ReadyPlanet.com


โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร


user image

เรื่องที่จะเล่าในกระทู้นี้เป็นเรื่องที่ต่อจาก ตอนที่แล้วที่มีชื่อว่า “โต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผม”http://www.thaicarpenter.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaicarpentercom&thispage=2&No=1404776ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับความเป็นมา สรรพคุณ และปัญหาอุปสรรคที่ได้ประสบจากการใช้งานโต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผมมาตั้งแต่ปี 2518 จนปัจจุบันรวมเวลาแล้ว 3 รอบพอดี


ผมเป็นผู้ที่โชคดีมากที่มีโอกาสสร้างโต๊ะช่างไม้ถึงสองตัว โชคที่ว่านี้เกิดจากความประสงค์ของคุณชาญศิริ อักษรนันทน์ หรือ “พี่เติม” ที่อยากมีโต๊ะช่างไม้ที่มั่นคงถาวรไว้ใช้ ประกอบกับจังหวะชีวิตของผมช่วงต้นปีนี้ที่พอจะสรรหาเวลามามุ่งเน้นทำงานไม้อย่างจริงจัง  นอกจากผลงานที่ออกมาจะถูกใจทั้งพี่เติมผู้เป็นเจ้าของและผมแล้ว ผมก็ยังได้ผลพลอยได้จากการออกกำลังในห้องช่าง (Workshop) ของผมซึ่งทำให้น้ำหนักตัวของผมลดลงจาก 92 กิโลกรัมเหลือไม่ถึง 80 กิโลกรัมในเวลาไม่ถึง 4 เดือน :)


เรื่องของโต๊ะตัวช่างไม้ตัวที่สองนี้ผมตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม” ด้วยเหตุที่ว่าโต๊ะตัวนี้ (ตามรูปที่ 1) มีสรรพคุณที่ผมปรารถนาครบและตอบโจทย์เรื่องปัญหา อุปสรรคจากโต๊ะตัวแรกได้ทุกข้อ  ผมไม่มีโอกาสรับเขาไว้ในอุปการะเพราะเขามีพี่เติมได้เป็นเจ้าของตัวจริง ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมไม่ต่อโต๊ะแบบนี้ไว้เองอีกสักตัวหนึ่ง?


คำตอบของผมคือ 1) ผมรักโต๊ะตัวแรกของผมมากและไม่อยากจะทิ้งเขาไว้เฉยๆ 2) ผมไม่มีที่จะวางโต๊ะอีกตัว และ 3) ผมคงจะหาเวลาทำโต๊ะช่างอีกตัวยากแล้ว เพราะมีใจจะทำงานไม้เรื่องอื่นอีกหลายโครงการ เช่น เปลี่ยนประตูบ้านและประตูห้องน้ำให้คุณพ่อ… ทำตู้เก็บเครื่องมือแบบติดผนังและแบบตั้งพื้น… ทำโต๊ะเร้าเตอร์ใหม่… ทำแท่นรองสว่าน… ทำแท่นรองเลื่อยองศาและเครื่องรีดไม้… บูรณะเครื่องมือเก่าที่สะสมไว้… ออกแบบและผลิตเครื่องมือช่างไม้… รวมถึงการจัดระเบียบ 5ส ในห้องช่างของผมซึ่งบางวันแทบเดินไม่ได้และบ่อยครั้งที่หาของไม่เจอ


สรุปแล้วผมก็คงได้แค่ฝันถึงโต๊ะของพี่เติมล่ะครับ แต่ถ้ามีโอกาสผมก็จะพยามหาเวลามาปรับปรุงโต๊ะช่างตัวแรกให้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ ที่เล็งๆไว้ก็คืออยากจะ ไสปรับผิวโต๊ะให้เรียบสวย เพิ่มปากกาท้ายโต๊ะแบบ Wagon Vise และเพิ่มปากกาหัวโต๊ะแบบพวงมาลัยไม้หนีบ (Glide Leg Vise) ตาม Link นี้ครับhttp://www.youtube.com/watch?v=zWe32IDX-Ec
 



ผู้ตั้งกระทู้ เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-02 20:25:59


« 1 2 3 4 »

