเหล็ก ลูกบิดเก่า รางอลูมิเนียม ฯลฯ เอหรือว่่าเก็บมากเกินไปครับ เลยรกอย่างนี้

ผู้แสดงความคิดเห็น sornid (sorsarid-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 18:27:41


ความคิดเห็นที่ 20 (1503539)
avatar
peter o-ver
image

           วันนี้ดีใจมากครับที่คุณยุ่น ได้อ่านกระทู้นี้ แล้วเห็นผมโพสท์เรื่องเศษไม้ที่มีค่าสำหรับผม ช่วงบ่ายคุณยุ่นก็ขนเศษไม้เมเปิ้ล (และคุณเปิ้ล)เอามาฝากผมถึงที่บ้านบางบอนเลย ประทับใจมั่กๆ แล้วคุณเปิ้ลก็มีขนมติดไม้ติดมือมาด้วย ประทับใจสองเด้งเลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น peter o-ver ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 20:27:39


ความคิดเห็นที่ 21 (1503559)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

อิจฉาวุ้ยยยยยยยยยยยยยยยย......อยากกินขนม

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 20:32:34


ความคิดเห็นที่ 22 (1503565)
avatar
peter o-ver

กินขนมคงไม่ให้หรอกนะ เพราะผมจะเอาไว้กินพรุ่งนี้แทนข้าวอ่ะ

(พรุ่งนี้กินมังสะวิรัติอนุโมทนาบุญให้คุณเปิ้ลและคุณยุ่นด้วย)

คุณเอ๋เอาเศษไม้ไปกินก่อนได้มั้ย ของรักของหวงเลยนะเนี่ย

ผู้แสดงความคิดเห็น peter o-ver ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 20:43:06


ความคิดเห็นที่ 23 (1503569)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

เอาไว้วันไหนว่าง พร้อมๆกัน นัดไปบ้านพี่เขมทัตกันเลยดีมั้ย
จะไปถ่ายภาพกับคุณพ่อพี่เขมทัต เอาไปอวดเตี่ย555
(แทนที่จะไปคุยเรื่องงานไม้)

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 20:47:22


ความคิดเห็นที่ 24 (1503576)
avatar
ปราโมทย์ พิดโลก

 ผมก็ชอบเก็บเศษไม้เหมือนกัน....ยอมให้รกบ้างดีกว่าปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ ครับ.....งานบางครั้งก็ได้เศษไม้ที่เก็บไว้นั่นแหละช่วยให้สำเร็จไปได้ด้วยดี

ผู้แสดงความคิดเห็น ปราโมทย์ พิดโลก (motepits6-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 21:02:08


ความคิดเห็นที่ 25 (1503637)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

 

เรียนคุณ changchai

คำถามที่คุณถามตอบยากครับ ผมจะพยามตอบให้ชัดเจนที่สุดนะครับ

คำถามสองข้อของคุณ  ผมมีความเห็นดังนี้ครับ

1) ถ้าเราอยากรู้ว่าไม้นั้นเนื้ออ่อนหรือว่าเนื้อแข็งขนาดไหนเราสามารถใช้สูตรนี้ได้เลยใช่ไหมครับ ไม่ได้ครับ

2) ความถ่วงจำเพราะยิ่งมากไม้นั้นก็จะแข็งมากใช่ไหมครับ ไม่ได้ครับ

ค่าความถ่วงจำเพาะเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่มีผลต่อเรื่องกำลังหรือความแข็งแรงของไม้ครับ แต่ไม่ใช้ตัวแปรตัวเดียว ถพ. จะเป็นตัวบอกเราว่าไม้หรือวัสดุใดมีเนื้อที่แน่นและหนักมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ได้บอกว่าไม้อ่อนหรือแข็งขนาดไหน

ส่วนคำจำกัดความของคำว่าไม้เนื้ออ่อน หรือไม้เนื้อแข็งนั้น อ่านหลักเกณฑ์การแบ่งไม้เนื้ออ่อนไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้ซึ่งเขียนโดย โดยคุณบางรักษ์ เชษฐสิงห์ นักวิชาการป่าไม้ 5 น อยู่ครับ ถ้าสนใจก็อ่านได้ที่ลิงค์นี้ครับ:

http://www.baannatura.com/th/mat/content/detail/136.html

คำว่าแข็งมีความหมายคลุมเครือเกินไป ถ้าความแข็งที่ว่าหมายถึงความทนทานต่อแรงกระทำแล้ว เราก็ต้องแยกอีกว่า ทนต่อแข็งต่อแรงกด แรงดึง หรือแรงเฉือน ครับ 

ไม้ต่างชนิดที่มีค่าถพ. เท่ากันก็จะอาจจะมีค่าความทนทานทั้งสามที่ต่างกันและอาจสวนทางกับค่าถพ.ก็ได้

แต่สำหรับกรณีที่ถพ.ของไม้สองชนิดต่างกันมากๆเช่นไม้สัก (ถพ. 0.62) กับไม้แดง (ถพ. 1.05) แล้วละก็บอกได้เลยครับว่าไม้แดงจะทนทานต่อแรงกระทำทั้งสามแบบสูงกว่าไม้สัก

 

ถ้าสนใจเรื่องของความแข็งแรงหรือกำลังไม้อ่านเรื่องคุณสมบัติของไม้ทางกลของ ผศ.ทรงกลด จารุสมบัติ ได้ที่ลิงค์นี้ครับ:

http://www.baannatura.com/th/mat/content/detail/115.html

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 23:04:36


ความคิดเห็นที่ 26 (1503642)
avatar
ปริญญาช่าง พัทยา

 

ไม้เก่าไม้ใหม่มีคุณค่าทั้งสิ้น  เศษไม้ก็เช่นกัน  เก็บไว้ใช้นะครับ อย่าทิ้งกัน...เดี๋ยวช่างไม้มีแต่ชื่อช่าง  ไม่มีไม้ให้ทำ..

ผู้แสดงความคิดเห็น ปริญญาช่าง พัทยา (prinya-chang-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-27 23:28:37


ความคิดเห็นที่ 27 (1503681)
avatar
yunlefty

เรียนถามพี่เขมทัตครับ

การซื้อไม้เก่ามีวิธีเลือกอย่างไรบ้าง ข้อควรระวังตอนเลือกซื้อและข้อควรระวังในการทำไม้เก่าครับ

                                                                      ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น yunlefty (yunlefty-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 06:39:16


ความคิดเห็นที่ 28 (1503687)
avatar
yunlefty

พี่ปีเตอร์ครับ ผมคิดว่าเศษไม้ที่ผมเอาไปให้ ได้อยู่ถูกที่ถูกคนแล้วครับ ถ้ายังอยู่กับผมคงอีกนานกว่าจะได้ใช้ แถมยังไม่สวยงามขาดความละเอียดอีกต่างหาก ..... และผมขอขอบคุณพี่ปีเตอร์อีกครั้งสำหรับ แท่นเลื่อยฉลุ ผมจะรีบศึกษาและสร้างให้เสร็จโดยเร็วครับ  

คืดไม่ถึงว่าแม้แต่ขนมฝากนี่ก็ถูกที่ถูกเวลาด้วย ผมกับเปิ้ลขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

พี่เอ๋(เพาะช่าง)  :   ขนมของพี่มีแน่นอนครับ เห็นว่าเปิ้ลจะทำขนม "ตุ๊บตั๊บ" ไปฝากพี่เอ๋  นี่ผมก็เร่งทำฆ้อนไม้ให้อยู่ อดใจรอนิดนึงนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น yunlefty (yunlefty-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 07:26:37


ความคิดเห็นที่ 29 (1503724)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

โดน2คนผัว-เมีย รุมแน่เราไม่น่าไปขอขนมเขาเล้ยยยย

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 09:35:11


ความคิดเห็นที่ 30 (1503836)
avatar
พระมหาวิชาญ สุขวฑฺฒโน

เห็นสีของเนื้อไม้แล้วไม่ธรรมดาครับ เนื้อไม้แดงดีความแกร่งคงไม่ต้องพูดถึง  เห็นด้วยเลยกับหัวข้อกระทู้  หลายๆ ท่านรวมทั้งอาตมาด้วยบางครั้งอาจจะมองแล้วข้ามไป  แต่คราวนี้คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ครับ มองแล้วสะดุดสักนิดจะได้ไม่ข้าของดีไป 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พระมหาวิชาญ สุขวฑฺฒโน (vichan02-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 12:31:20


ความคิดเห็นที่ 31 (1503901)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

คำตอบสำหรับคำถามของคุณยุ่น ยาวหน่อยนะครับ

คำแนะนำในการเลือกซื้อไม้เก่า


ถ้าใจของท่านคิดว่าร่องรอยบนไม้เก่าคือตำหนิ หรือท่านไม่สามารถรับรอยตะปูได้แม้แต่น้อย หรือท่านไม่พร้อมที่จะลงแรงตัดแต่งแปรรูปไม้เก่าเพื่อคัดและชูคุณภาพที่อยู่ด้านใน แล้วผมก็แนะนำว่าอย่าเสียเวลากับไม้เก่าเลยครับ เพราะไม้เก่าทุกชิ้นจะมากับร่องรอยจากการใช้งานและการรื้อถอนและเราต้องออกแรงคัด ตัด แต่งไม้ก่อนจะใช้งานครับ

แต่ถ้าใจท่านคิดว่าเนื้อไม้เก่าส่วนใหญ่ได้อายุและแกร่งกว่าไม้ใหม่ และร่องรอยบนไม้เก่าคือลักษณะพิเศษเฉพาะตัวซึ่งเสริมคุณค่าให้กับชิ้นงานแล้ว และท่านมีความพร้อมที่จะคัดเลือกตัดแต่งไม้เก่าแล้ว ผมก็คิดว่าน่าจะมีไม้ดีๆในกองไม้ใช้แล้วไม่น้อยที่รอให้ไปคัดเลือกออกมาก่อนที่จะหมดไป

ผมเคยคุยเล่นๆกับหลายท่านว่าระหว่างฝากเงินไว้กับธนาคารกับซื้อไม้เก่าคุณภาพดีนั้น ผมเลือกอย่างหลังครับ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม้คุณภาพดีมีจำนวนน้อยลงทุกวันในขณะที่ความต้องการมีเพิ่มมากขึ้นทั้งจากในและนอกประเทศ 

ถ้านำไม้เก่าไปเทียบกับที่ดินซึ่งมีปริมาณคงที่และนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าราคาจะขึ้นตามความต้องการแล้วผมเชื่อว่าราคาของไม้เก่าน่าจะขึ้นแรงกว่าที่ดินด้วยซ้ำเพราะจำนวนไม้มีแต่จะลดลงขณะที่ความต้องการมีแต่เพิ่ม

ด้วยความเชื่ออย่างนี้ และความที่ชอบทำงานไม้ผมจึงชอบที่จะไปแลวะเข้าไปดูไม้ตามโรงไม้เก่าอยู่ครับ


ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำของผมในการเลือกซื้อไม้เก่าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 15:49:09


ความคิดเห็นที่ 32 (1503902)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

 

1) ทำการบ้านให้เสร็จก่อนออกจากบ้าน โดยคิดให้ดีว่าเราต้องการไม้ชนิดใด คุณภาพของผิวแบบไหน ขนาด กว้าง ยาว หนา เท่าใด จำนวนกี่ชิ้น คิดเสร็จแล้วก็เขียนรายการออกมาให้ชัดเจน

2) ตั้งราคาในใจที่เหมาะสมสำหรับเรา สำหรับผมใช้หลักง่ายๆว่าถ้ามีไม้ใหม่ให้เลือกแล้วผมจะไม่จ่ายราคาไม้เก่าเกินครึ่งหนึ่งของราคาไม้ใหม่ ที่มีขนาดเท่ากัน ถ้าเป็นไม้ที่ไม่มีไม้ใหม่เช่น ชิงชัน หรือ ไม้เขลง (บางพื้นที่เรียก เข็ลง, เคง, หมากเคง, หยี หรือ นางดำ)  เราก็ต้องหาราคาที่คุ้มค่าสำหรับเราโดยวิธีอื่น เรื่องราคาในใจนี้ผมจะขยายความอีกครั้งในข้อที่ 7 ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 15:49:12


ความคิดเห็นที่ 33 (1503906)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

3) เตรียมเครื่องคิดเลขไปคำนวณราคาไม้ให้อยู่ในมาตราที่เราคุ้นเคยและเตรียมตลับเมตรไปวัดขนาดจริงของไม้

ตลาดไม้เก่ามีวิธีการระบุราคาที่ค่อนข้างจะสับสนสำหรับคนทั่วไปครับในขณะที่ร้านขายไม้ใหม่ส่วนใหญ่จะคิดราคาต่อลูกบาศก์ฟุต (คิว) ร้านไม้เก่าจะบอกราคาต่อยก ราคาต่อศอก หรือราคาเป็นชิ้น เราต้องพร้อมที่จะแปลงราคามาอยู่ในหน่วยที่เราคุ้นเคย สำหรับผมผมแปลงทุกอย่างให้เป็นลูกบาศก์ฟุตหรือคิวครับ