ความคิดเห็นที่ 201 (1448634)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ชิ้นส่วนสุดท้ายในชุดเสาประคองคือรางตัว V คว่ำที่ทำจากไม้สักครับ เริ่มต้นด้วยการไสไม้ให้ได้ฉาก 2 หน้าแล้วใช้โต๊ะเลื่อยวงเดือนตัดมุม 45 องศา เมื่อได้ไม้รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่มีมุมยอดเป็นมุมฉากก็เหลืองานไสเพียงด้านเดียวคือด้านที่เพิ่งเลื่อยหรือฐานของสามเหลี่ยม การไสด้านฐานของสามเหลี่ยมจำเป็นต้องมีการจับชิ้นงานที่พิเศษหน่อยครับ ผมทำจิ๊กเป็นตัว V ที่มีร่องเป็นมุมฉากมารองใต้ชิ้นงานเพื่อกันโยกตามรูปที่ 111 ระหว่างใช้จิ๊กตัวนี้ใต้ท้องของชิ้นงานซึ่งก็คือยอดของสามเหลี่ยมต้องสัมผัสพื้นตลอดทั้งชิ้นนะครับเพื่อที่เราจะได้ไสฐานออกมาเรียบตรง ระหว่างไสก็ใช้ปากกาท้ายโต๊ะและเดือยทองเหลืองหนีบรางไว้โดยมีจิ๊กรองรางอยู่ การยึดจับแบบนี้ทำให้ชิ้นงานนิ่งมั่นคงและไสสะดวกครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 01:09:28


ความคิดเห็นที่ 202 (1448635)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อรางเสร็จแล้วก็เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือการยึดรางกับสันบนของพนัง เราเลือกใช้บิสกิทเป็นตัวยึดตามรูปที่ 112 ครับเพราะว่า แน่นหนา ทำได้สะดวก ไร้ร่องรอง และถอดประกอบง่าย

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 01:18:42


ความคิดเห็นที่ 203 (1448637)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อทุกส่วนพร้อมแล้วก็ประกอบเสาประคองเข้าที่ ตามรูปที่ 113 โดย

ครอบร่องตัว V ทับรางก่อนตามภาพ 113A  จากนั้นดันปลายด้านบนของเสาประคองเข้าหาขอบโต๊ะ ปรับแนวร่องใต้โต๊ะกับร่องหัวเสาให้ตรงกันตามภาพ 113B แล้วสอดลิ้นไม้อัดเข้าไปในร่องตามภาพ 113C ครับ ทุกส่วนทำงานได้ดีตามที่หวังไว้ ตอนแรกคิดจะเล็มลิ้นที่รางบนที่โผล่ออกมาด้านข้างของเสาประคองออกแต่เปลี่ยนใจภายหลังเพราะส่วนที่ยื่นออกมาช่วยให้เรามีที่จับเวลาถอดและประกอบอย่างสะดวกครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 01:38:06


ความคิดเห็นที่ 204 (1448644)
avatar
<สุทิน.คลองตัน>

สาม ชั่วโมง พอดี ... เป๊ะ ... ! 

หลังจาก ที่ คุณ เขมทัต เขียน ส่ง กระทู้ ความเห็น ที่ 203 ...

... ผม ก็ ได้ เข้า มา เปิด อ่าน ใน กระทู้ นี้ ...

...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...

หาก จะ เปรียบ เป็น ... บท ประพันธ์ ...

... กระทู้ นี้ ... ต้อง เรียก ว่า เป็น ... "มหา กาพย์  " ... !

... มี หลาย ภาค ... หลาย บท ... หลาย ตอน ... !

...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...

หาก จะ มี การ เสนอ ชื่อ เข้า ชิง รางวัล ... แห่ง ปี

... ใน web thaicarpenter.com แห่ง นี้ ... !

... กระทู้ นี้ ... คง กวาด หมด ทุก รางวัล ... ที่ มี ... 

... และ เชื่อ ว่า ... คง อยู่ ใน ตำแหน่ง อีก นาน แสน นาน ... !

... ไม่ ว่า จะ เป็น ...

... รางวัล งาน ไม้ ประณีต แห่ง ปี ...

... กระทู้ ให้ ความรู้ ช่างไม้ + ช่างโลหะ ยอดเยี่ยม แห่ง ปี ...

... สุด ยอด กระทู้ ใน ดวงใจ สำหรับ D.I.Y. มือ ใหม่ ...

... รางวัล ความ อุตสาหะ + ตั้งใจ เขียน กระทู้ ยอดเยี่ยม แห่ง ปี ...

... กระทู้ ยาว สุด ... คน อ่าน มาก สุด แห่ง ปี ...

... รางวัล ภาพ ประกอบ คำบรรยาย ยอดเยี่ยม แห่ง ปี ...

... สุด ยอด กระทู้ ... ดูแล รักษา เครื่องมือ ช่าง ...

... รางวัล มิตรภาพ + มนุษยสัมพันธ์ ยอดเยี่ยม แห่ง ปี ...

... สุด ยอด กระทู้ การ ออก แบบ โต๊ะ ช่างไม้ ...

... รางวัล กระทู้ มี สาระ หลาก หลาย ยอดเยี่ยม แห่ง ปี ...

... สุด ยอด กระทู้ ... เครื่องมือ hand tool ... !

... เชิญ ท่าน อื่น ๆ ... ช่วย คิด รางวัล ... บ้าง ... !

...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...