เพื่อความถูกต้องในการคำนวณราคาเราต้องทราบขนาดที่แท้จริงของไม้ซึ่งอาจต่างจากขนาดระบุ (ขนาดไม้ที่คนขายบอกเรา) ก็ได้ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตลับเมตรเพื่อวัดขนาดไม้ด้วยตัวเองและเตรียมเครื่องคิดเลขเพื่อคำนวณหาราคาต่อหน่วยให้แม่นยำ

สำหรับตลับเมตรผมชอบใช้รุ่นใหญ่ตามรูปที่วัดได้ถึง 7.5 เมตร ตามรูปที่ 13 เราสามารถจะยื่นใบออกจากตัวตลับได้กว่า 2 เมตรเพื่อสอดหรือทาบบนไม้ที่จะวัดโดยไม่ต้องเดินเข้าไปเกี่ยวตะขอที่ปลายใบกับขอบเพราะใบที่กว้างและหนา

ส่วนเครื่องคิดเลขก็แล้วแต่ถนัดครับผมมักจะใช้เครื่องคิดเลขในโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่งของผมคำนวณปริมาตรและราคาครับ

 

สำหรับการคำนวณเทียบราคาไม้ผมจะยกตัวอย่างประกอบให้เข้าใจง่ายขึ้นนะครับ

ตัวอย่างที่ 1:

สมมุติว่าร้านขายไม้เก่าย่านปากกราน จังหวัดอยุธยาบอกผมว่าไม้สัก กว้าง 1 นิ้ว หนา 6 นิ้ว ราคายก ละ 30,000 บาท ผมก็ต้องแปลงปริมาตรไม้ 1 ยกให้เป็นคิวเพื่อทราบราคาต่อคิวว่าเหมาะสมกับคุณภาพหรือไม่ โดยวิธีการดังนี้:


ไม้ 1 ยกจะมีพิ้นที่ 4 x 4 = 16 ตารางเมตร เทียบเป็นตารางนิ้วโดยประมาณก็คูณด้วย 1,600 จะได้ว่า
ไม้ 1 ยก =  16 x 1,600 = 25,600 ตารางนิ้ว
ไม้ 1 นิ้วที่มีพื้นที่ 1 ยก จะมีปริมาตร = 25,600 x 1 ลูกบาศก์นิ้ว ถ้าแปลงเป็นคิวหรือลูกบาศก์ฟุตก็หารด้วย 1,728

ดังนั้นไม้กระดานหนา 1 นิ้ว 1 ยกก็จะมีปริมาตร = 25,600 / 1,728 = 14.81 ลบ.ฟุต (คิว)
 

เมื่อทราบปริมาตรเป็นคิวแล้วเราก็แปลงราคาเป็น บาทต่อคิวดังนี้ครับ
30,000 บาท / ยก = 30,000 บาท / 14.81 คิว = 2,025 บาท/คิว

ตัวอย่างที่ 2:

สมมุติว่าร้านขายไม้เก่าย่านบางบาล จังหวัดอยุธยาบอกผมว่าเสาไม้เขล็งหน้า 8 นิ้ว ราคาศอกละ 500 บาท ผมก็ต้องแปลงปริมาตรไม้เสา 1 ศอกให้เป็นคิวเพื่อพิจารณาราคาต่อคิวว่าเหมาะสมกับคุณภาพหรือไม่โดยวิธีการดังนี้:

ไม้ 1 ศอกจะยาว 50 ซม. หรือ 20 นิ้วโดยประมาณ
ไม้เสาหน้า 8 x 8 นิ้วที่ยาว 1 ศอกจะมีปริมาตร = 8 x 8 x 20 = 1,280 ลูกบาศก์นิ้ว ถ้าแปลงเป็นคิวหรือลูกบาศก์ฟุตก็หารด้วย 1,728
 

ดังนั้นไม้เสาหน้า 8 x 8 นิ้วที่ยาว 1 ศอกก็จะมีปริมาตร = 1,280 / 1,728 = 0.74 ลบ.ฟุต (คิว)
 

เมื่อทราบปริมาตรเป็นคิวแล้วเราก็แปลงราคาเป็น บาทต่อคิวดังนี้ครับ
500 บาท / ศอก = 500 บาท / 0.74 คิว = 674 บาท/คิว

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 15:52:55


ความคิดเห็นที่ 34 (1503907)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

4) ไปถึงร้านขายไม้ช่วงเช้าหรือไม่เกินบ่ายต้นๆจะได้มีเวลาเลือกไม้หลายๆร้านขณะที่มีแสงสว่างพอเพียงที่จะเห็นตำหนิบนเนื้อไม้อย่างชัดเจน จะน่าเสียดายมากถ้าเรามาเจอตำหนิที่บ้านในเช้าวันรุ่งขึ้น


5) เราต้องคัดไม้เก่าทุกชิ้นที่จะซื้อให้ได้คุณภาพที่ต้องการ ไม้เก่าจะมีร่องรอยการใช้งานและรื้อถอนมาแล้วทั้งสิ้น จะมากหรือน้อยเราต้องเลือกคัดเอง ถ้าไม้มีรอยบาก รอยตะปู หรือรอยแตกร้าวมาก ราคาต่อคิวต้องลดลง และเรา ต้องซื้อไม้เผื่อเสียไว้จำนวนหนึ่ง

6) เผื่อขนาดสำหรับ ตัด ไส แต่งให้ พอเพียง

7) เวลาตั้งราคาในใจสำหรับไม้เก่าให้ตระหนักเสมอว่า ต้นทุนในการใช้ไม้เก่านั้นประกอบด้วยค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่นอกเหนือจากไม้ด้วย เช่น ค่าเศษไม้ที่ต้องเผื่อ เวลาที่ต้องพิถีพิถันในการเลือก เวลาที่เตรียมไม้และแปรรูปให้ได้ขนาดที่ต้องการ การสึกหรอที่เกิดจากการตัดไสเศษตะปู ที่มองไม่เห็น ค่าขนส่ง

8) ถ้าได้ยินจากเพื่อนว่าเขาซื้อไม้ได้ถูกกว่าที่เราซื้อ หรือบอกว่าเราซื้อแพงก็อย่าน้อยใจนะครับ จงยิ้มตอบอย่างดีใจและบอกเขาว่า “ดีจังเลย ช่วยพาผมไปซื้อไม้ในราคาที่ว่าหน่อยสิครับ” ถ้าเขาพาไปแล้วเราซื้อได้จริงก็เป็นลาภอันประเสริฐที่เรามีเพื่อนที่รู้จริงและมีน้ำใจ แต่ถ้าซื้อไม่ได้เราก็จะได้สบายใจว่าราคาที่เราซื้อไม่ได้แพงเกินจริง