ผม เอง ... เข้า มา อ่าน กระทู้ นี้ ... แม้ จะ ไม่ ทุก วัน ...!

แต่ จะ เข้า มา อ่าน ทุก ครั้ง ... ที่ เข้า มา ใน web นี้ ... ครับ !

ขอ เป็น อีก หนึ่ง แรง ใจ ... cheer คุณ เขมทัต เขียน กระทู้ นี้ ต่อ ...

... เจ้าของ กระทู้ ... เขียน อย่าง สนุก ... !

... คน อ่าน ... ก็ ติด ตาม อ่าน ... อย่าง ใจ จด ใจ จ่อ ... !

... เป็น อะไร ... ที่ ... ดี มาก ๆ เลย ... ครับ ... !

ผู้แสดงความคิดเห็น <สุทิน.คลองตัน> ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 05:35:33


ความคิดเห็นที่ 205 (1448646)
avatar
<สุทิน.คลองตัน>

เรียน คุณเอ๋ เพาะช่าง

ผมหวังว่า กระบวนการเข้าไม้พนังกับขาโต๊ะ ที่เล่ามานี้

จะตอบคำถามของคุณเอ๋ ในความเห็นที่ 21 แล้วนะครับ

ถ้ายังมีประเด็นใด ที่ยังไม่ชัดเจน ก็แจ้งมาเลย นะครับ

ขอขอบคุณ คุณเอ๋ที่ติดตามเรื่องนี้ มาโดยตลอด ครับ

เขมทัต กรัยวิเชียร

...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...  ...

... ผม copy ข้อ ความ ข้าง ต้น ... มา จาก ความเห็น ที่ 191 ...

... ประทับใจ มาก ๆ ... ที่ ใคร ถาม อะไร ไว้ ... นาน แล้ว ... ! 

คุณ เขมทัต จะ ไม่ ลืม ... แล้ว ...

... จะ มี คำตอบ ให้ ... เมื่อ ถึง เวลา ... !   

... วิญญาณ "ครู" ... เข้า สิง เต็ม ตัว ... เลย ... ครับ !  

ผู้แสดงความคิดเห็น <สุทิน.คลองตัน> ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 06:08:08


ความคิดเห็นที่ 206 (1448673)
avatar
nnuumm

 พี่สุทินลืมไป 1 รางวัลครับ

...รางวัลช่างไม้..สุดหล่อ แห่งปี  ครับพี่  .....

ผู้แสดงความคิดเห็น nnuumm (0n0u0m0-at-Gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 12:07:06


ความคิดเห็นที่ 207 (1448674)
avatar
nnuumm

 ผมมาอ่านถึงวันนี้ ทีแรกคิดว่าจะขอพี่เขมทัตเซฟเอาไว้อ่าน

 ตอนนี้เปลี่ยนใจแล้วครับ  แต่ขอเป็นเสียงที่ขอให้พิมพ์เป็นหนังสืออีก1เสียงครับ

 เพราะหนังสือสามารถนำไปอ่านได้ทุกที ไม่ว่าจะฝนตกฟ้าร้องไฟดับคอมเจ๊ง...

มีอะไรให้ผมรับใช้เกี่ยวกับโปรแกรมโฟโต้ช็อป..บอกผมมาได้เลยน่ะครับ ยินดีรับใช้ทุกเมื่อครับ....

ผู้แสดงความคิดเห็น nnuumm (0n0u0m0-at-Gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 12:16:22


ความคิดเห็นที่ 208 (1448734)
avatar
cjloong

คุณเขมทัตครับ ในความเห็นที่ 199 ผมไม่เห็นภาพ 108-4 ตามที่บอกไว้ครับ ไม่แน่ใจว่าลืมลงภาพหรือเปล่าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น cjloong วันที่ตอบ 2011-10-01 20:45:30


ความคิดเห็นที่ 209 (1448740)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

บอกตามตรงพี่เขมทัต เดี๋ยวผมต้องปริ้นมาทุกหน้าก่อน
แล้วค่อยมาไล่อ่านใหม่ครับพี่...เรื่องนี้ยาวววววว

พี่สุทิน....ผมขอเสนออีกรางวัลหนึ่งครับ
รางวัล...มีโค้ชยอดเยี่ยมครับ

ผมว่าพี่เขมทัตเทกโอเว่อร์เว็บคุณนุเลยดีกว่าครับ555(แซว)

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 20:54:21


ความคิดเห็นที่ 210 (1448751)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนคุณสุทิน

ขอบคุณมากครับสำหรับคำนิยม อย่างที่เรียนครับว่าผมสนุกกับการเล่าเรื่องนี้ และจะดีใจมากถ้าเนื้อหาเป็นประโยชน์หรือสร้างแรงใจให้ผู้อ่านสนใจสร้างงานไม้ประณีตครับ

เรียนคุณ nnuumm

ขอบคุณสำหรับน้ำใจเรื่อง PhotoShop ที่เสนอมาครับ โปรแกรมนี้ผมไม่เป็นเลยครับ เคยลองเข้าไปดูแล้วงงไปหมดไม่ทราบจะเริ่มตรงไหน ถ้าต้องใช้จะติดต่อไปแน่นอนครับ ระหว่างนี้ก็ขอใช้วิธีลูกทุ่งไปพลางๆก่อนด้วยโปรแกรม PowerPoint ที่ผมพอจะคุ้นเคย ขอบคุณครับที่เห็นคุณค่าของกระทู้ (บทความ) เรื่องนี้ ผมยังไม่เคยคิดจะพิมพ์เป็นหนังสือเลยครับ อย่างที่ออกตัวตั้งแต่แรกว่าผมเป็นมือใหม่หัดเขียนครับ ครั้งสุดท้ายที่เขียนเรื่องยาวเกิน 1 หน้าเป็นภาษาไทยก็กว่า 20 ปีแล้วครับ ส่วนมากจะถนัดพูดคุย เล่าให้ฟัง และทำให้ดูมากกว่าการเขียนครับ

เรื่องโต๊ะช่างไม้ตัวแรกของผม กับ เรื่องโต๊ะช่างไม้ในฝันของผม นับว่าเป็นการฝึกฝีมือสื่อสารทางการเขียนครับ มีอีกหลายเรื่องที่ผมอยากเล่าให้ฟังและทำให้ดูและก็กำลังคิดอยู่ว่าวิธีใดจะสื่อสารได้เข้าใจมากกว่ากันระหว่างเขียนกับถ่ายวีดีโอ หรือทั้งสองอย่างผสมกันอย่างที่ Matthias Wandel (วิศวกรที่รักงานไม้แบบเน้นการใช้งาน และการสร้างเครื่องทุ่นแรง) ทำในเว็ป http://woodgears.ca/ และ Chris Schwarz (อดีตนักเขียนที่รักงานไม้แบบ Hand Tools) ทำในเว็ป http://www.popularwoodworking.com/woodworking-blogs/chris-schwarz-blog

ใจผมโน้มเอียงไปในทางการเล่าเรื่องแบบท่านยอดฝีมือทั้งสอง คือเขียนเล่าโดยย่อแล้วให้ภาพและเสียงแสดงรายละเอียดและอารมณ์ของงานครับ เห็นจะต้องไปฝึดเรื่องการใช้กล้อง แสง และเสียง อย่างจริงจังแล้วครับ

เรียนคุณ cjloong

ผมกลับไปอ่านความเห็น 199 แล้วครับ ภาพลงครบครับ แต่คำพูดที่ใช้อ้างอิงภาพไม่ชัดเจนครับ ขอโทษด้วยครับ ผมแก้ข้อความใหม่แล้วครับ

เรียนคุณ เอ๋ เพาะช่าง

คงไม่ใช่คุณเอ๋คนเดียวหรอกครับที่ต้องกลับไปอ่าน ผู้เขียนก็กลับไปอ่านเองเหมือนกันครับว่าถึงไหนแล้วและจะเล่าเรื่องอะไรต่อไป :)

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งครับที่ติดตามอ่านกระทู้นี้

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 21:43:39


ความคิดเห็นที่ 211 (1448763)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

6.7) การปรับแต่งผิวโต๊ะ   
 

กระบวนการที่ผมใช้เวลาคิดและวางแผนมากที่สุดคือการปรับแต่งผิวโต๊ะให้ออกมาเรียบเป็นระนาบตามรูปที่ 114 นี่แหละครับ ผิวหน้าโต๊ะที่เป็นไม้เนื้อแข็งขนาด 210 x  71 ซม.เป็นเรื่องใหญ่สำหรับพี่เติมและผมครับ เดิมเราคิดจะเราเตอร์กัดหน้าโต๊ะทั้งหน้าโดยทำจิ๊กเป็นรางคู่ประกบด้านยาวของโต๊ะ ติดตั้งเราเตอร์บนไม้ขวางที่พาดบนรางคู่ ใช้ดอกตรงเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วกัดเนื้อไม้หน้าโต๊ะ  แล้วใช้กบผิวเก็บรายละเอียด ตามคลิป VDO ใน YouTube นี้ http://www.youtube.com/watch?v=qqhQutXvyDM ครับ เตรียมการไว้แล้วโดยการไปซื้อแผ่นอะลูมิเนียมกว้าง 6 นิ้วยาว 2.5 เมตรมาคู่หนึ่งตามรูปที่ 30 ในความเห็นที่ 41 ครับ