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 15:55:43


ความคิดเห็นที่ 35 (1503935)
avatar
เอกครับ

พี่เขตทัต ข้อมูลแน่นจริงๆ 

ผมชอบแนวคิดทุกข้อเลยครับ ที่สำคัญข้อ 8) คนจำพวกนี้มีอยู่เยอะในสังคมครับ ทั้งเพื่อนทั้งคนรู้จัก บางครั้งเราได้อะไรมาเพื่อนมักจะพูดเสมอว่าทำไมไม่บอกวะ ซื้อที่โน่น นี่ นั่น ถูกกว่าอีก กรรม แล้วเราจะรู้มั้ยเนี่ยว่าซื้อที่ไหนถูก สำหรับผมเอาสะดวกและสบายใจดีกว่า

ถ้าผมจะซื้อไม้เก่า ผมต้องมาเปิดอ่านทบทวน 1-8 ข้อนี้ก่อนจะได้ไว้เป็นฐานข้อมูล

ขอบคุณพี่เขมทัตครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เอกครับ วันที่ตอบ 2012-06-28 17:21:29


ความคิดเห็นที่ 36 (1503964)
avatar
changchai

ขอบคุณ คุณเขมทัตมากครับ

ผมพอเข้าใจแล้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น changchai (chai-elecs-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 18:12:45


ความคิดเห็นที่ 37 (1503974)
avatar
yunlefty

ขอบคุณครับพี่เขมทัต พอดีผมมีอุปกรณ์บางชิ้นที่อยากทำ คิดว่าต้องใช้ไม้เก่า ได้ข้อมูลแบบนี้เยี่ยมเลยครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น yunlefty (yunlefty-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-28 18:27:52


ความคิดเห็นที่ 38 (1504005)
avatar
jack

ช่วยเสริมพี่เขมทัตเรื่องไม้เก่าในหัวข้อ 2 และ ข้อ7 นิดนึงครับ

เผื่อท่านอื่นจะซื้อไม้เก่ามาทำงาน   เพราะไม้เก่าที่ขายกันบางทีเวลาเอามาทำงาน หัก ไส ชิด ตัด แต่ง แล้ว  บางทีปริมาตรอาจ ไม่ถึงราคาที่เราซื้อมาก็ได้ครับ   ยกตัวอย่างครับ 

ไม้เก่าที่ขายกันถ้านับตามพื้นที่ต่อ ยก คือ 16 ตร.ม.  ที่ขายกันทั่วไปคือ ไม้ 1" x 8" x 4 ศอก  = 40  ตัว  (ศอก = 50 ซม.)

ราคา ยกละ 30,000   แต่เราจะได้ไม้หนาแค่ 18-20 มม. เท่านั้นเองครับเมื่อปรับแต่งไม้แล้ว   เพราะไม้เก่าที่ขายที่ขายกันส่วนใหญ่เป็นไม้ชาวบ้านเลื่อยมือ  จะหนาบางไม้เท่ากัน เวลาปรับไม้แล้วส่วนใหญ่ จะได้ประมาณนี้ครับ

แต่ถ้าเราซื้อไม้โรงเลื่อยไปเลย  เราซื้อหนา 6 หุน ก็จะเท่ากับ  0.75 x 8" x 6.5"  = 0.271  x 40  =  10.833  คิวฟุต

ไม้ขนาดนี้ โรงเลื่อยขายในราคาประมาณคิวละ 3,300   เท่ากับเราซื้อไม้โรงเลื่อยในราคา 3,300 x 10.833                = 35,748  บาท    ต่างกันกับไม้เก่าเพียงแค่ ห้าพันกว่าบาท

แต่เราจะได้ไม้ที่เต็มกว่า  เพราะส่วนใหญ่ไม้โรงเลื่อยจะเผื่อเนื้อไม้ให้เราปรับ ไส แต่มาประมาณนึงครับ  และเราไม่ต้องเสียเวลาซ่อมแซมร่องรอยบนไม้เก่าอีกด้วย   

แต่ไม้เก่าบางท่อนก็ถูกมากจริง ๆ  ผมเคยซื้อประตูบานเฟี้ยมเก่ามา ขนาด 0.50 x 2.00 ม. เป็นไม้สักทั้งชิ้น ในราคาบานละ 1,000 บาท  ซึ่งเมื่อนำมาขัดแต่งแล้ว  สวยมากครับ

 

                                                  

ผู้แสดงความคิดเห็น jack วันที่ตอบ 2012-06-28 20:13:23


ความคิดเห็นที่ 39 (1504344)
avatar
นัทคุง

โอ้โห กระทู้ดี มีสาระ 

เก็บเข้าคลังด่วนนนนนน

ขอบคุณครับ พี่เขมทัต ข้อมูลแน่นปึ๊กจริง ๆ 

ผู้แสดงความคิดเห็น นัทคุง (nattbanphe-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-29 09:00:41


ความคิดเห็นที่ 40 (1504392)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนคุณ jack

ขอบคุณสำหรับตัวอย่างที่ยกประกอบครับ

แม้ว่าผมตั้งใจจะหมายถึงขนาดจริงของไม้ขณะที่เขียนเรื่องคำแนะนำ แต่เมื่อผมกลับไปอ่านข้อความในข้อ 2 ที่ผมเขียนอีกครั้งก็พอจะมองเห็นว่าอาจมีคนเข้าใจว่าขนาดของไม้เป็นขนาดที่ร้านระบุ (ซึ่งอาจเล็กกว่าวัดจริง) แทนที่จะเป็นขนาดตามจริงดังตัวอย่างของ คุณjack

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันผมได้กลับไปแก้ไขข้อคำแนะนำเดิมโดยเพิ่มคำขยายความเป็นตัวสีแดงในความเห็นที่ 32 และ 33 แล้วครับ

ขอบคุณคุณ jack อีกครั้งครับที่ช่วยเสริมความชัดเจน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-29 10:09:20


ความคิดเห็นที่ 41 (1504796)
avatar
ดมฝุ่น
image

แบบนี้ครับ ขนาด 10x30 mm ครับ บ่างครั้ง จะยาวกว่านี้ถ้าผมใช้แขวนกับผนัง ครับหรือเป็น เดื่อยประกอบเก้าอี้นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ดมฝุ่น (thaipro_n-at-yahoo-dot-co-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-30 10:51:27


ความคิดเห็นที่ 42 (1504874)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

 

เรียนคุณ ดมฝุ่น (ดมแต่ฝุ่น)