แต่ก็ตัดสินใจไม่ใช้เราเตอร์ด้วย 2 เหตุผลครับ

เหตุผลแรกคือการติดตั้งรางให้ขนานอย่างมั่นคงแล้วเดินเราเตอร์กัดผิวโต๊ะให้ออกมาเรียบเป็นระนาบไม่ใช่เรื่องง่ายครับ เราผ่านประสบการใช้รางคู่มาแล้วตอนที่ใช้เราเตอร์ล้างสันไม้ที่จะเพลาะเป็นพื้นโต๊ะมาแล้วเราจึงทราบดีว่าผิวไม้ที่ผ่านเราเตอร์ด้วยวิธีนี้ไม่ได้เรียบสนิทโดยจะมีรอยเหลื่อมของรอยดอกเราเตอร์ค่อนข้างชัดเจน ลองคำนวณดูง่ายๆว่าถ้าดอกหน้า 1 นิ้วเซาะหน้าไม้ (หลังเผื่อให้เหลื่อมกับรอยข้างเคียง)ได้ 2 ซม. เราจะต้องเดินเราเตอร์อย่างน้อย 36 ครั้งจึงจะกัดผิวหน้าที่กว้าง 71 ซม.ได้ทั่ว และเราก็จะมีรอยเหลื่อมที่ต้องตามเก็บอีก 35 แนว

เหตุผลที่สองเข้าใจง่ายมากครับ เราเบื่อและเข็ดขยาดกับฝุ่นที่กระจายจากเราเตอร์จากการเข้าไม้พนังกับขามากครับ แม้จะคอยใช้เครื่องดูดฝุ่นตามดูดก็ยังมีฝุ่นกระจายทั่วห้องและตามเสื้อผ้า เนื้อตัว และเส้นผมครับ ฝุ่นเป็นเหตุผลหลักที่เราไม่เลือกใช้เราเตอร์กัดหน้าโต๊ะครับ

วิธีที่เลือกใช้คือการไสกบด้วยมือครับ ผมเคยทำมาแล้วเมื่อ 36 ปีก่อน ดังนั้นไม่มีเหตุให้คิดว่าจะทำอีกไม่ได้เพราะวันนี้มีเครื่องมือพร้อมกว่าวันนั้นมาก ความเข้าใจเรื่องไม้และกบก็มากกว่า วิธีการไสปรับผิวผมก็ได้อธิบายไปแล้วในเรื่องการปรับหน้าไม้ในความเห็นที่ 170 ถึง 176 ครับ ถ้าอยากเห็นบรรยากาศที่ใกล้เคียงลองชม VDO ใน YouTube เรื่องการปรับหน้าไม้ใหญ่ด้วยกบไสไม้ของ Dave Moore ตามลิ้งค์นี้ได้ครับ http://www.youtube.com/watch?v=Mg0jUWJPweg&feature=related  ใน VDO นี้ท่านจะได้เห็นการไสไม้ด้วยกบล้างสั้น Scrub Plane แบบไม้ของฝรั่งด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-01 23:02:00


ความคิดเห็นที่ 212 (1448958)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

การปรับผิวหน้าโต๊ะเป็นขั้นตอนที่ทำหลังจากประกอบชุดขากับพ้นตะเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้พื้นโต๊ะแนบสนิทกับคานเราก็ต้องไสปรับผิวใต้ท้องโต๊ะเฉพาะบริเวณที่จะทาบกับคานด้วยกบบรรทัดครับ

งานไสผิวหน้าโต๊ะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครับซึ่งเร็วกว่าที่ผมคาดไว้มาก น่าจะเป็นเพราะเราเพลาะไม้ได้เรียบดี ไม่โก่ง ไม่แอ่น และเราไสไม้ส่วนเกินออกไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว  เวลา 3 ชั่วโมงที่ว่านี้เป็นเรื่องของการไสกับการวัดล้วนๆตามรูปที่ 115 ครับ กระบวนการไสเป็นไปตามที่เคยเล่าให้ฟังในความเห็น 170 ถึง 176 ทุกอย่างครับ เสียดายที่ผมไม่ได้เก็บภาพการใช้กบล้างสั้น กบบรรทัด และการวัดด้วยไม้บรรทัดอะลูมิเนียมจำเป็นที่ยาว 2.5 เมตรไว้ครับ

ในรูปที่ 115 จะเห็นผมใช้ไม้เล็งระนาบทาบผิวโต๊ะบริเวณต่างๆและวัดความเรียบโดยการมองแสงที่ลอดผ่านประกอบกับการใช้แผ่นวัดความหนาที่อยู่ในภาพกลาง เครื่องมือนี้ช่างเครื่องเรียกว่าฟีลเลอร์เกจ Feeler Gauge ครับ เราเลือกความหนาของแผ่นวัดตามความต้องการแล้วสอดแผ่นวัดนี้เข้าไประหว่างไม้บรรทัดกับผิวโต๊ะ ถ้าแผ่นวัดลอดผ่านช่องระหว่างไม้บรรทัดกับชิ้นงานเข้าไปได้ก็แสดงว่าร่องใหญ่เกินไป เราก็ต้องไสบริเวณที่สูงออกแล้ววัดใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะสอดแผ่นวัดเข้าไม่ได้ก็เป็นอันใช้ได้ครับ ตามภาพกลางจะเห็นตัวเลข 0.10 mm เลือนๆอยู่บนบนแผ่นวัดครับ ผมกำหนดให้ความลึกของร่องสูงสุดที่ยอมรับได้คือ 0.1 มม. ซึ่งเท่ากันกับหลัก “1 มิลลิเมตรแบ่ง 10” ของอาจารย์ชัชวาล ลางดี ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 21:19:59


ความคิดเห็นที่ 213 (1448960)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

กบที่ใช้ตามรูป 115 เป็นกบผิวหน้ากว้าง 2 นิ้วของธรรมศักดิ์ครับ เบาและลื่นกว่ากบเหล็กหลายเท่าครับ ระหว่างไสเก็บผิวขั้นสุดท้ายก็เจอปัญหาน่าหนักใจเรื่องตาไม้ประดู่และลายไม้ที่ย้อนไปย้อนมาทำให้ไม้ฉีกเป็นหลุมเป็นบ่อหลายแห่ง แม้จะใช้กบผิวที่มีช่องเปิดแคบมากและมุมใบกบที่ทำพิเศษ 62 องศาก็ตาม ผมจึงหันไปทดลองลองกบตัวอื่นในปกครองที่พอจะใช้ไสผิวได้ตามรูป 116

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 21:29:20


ความคิดเห็นที่ 214 (1448962)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผลการทดลองใช้กบตัวอื่นตามรูปที่ 116 ออกมาดังนี้ครับ:

Stanley No. 3, No.4 ½ มุม 45 องศา, Record Stay Set No.4 มุม 45 องศา,  Lie-Nielsen No.4 มุม 45 องศา และ No. 5 ½ มุม 55 องศา, น้องใหม่ Vertias Bevel-up (ใบกบคว่ำ) มุม 62 องศา และกบผิวตัวจิ๋งของธรรมศักดิ์ที่ใช้ใบ Lie-Nielsen มุม 58 องศา สอบตกหมดทุกตัวครับ ไม่มีตัวไหนสามารถปรับผิวบริเวณไม้ย้อนและบริเวณตาไม้ได้เรียบสนิทเลย แม้กลุ่มกบที่มีองศาสูง (55, 58 และ 62 องศา) จะมีอาการดีกว่าพวก 45 องศาแต่ผลงานก็ไม่น่าพอใจครับ

เจอปัญหานี้ก็เครียดอยู่เหมือนกันเพราะเหลือทางเลือกอยู่สามทางคือ ใช้เครื่องขัดกระดาษทราย  ใช้กบขูด Scraper Plane คือ Stanley No.80 ที่มีอยู่  และการใช้แผ่นขูด (Scraper) ตามรูปที่ 117 ครับ

การกัดกินเนื้อไม้ของเครื่องมือทั้งสามต่างจากการกินไม้ของใบกบครับ กรณีกระดาษทรายนั้น เม็ดทรายหรือเม็ดซิลิกอนคาร์ไบด์ที่ติดอยู่บนกระดาษทรายจะขูดเนื้อไม้ออกเป็นผงโดยไม่สนใจว่าไม้ส่วนนั้นจะเป็นเนื้อไม้ย้อนหรือตาไม้ ส่วนกบขูดและแผ่นขูดจะมีมุมใบกบที่สูงชันมากจนเอนไปข้างหน้า จะไม่แซะไม้ออกมาเป็นแผ่นแต่ถูกขูดออกเป็นแผ่นขุยบางๆแทนครับ กบ Stanley No.80 มีมุมใบกบประมาณ 100 องศา ส่วนมุมของแผ่นขูดจะเป็นมุมเท่าไหร่ก็ได้ตามแต่เราจะจับใบครับ
 

ทางเลือกแรกตัดไปได้เลยเพราะเราไม่อยากเจอฝุ่นอีกแล้วและอยากให้ผิวโต๊ะตัวนี้ออกมาจากกบไสไม้ล้วนๆ ส่วนการใช้กบขูด และ แผ่นขูดเราก็ไม่อยากใช้เพราะไม่ชำนาญกับเครื่องมือสองประเภทนี้ในการปรับผิวขนาดใหญ่ ถ้าใช้เกรงว่าเมื่อใช้แล้วอาจคุมการขูดได้ไม่เสมอแล้วเกิดเป็นหลุมเป็นแอ่ง

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 21:42:14


ความคิดเห็นที่ 215 (1448965)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ทางเลือกที่ผมไม่มีอยู่ในมือคือการใช้ กบขูดตัวใหญ่ตามรูปที่ 118 ครับ เคยอยากได้แต่ซื้อไม่ลงเพราะแพงแล้วก็ไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 21:48:28