ได้เห็นภาพเดือยตามความเห็นที่ 41 แล้วก็เห็นภาพแล้วครับว่าคุณหมายถึงอะไร

ขอทวนคำถามอีกครั้งนะครับ "ถ้าผมเอาไปแปลรูปทำเดือยสำเร็จ ตัวเดือยจะแข็งแรงมากไหม๊ครับกับความหน่าแน่ขนาดนี้ พอดีทีบ้านผมมีเศษอยูหลายท่อน"

ฟังดูเหมือนที่บ้านคุณมีเศษไม้ประดู่เก่าหลายท่อนและคุณอยากนำไม้เก่าเหล่านี้ไปทำเดือยตามภาพด้านบน

วิธีที่ผมตรวจสอบกำลังของไม้เก่านั้น หลังเปิดผิวออกผมจะดูเนื้อไม้ด้านในเพื่อหารอยแตกร้าว เคาะเนื้อไม้เพื่อทดสอบความแน่น จากนั้นผมจะใช้วิธีสูดกลิ่นด้วยครับ ถ้าเป็นไม้ประดู่แดงที่ยังดีอยู่เราจะได้กลิ่นหอมคล้ายควันธูปโชยมา ถ้าเป็นไม้สักก็จะมีกลิ่นคล้ายใบยาสูบอ่อนๆ ในกรณีที่ไม้ไม่มีกลิ่นผมจะลองซอยเป็นชิ้นขนาดนิ้วก้อยยาวซัก 1 ฟุตแล้วทดสอบโดยการดัดด้วยมือทั้งสองข้าง เคยพบว่าไม้ที่ไม่มีกลิ่นหรือไม้ที่หมดยางแล้วจะเปราะดัดแล้วหัดง่ายมาก

ถ้าเนื้อไม้ประดู่ของคุณยังดีอยู่ก็น่าจะทำเดือยได้ครับ สำหรับเรื่องความแข็งแรงผมบอกได้เพียงว่าหากเนิ้อไม้ประดู่ยังดีอยู่จะแข็งแรงกว่าเดือยกลมไม้สักขนาดเดียวกันครับ ถ้าทำเดือยเองอย่าลืมเซาะร่องระบายกาวด้วยนะครับ

สำหรับการใช้เดือยเป็นสลักยึดขากับพนังเก้าอี้ก็ไม่น่าห่วงแต่เรื่องที่คุณดมฝุ่นบอกว่า "ยาวกว่านี้ถ้าผมใช้แขวนกับผนัง" นั้น น่าเป็นห่วงมากครับ เพราะถ้าคุณพูดถึงการแขวนตู้กับผนังด้วยเดือยไม้ยาวแล้วในความเห็นผมคิดว่าอันตรายมากครับ เพราะเราคาดเดายากว่าตู้จะใส่ของหนักเท่าไหร่ เดือยจะหลุดหลวมจากผนังปูนเมื่อไหร่ เดือยแขวนจะรับทั้งแรงเฉือนที่ตั้งฉากกับแกนยาวและแรงดัด เดือยยิ่งยาวก็จะยิ่งเปราะบางครับ ผมแนะนำว่าใช้พุกเหล็กที่เป็นน๊อตจะปลอดภัยกว่ามากครับ

หวังว่าผมแปลคำถามคุณถูกนะครับถ้าตั้งใจจะถามเรื่องอื่นก็ช่วยบอกด้วยครับ

  

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-06-30 21:35:21


ความคิดเห็นที่ 43 (1505167)
avatar
ดมแต่ฝุ่น

ขอบคุณ คุณเขมทัต มากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ดมแต่ฝุ่น วันที่ตอบ 2012-07-02 09:14:08


ความคิดเห็นที่ 44 (1511233)
avatar
สุรัตน์

 

ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกน้องใหม่ด้วยครับทุกคนพอดีผมกำลังจะทำเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าขายแต่ผมไม่มีความรู้เรื่องไม้เลยครับดูไม่เก่าก็ไม่ค่อยเป็นและกำลังหาเลื่อยที่จะใช้ซอยไม้อยากได้วิธีดูไม้เก่าว่าเป็นไม้อะไรใครพอมีวิธีช่วยบอกด้วยครับ..ตอนนี้มีไม้แดงจีนแต่บางคนว่ามันคือไม้พยุงตกลงแล้วมันคือไม้ชนิดเดียวกันใช่ไหมครับ...ไม้พยุงส่วนมากเขาเอาไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์อะไรกันคือว่ากลัวเอาไปทำแล้วเสียไม้อ่ะครับขอบคุณล่วงหน้าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สุรัตน์ (surat2520-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2012-07-24 23:01:18


ความคิดเห็นที่ 45 (1511255)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

 

เรียนคุณสุรัตน์

การดูไม้ต้องช่างสังเกต ช่างถาม และช่างลองครับ

ลายไม้ สี กลิ่น และน้ำหนักช่วยเราได้พอสมควรเลยครับ ไม้ที่ดูง่ายก็เป็นพวก ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้กันเกรา ไม้ยางนา ครับ

สำหรับไม้พะยุง (พะยูง) นั้นผมแยกจากไม้ชิงชันไม่ได้ครับเนื่องจากขาดความชำนาญ และความรู้ที่ได้มาค่อนข้างสะเปะสะปะ สับสน เวลาพบไม้พะยุงหรือชิงชันก็จะพอดูได้ว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะกลิ่น สี ลาย และน้ำหนัก ต่างจากไม้อื่นค่อนข้างชัดเจน

สำหรับไม้พะยุงกับไม้แดงจีนนั้น ผมไม่ทราบเลยครับว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เคยแต่ได้ยินพ่อค้าขายไม้เก่าแถวบางบาลหลายคนบอกว่าต่างกัน

แต่ก็เคยได้เห็นข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ที่ก็จัดไม้ทั้งสองให้อยู่ในประเภทเดียวกัน ข้อมูลนี้มาจากเว็ป ของสวนพฤกษศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/ ซึ่งจัดทำโดย

คุณอภิชาติ รัตนวิระกุล นักวิชาการป่าไม้ 7ว

สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 21  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

จัดทำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546

เนื้อหาในเว็ปของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ระบุไว้ดังนี้ครับ

"พะยูง                              LEGUMINOSAE–PAPILIONOIDEAE

Dalbergia cochinchinensis Pierre

ชื่ออื่น       พะยูงไหม (สระบุรี) ขะยูง (อุบลราชธานี) แดงจีน (ปราจีนบุรี) ประดู่ตม (จันทบุรี) ประดู่ลาย (ชลบุรี) ประดู่เสน (ตราด) กระยง กระยูง (เขมร สุรินทร์) หัวลีเมาะ (จีน)