ความคิดเห็นที่ 216 (1448968)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ระหว่างพักเหนื่อยก็บังเอิญได้อ่านแคตตาล็อกของ HNT Gordon ผู้ผลิตกบไสไม้ในประเทศออสเตรเลีย (http://www.hntgordon.com.au/prodcatsmoother.htm)  แล้วไปพบตอนหนึ่งตามรูปที่ 119 ที่เขาบอกว่ากบผิวของเขาทำงานได้ทั้งงานไสผิวด้วยมุม 60 องศาและงานขูดผิวด้วยมุม 90 องศา “It has a 60 degrees blade angle for planing or 90 degrees for scraping” ในกรณีที่ผู้ใช้กลับใบแทนการใช้งานแบบใบหงายตามปกติ "Alternate use as a cabinet scraper simply by reversing the blade."

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 21:58:11


ความคิดเห็นที่ 217 (1448971)
avatar
จ๊อด

 ติดตามอ่านตลอดนะครับ ^^

บางขั้นตอนอ่านมากกว่า 2 เที่ยว ครับ ขอ save เก็บไว้แล้ว ค่อยๆ อ่าน และทำความเข้าใจอีกครั้งนะครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น จ๊อด วันที่ตอบ 2011-10-02 22:42:12


ความคิดเห็นที่ 218 (1448972)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรูปที่120 จะเห็นว่ามุมใบกบของกบผิวปกติในภาพบนอยู่ที่ 60 องศา เวลาเราไสไม้ระนาบด้านหน้าของคมใบกบจะทำมุม 60 องศากับท้องกบและชิ้นงาน ถ้าเราคว่ำใบกบลงและให้ส่วนที่เป็นเหลี่ยมของคมหงายขึ้นเราจะได้มุมใบกบใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิม 60 องศาเป็นมุม 90 องศา  มุมใบกบ 90 องศานี้ใกล้เคียงกับมุมของกบขูดและแผ่นขูดมาก

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 22:43:14


ความคิดเห็นที่ 219 (1448974)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

อ่านสรรพคุณของกบ HNT Gordon แล้วก็เห็นแสงสว่างทันทีเพราะกบธรรมศักดิ์ที่ผมใช้อยู่ก็ไม่ได้ต่างกับกบในรูปเลย ทั้งคู่เป็นกบผิวซึ่งไม่มีฝาประกับ ดั้งนั้นก็คว่ำใบได้เหมือนกัน ได้แนวทางนี้ก็รีบลองทันที ได้ผลดีมากครับกบผิวกลายเป็นกบขูดในทันทีและสามารถแก้ปัญหาไม้ฉีกได้ผลเยี่ยมมากครับ

ตามรูปที่ 121 จะเห็นว่าผิวไม้บริเวณวงกลมไข่ปลาขวา 2 วงซึ่งเป็นลายไม้ย้อนและตาไม้ เรียบเป็นที่น่าพอใจหลังการไสแบบคว่ำใบกบ ส่วนบริเวณวงกลมไข่ปลาด้านซ้ายนั้นจะมีทั้งส่วนที่เรียบและรอยฉีกลึกปนกันอยู่ รอยฉีกนี้คือรอยฉีกที่เหลืออยู่ตั้งแต่ไสผิวมาจากโรงไม้ที่บางบาลด้วยเครื่องไสชิด

ผมก็ไสปรับผิวโต๊ะจนเรียบเท่าที่เห็นเพราะไม่ต้องการแลกความหนาของโต๊ะกับการลบรอยฉีกที่เห็น ถ้าเป็นโต๊ะกินข้าวหรือโต๊ะเขียนหนังสือคงต้องไสหลุมบ่อจนหมดเพราะเน้นความสวยงามความ แต่นี่เป็นโต๊ะทำงานไม้ที่เราเน้นความแข็งแรงการรักษาเนื้อไม้ไว้ให้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อน ดังนั้นเรื่องที่จะเหลือรอยหลุมบ่อเล็กน้อยยอมรับได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 22:52:37


ความคิดเห็นที่ 220 (1448975)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ไสปรับผิวโต๊ะจนพอใจแล้วก็ขัดผิวไม้ด้วยขี้กบตามรูปที่ 122 ครับ โค้ชและพี่เติมมาเห็นผลงานพอดี ดูสีหน้าในภาพขวาล่างของรูปที่ 122 ก็พอจะเดาออกว่าถูกใจทั้งคู่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 23:05:37