ชื่อสามัญ ชื่อการค้า   Payung, Siamese Rosewood

        พะยูงเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง 10–25 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกและลอกเป็นแผ่นบางๆ เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ ก้านใบรวมแกนช่อใบยาว 10–15 ซม. มีใบย่อย 7–9 ใบ เรียงสลับ แผ่นใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3–4 ซม. ยาว 4–7 ซม. ปลายเป็นติ่ง โคนมนกลม หรือเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ ผิวใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ดอก สีขาว ออกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้ยอด ผล เป็นฝัก รูปขอบขนาน แบนและบอบบาง กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาว 4–6 ซม. ผิวฝักเกลี้ยง มี 1–4 เมล็ด

        พะยูงมีการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ทางภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 100–250 ม. ในต่างประเทศพบที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ออกดอกเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ฝักแก่ประมาณ 3–4 เดือนหลังจากออกดอก

        เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีแดงอมม่วงถึงสีเลือดหมูแก่ มีริ้วสีดำ เป็นเสี้ยนสน เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน และชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัว ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ เครื่องแกะสลัก หวี ไม้เท้า และด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ ได้สวยงาม ทนทาน และมีราคาแพง"

 

ผมก็ได้รับความเห็นมาทั้งที่บอกว่าพะยูงกับแดงจีนต่างกัน กับเหมือนกัน ตามที่เล่ามานี่แหละครับ เนื่องจากขาดความชำนาญเรื่องไม้ทั้งสองนี้ผมจึงไม่มีความเห็นเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งครับ และอยากจะฟังความเห็นจากผู้รู้จริงเหมือนกันครับ

ขอแถมท้ายด้วยรายละเอียดของไม้ชิงชันตามที่ระบุไว้ในเว็ปของกรมอุทยานฯ ผมคัดมาเฉพาะ ชื่อและลักษณะไม้ดังนี้ครับ

"ชิงชัน                           LEGUMINOSAE–PAPILIONOIDEAE

Dalbergia oliveri Gamble ex Prain

ชื่ออื่น       ประดู่ชิงชัน (ภาคกลาง) ดู่สะแดน พะยุงหิน อัญชัน (เพชรบูรณ์) เก็ดแดง (ภาคเหนือ) อีเม็ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พยุงแกลบ (สระบุรี) กะซิก กะซิบ หมากพลูตั๊กแตน (ภาคใต้)

ชื่อสามัญ ชื่อการค้า   Asiatic Rose Wood, Burma Tulip Wood Tamalan, Ching Chan

        เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง แก่นสีม่วงถึงน้ำตาลอมม่วง มีเส้นสีดำแทรก ละเอียดปานกลาง มีเสี้ยนสนเป็นริ้วแคบๆ แข็งและเหนียวมาก เลื่อยผ่าตกแต่งยากแต่ชักเงาได้ดีมาก ใช้ทำเครื่องเรือน ด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้สวยงาม ทนทานและมีราคาแพง"

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-07-25 00:26:14


ความคิดเห็นที่ 46 (1511845)
avatar
เอกครับ

ในความคิดผมนะครับ ผมเป็นคนไทยแท้ๆ แต่ไม่มีความรู้เรื่องไม้เลยเพราะ ไม่มีที่ให้ศึกษา ด้านการดูไม้ ทำให้อาจถูกหลอกหรือคนขายเองก็ยังไม่รู้ว่าไม้อะไร  อ่านแต่ในเวป แต่ไม่ได้เห็นของจริงก็คงตีไม่ออกว่าไม้อะไร

ผู้แสดงความคิดเห็น เอกครับ วันที่ตอบ 2012-07-27 16:19:17


ความคิดเห็นที่ 47 (1513814)
avatar
ภาสกร

ใบเลื่อย สามารถซื้อได้ที่ใหนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ภาสกร วันที่ตอบ 2012-08-04 01:15:09


ความคิดเห็นที่ 48 (1513818)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนคุณภาสกร

ถ้าตอบให้ตรงคำถามของคุณก็คงต้องตอบว่าซื้อได้ที่ร้านขายใบเลื่อยครับ แต่ผมสงสัยว่าคงไม่ใช่คำตอบที่คุณอยากได้แน่

ช่วยเฉลยให้กระจ่างหน่อยดีไหมครับว่าคุณกำลังถามถึงใบเลื่อยอะไรอยู่ครับ?

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-08-04 01:41:41


ความคิดเห็นที่ 49 (1515043)
avatar
ภาสกร

ใบเลื่อยสายพาน ที่ใช้ตัดไม้ประดู่ครับ พอดีมีเครื่องเลื่อยรุ่นนี้ครับ อยากจะเอามาลองดูครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ภาสกร วันที่ตอบ 2012-08-06 22:04:50


ความคิดเห็นที่ 50 (1515094)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนคุณ ภาสกร

ขอบคุณที่ให้ความชัดเจนในเรื่องที่ถามครับ

ระยะนี้มีหลายท่านติดต่อผมมาเรื่องใบเลื่อยสายพานไฮสปีดฟัน 4/6 หน้ากว้าง 3/4 นิ้ว ผมจึงขอถือโอกาสแจ้งรายละเอียดให้ทราบทั่วกันดังนี้นะครับ:

ใบผ่าซอยไม้ที่ผมใช้อยูและเห็นในรูปด้านบนเป็นยี่ห้อซิมมอนด์ Simmonds ของอเมริกาครับ ใบนี้เป็นใบเลื่อยสายพานดีที่สุดที่ผมเคยใช้กับเลื่อยมากิต้าตัวนี้แล้วครับ แม้จะเป็นใบตัดเหล็กไม่ใช้ใบตัดไม้โดยตรงก็ตัดไม้ได้ดีมาก เนื้อเหล็กไฮสปีดน่าจะทนทานต่อการสึกหรอมากกว่าใบเหล็กกล้าคาร์บอนที่มากับเครื่องหลายเท่า

จากการใช้งานผมพบว่ากำลังของใบเหนือกว่ากำลังของเครื่องครับ ดังนั้นถ้าจะใช้เลื่อยตัวนี้ซอยไม้เนื้อแข็งหนาๆขนาด 5 ถึง 6 นิ้วก็ต้องค่อยๆป้อนนะครับ ใบเหล็กกล้าไฮสปีด 4/6 ไม่กลัวไม้หรอกครับแต่ถ้าไม้แข็งและหนามันจะเกินกำลังเครื่องครับ

ถ้าสนใจจะซื้อใบขอให้ติดต่อคุณสมศักดิ์เซลล์ของบริษัทวังแดง Wangdex ที่ขายใบซิมมอนด์โดยตรงเลยนะครับ ใบที่ผมใช้ขนาดฟัน 4/6 ขนาดใบกว้าง 3/4 นิ้ว คือ 0895409374 ครับ เบอร์ร้านคือ022155200 ร้านอยู่แถวหัวลำโพงบนถนนพระราม 4 ครับ

ผมเคยซื้อราคา 749 บาทรวม VAT ส่งถึงบ้าน ตอนหลังพวกเราชาวช่างไม้ซื้อกันบ่อยขึ้นรู้สึกว่าจะได้ราคาถูกกว่านี้ ได้ของเร็วมากครับ ไม่เกิน 3 วันทำงานครับ

ถ้าจะใช้กับเลื่อยสายพานมากิต้ารุ่น LB1200F ก็บอกเขาว่าให้ตัดต่อใบให้ได้ความยาว 2,240 มิลลิเมตรนะครับ

ขนาดฟัน 4/6 ที่ผมระบุเป็นฟันคละขนาดครับ มีทั้งฟันเล็กขนาด 6 ฟันต่อนิ้ว และฟันใหญ่ขนาด 4 ฟันต่อนิ้วคละกัน การคละขนาดฟันมีผลทำให้รอยตัดเรียบเสมอกว่าฟันแบบเสมอครับ จะสังเกตได้ชัดเจนเลยว่ารอยคลื่นจากการเลื่อยลดน้อยลงอย่างมาก

นอกจากยี่ห้อซิมมอนด์แล้วบริษัทอื่นที่ทำใบแบบเดียวกันมาขายก็มีนะครับ เมื่อสองสามเดือนก่อนผมไปงาน Intermach ก็ได้เจอใบ High Speed 3/4" 4/6 ยี่ห้อสตาเร็ท Starett ของอเมริกา ราคาใกล้เคียงกันครับ ร้านที่ขายคือ บ.ตรงกมล สุขุมวิท 105 เบอร์เซลล์ คุณประภัสสร 086 3131997  
 
ถ้าเป็นใบสำหรับซอยโค้งน่าจะลองใบเหล็กกล้าคาร์บอนของญี่ปุ่นใบละไม่ถึง 200 บาท ร้ามที่ขายคือ TGM อยู่สะพานควาย เบอร์เซลล์ คุณวันชัย 0892203671 ได้ของใน 3-4 วันทำงาน

อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมก็โทรมาคุยกันได้นะครับ เบอร์ผม 081 8241784 ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-08-07 00:07:35


ความคิดเห็นที่ 51 (1515692)
avatar
ภาสกร

ขอบคุณมากๆครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ภาสกร (pk_ry-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2012-08-08 23:22:51


ความคิดเห็นที่ 52 (2970924)
avatar
tong

 ใครพอจะให้ยืมหรือเช่าเลื่อยสำหรับตัดแบ่งความยาวไม้เสาเก่า ((ไม่ทราบชนิดไม้ อายุประมาณ 45 ปี) ขนาด 8x8 ท่อนละ 6 เมตรให้เหลือ 3 เมตร จำนวน 15 เสาที่บ้านผมแถวซอยลาดพร้าว 106 บ้างไหมครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น tong (thanasinstr-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2013-06-24 15:26:20


ความคิดเห็นที่ 53 (2971269)
avatar
Panasu

เลื่อยลันดาไงครับ ตัดได้ไม่แพ้เลื่อยวงเดือน เพราะคนสมัยก่อนเขาใช้เครื่องมือ hand tools ทั้งนั้น สร้างผลงานมายิ่งใหญ่สวยงาม แถมงานประณีตกว่าเครื่องมือ power tools

ผู้แสดงความคิดเห็น Panasu (panasu-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2013-06-25 14:08:00


ความคิดเห็นที่ 54 (2985935)
avatar
ตั้งโอ๋

จะเปิดร้านใหม่พอดีตกงานมานานมากแล้วเลยคิดว่าจะหาเปิดร้านขายเครื่องสำอาง อาหารเสริม เสื้อผ้า อย่างละนิดนิดหน่อยกะว่าคงลงทุนไม่มาก อยากได้ตู้ไม้ สน หรือไม้ยางพารา ไม่อะไรก้ได้ มาต่อเป็นตูโชว์แนว วินเทจ แต่พอไปสอบถามราคา มันแพงมากๆเลยค่ะ 1ใบ 60*190*170 ข้างหลังทึบหรือกระจกก็ได้ ข้างในตู้เป็นชั้น 4-5ชั่น เป็นชั้นกระจก ข้างหน้าเป็นกระจกบานเลื่อนเพื่อเอาไว้ใส่กุญแจ ทาสีขาว ราคา13000 บาท มันแพงมั้ยคะ เราคิดว่าแพงมากดูแบบไม่มีอะไรมากเลยค่ะ เห็นเบบนี้ อยากเรียนต่อตู้ไม้มากๆตอนนี้เลยเซงไม่รู้ว่าจะหาต่อตู้ที่ไหนดี มีใครพอแนะนำ ที่ต่อตู้ โต๊ะ ที่ราคาสงสารคนจนบ้างมั้ยคะกำรังจะเริ่มตั้งไข่ใหม่ไม่มีทุนมากขนาดซื้อของแพงๆเลยค่ะ ใครสงสารช่วยแนะนำด้วยนะคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ตั้งโอ๋ (iydojt0jt-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2013-11-06 15:15:38


ความคิดเห็นที่ 55 (2985937)
avatar
เขมทัต

 เรียนคุณตั้งโอ๋

ถ้าเวลามีน้อยคุณอาจจะอยากพิจารณาซื้อตู้หรือชั้นประเภทถอดประกอบ (knock-down) มาใช้นะครับ

ถ้าอยู่ใกล้กทม.ลองแวะไปดูของอิเกีย IKEA

ที่เมกก้าบางนาดูซิครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต (Kematat_k-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2013-11-06 15:33:00


ความคิดเห็นที่ 56 (2996997)
avatar
จรินทร์ (สาต์น)

 
 
อีกหน่อย ขี้กบก็คงขายได้ราคาดีแน่นอนครับ อาจาร์น เขมทัต
 
ไม้แผ่นนี้ชื้อมาจากร้านไม้เก่าแถวบ้านครับ ไปเดินหาไม้แดง (ลูกบันได) เดินไปสะดุดไม้แผ่นนี้ เลยขุดขึ้นมาดู เป็นไม้หน้า 2"x13" ยาว 1.6 เมตร เลยถามเจ้าของร้านว่าไม้อะไร เจ้าของบอกประดู่ ผมก็เมียงๆมองๆ ตัดสินใจโดนหลอกสักครั้งเถอะเลยชื้อมาในราคา 600  บาท เอากบไสออกดูก็ได้เห็นลายอย่างที่เห็นครับ ลองดมดูก็มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่รู้ว่าประดู่หรือเปล่าครับ อาจาร์น เขมทัต 
ผู้แสดงความคิดเห็น จรินทร์ (สาต์น) (mrjarint-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2014-03-22 16:55:23


ความคิดเห็นที่ 57 (2997529)
avatar
Ant Services

ขายตอไม้เก่าๆ รากไม้ ไม้ลุงพ่อ ไม้กุหลิง สามารถนำมาตกแต่งสวนหรือประยุกต์เป็นโต๊ะเก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
 

ติดต่อสอบถาม 088-3933358, 073-514522

ผู้แสดงความคิดเห็น Ant Services (engineering-dot-ant-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2014-03-26 16:16:18


ความคิดเห็นที่ 58 (3012381)
avatar
ชาย

ผมน้องใหม่ครับ

ได้ความรู้มากมายครับ ขอบคุณอาจารย์เขมทัต มากๆครับ

บังเอิญผมพึ่งได้โต๊ะอาหารไม้เก่ามาตัวนึง กะลังว่าจะหาช่างทำสีใหม่ครับ

พอมาเห็นกระทู้นี้แล้ว อยากสร้างความภูมิใจให้กับตัวเองครับ อยากทำเอง สวยไม่สวย ไม่เป็นไร ขอให้ได้ลงมือทำครับอาจารย์

ผู้แสดงความคิดเห็น ชาย วันที่ตอบ 2014-12-06 11:02:03


ความคิดเห็นที่ 59 (3031342)
avatar
ทรงพร เกิดกุล

 ร้านทรงพรพัฒนาค้าไม้       ขายไม้เก่า ไม้ใหม่ และผลิตสินค้าที่ทำจากไม้เก่า  เช่นประตูหน้าาต่าง  วงกบ  ศาลา ชิ่งช้า  ม้านั่ง  บ้านสำเร็จรูป

     ล้วนทำมาจากไม้เก่า  ที่รื้อมาจากบ้านเก่าที่ไม่สามารถใช้งานได้  แต่จริงๆ  แล้วยังใช้ได้อยู่คะ  ถ้าเรารู้จักนำมาประยุกต์และผลิตออกมาสวยงามกว่าไม้ใหม่มาก  เพราะต้นไม้ที่ตัดมาสร้างบ้านของคนสมัยก่อนจะเลือกไม้ที่มีอายุมาต้นโตเต็มที่  ทำให้ไม้มีความแข็งและมีอายุการใช้งานมากกว่า 100 ปีเลยที่เดียว   เพราะดิฉันมาประกอบอาชีพขายไม้เก่าและผลิตสินค้าจากไม้เก่าเป็นเวลา  12 ปีแล้ว  ซึ่งไม่เคยมีความรู้เรื่องไม้เลยคะ  (เพราะก่อนมาทำอาชีพนี้เคยทำงานขายคอมพิเตอร์ เพราะจบเอกนี้มา)   แต่มาอยู่จุดนี้รู้สึกรักไม้และชอบไม้มากขึ้น  เพราะเมื่อทำเป็นชินงานออกมาแล้วทำให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา    เพราะที่ร้านจะทำจากไม้เก่าเกื่อบทั่งหมด  เพราะทำให้ชิ่นงานไม่หดตัว  สีของไม้ก็สวยตามธรรมชาติของไม้เลยคะ  เช่นไม้ประคูจะมีกลิ่นหอมรู้เลยว่า สีแดงสม มีลายไม้คลายไม้สักทอง  เป็นไม้ประดู  หาอยากพอสมควร  เพราะส่วนใหญ่จะอยูต่างจังหวัด   ไม้แดง  ก็จะมีสีแดงสวยและทนมาก  วันนี้ขอพักก่อนคะ มีไม้อีกมาเลยคะ

สนใจติดต่อ  คุณ  ทรงพร  เกิดกุล 

ร้านทรงพรพัฒนาค้าไม้  โทร.081-9478192,086-5119322

102/6 หมู่ 1 ต.มหาพราหมณ์  อ.บางบาล  จ. พระะนครศรีอยุธยา  13250 

เปิดบริการทุกวัน  ร้านติดกับวัดกลาง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทรงพร เกิดกุล ( sonpornkerd-at-gmail-dot-com )วันที่ตอบ 2016-04-10 22:15:41


ความคิดเห็นที่ 60 (4028471)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

 สวัดดีคับผมอยากทราบว่าเวลาดูชิ้นไม้ด้วยสายตาเราจะทราบได้อย่างไรว่าชิ้นไหนยังคงใช้งานได้คับผม

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร วันที่ตอบ 2017-01-03 18:55:11


ความคิดเห็นที่ 61 (4041386)
avatar
คุณไก่

 ชิงชัน  ชิงชัน  จำหน่ายกล้าพันธุ์ไม้ชิงชันสายพันธุ์ดี จากทีมงานเพาะพันธุ์กล้าไม้มืออาชีพที่มีประสพการณ์สูง 

ราคาไม่แพง จำหน่ายทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศ   ผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั่วประเทศกว่ายี่สิบปี
สนใจติดต่อคุณไก่ 095-4654546   
ID line kai54654546
Email nangpaya@hotmail.com
ชมผลงานและคุณภาพกล้าพันธุ์ไม้ได้ที่ www.takuyak.com 
หรือที่แฟนเพจ  คุณไก่กล้าพันธุ์ไม้  
หรือชมคลิปที่ www.youtube.com ช่อง ชัยชนะ เสือเพ็ง
หรือที่แฟนเพจ  ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย
ผู้แสดงความคิดเห็น คุณไก่ (nangpaya-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2017-03-06 16:11:49


ความคิดเห็นที่ 62 (4198912)
avatar
อยากขายไม้เก่า

 มีไม้เก่าอยากขายอะครับ เป็นไม้ท่อน พวกไม้เต็งรัง ไม้มะค่า เป็นไม้ไม่ใช้ มีใครรับซื้อมั้ยครับ โดยส่วนตัวทำงานไม้ไม่เป็นอะครับ ไม่รู้เก็บไว้ทำไม

สนใจรับซื้อติดต่อ 092-4416925

ผู้แสดงความคิดเห็น อยากขายไม้เก่า วันที่ตอบ 2020-06-06 11:42:57



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.