ความคิดเห็นที่ 221 (1448978)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตามรูปที่ 123 ในภาพซ้ายบนจะเห็นภาพผิวโต๊ะที่พร้อมจะลงน้ำมันครับ  เราเลือกใช้ทีคออยล์เพราะเข้ากับไม้ประดู่และทาง่ายครับ ทันทีที่ลงทีคออยล์สีไม้ก็เปลี่ยนสีมาเป็นสีที่เห็นในภาพขวาบนของรูปที่ 123 ครับ ครั้งที่แล้วที่เห็นสีไม้สีนี้ผมยังเป็นเด็กชายอยู่เลยครับ แม้จะนานมาแล้วก็จำได้ติดตาครับ ถูกใจผมจริงๆ ค่ำวันนั้นหายเหนื่อยเลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-02 23:13:26


ความคิดเห็นที่ 222 (1449017)
avatar
woodworm

เอาซะผมท้อแท้เลย ดูซิ จอมยุทธฝึกจนสูงสุดคืนสู่สามัญ เอาขี้กบแทนกระดาษทรายซะงั้น ข้าน้อยเห็นทีต้องขายกระบี่ไปทำไร่จะดีกว่า

ผู้แสดงความคิดเห็น woodworm (adool-dot-h-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-03 01:08:46


ความคิดเห็นที่ 223 (1449114)
avatar
ทุย สตูดิโอ

อ่านหลายเที่ยวแล้วครับ ขอบอกว่า..สุด มากๆ ครับ

นึกไม่ถึงเลยครับว่า วิศวกรเครื่องกล จะทำงาน(อดิเรก) เกี่ยวกับไม้ได้เนี้ยบขนาดนี้

โต๊ะงานไม้ในฝันของพี่เขมทัต ตอนนี้คงไม่ใช่ในฝันแล้วล่ะครับ

แต่มันคงเป็นโต๊ะในฝันของอีกหลายๆ คน หนึ่งในนั้น..รวมผมอยู่ด้วยครับ

ขอบคุณความรู้ที่แบ่งปันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ทุย สตูดิโอ (superfiat69-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-03 16:25:34


ความคิดเห็นที่ 224 (1449179)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

ดูจากภาพโต๊ะที่เสร็จแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยนะครับ
ว่าโต๊ะ1ตัวจะมีเรื่องราวได้มากขนาดนี้....พี่เขมทัตถ่ายทอด
ออมาได้เหนือชั้นจริงๆ...ไปก่อนครับไข้ทาน..แฮกๆๆๆๆๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-03 21:11:25


ความคิดเห็นที่ 225 (1449217)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนคุณ woodworm

อย่าเพิ่งท้อครับ ถ้าลองใช้ขี้กบขัดสีกับผิวไม้ที่ไสเรียบแล้วคุณ woodworm จะพบว่าสีกันไม่กีีครั้งก็เงาแล้วครับ คล้ายๆกับท้องกบไสไม้ที่เงามันอยู่ตลอดเวลานั่นแหละครับ ผมใช้ขี้กบขัดอยู่ไม่ถึง 10 นาทีครับเพราะผิวที่ได้หลังการใช้กบผิวมันเรียบดีอยู่แล้วครับ ความรู้สึกเวลาไสไม้ดีกว่าการใช้เครื่องขัดกระดาษทรายอย่างเทียบไม่ได้ครับ ไม่หนวกหู ไม่มีฝุ่น ความเรียบลื่นก็ต่างกัน ต้องลองดูถึงจะรู้ครับ

เรียนคุณ ทุุย สตูดิโอ

ขอบคุณครับ ผมดีใจที่คุณทุยชอบโต๊ะตัวนี้ครับ ผมก็ชอบมากขึ้นทุกวัน หวังว่าอีกไม่นานคุณทุยจะลงมือแปลงฝันให้เป็นจริงนะครับ ถ้าอยากได้คำปรึกษาติดต่อมาได้เลยครับ

เรียนคุณ เอ๋เพาะช่าง

หายเร็วๆนะครับ จะได้มาอ่านต่อ ตอนนี้ผมน่าจะเขียนมาได้ 90% แล้วครับ ผมก็ไม่เคยคิดว่าเรื่องที่เล่าจะยาวเป็นมหากาพย์อย่างที่คุณสุทินเปรียบไว้ครับ วันหน้าคงจะใช้วิธีสรุปแล้วทำวีดีโอประกอบครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-04 01:57:17


ความคิดเห็นที่ 226 (1449218)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมได้เล่าเรื่องการปรับแต่งผิวโต๊ะไปแล้วนะครับ ก่อนจะต่อด้วยเรื่อง 6.8) การอุดรอยตำหนิในไม้เก่าและการเสริมความแข็งแรง ผมอยากเล่าให้ฟังเรื่องการตัดและแต่งปลายโต๊ะด้านที่มีปากกาหัวโต๊ะด้วยครับเพราะผมก็ได้ความรู้ใหม่ที่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านด้วย

ด้านหัวโต๊ะต่างกับท้ายโต๊ะที่มีไม้ประกับขวางอยู่ตลอดเพราะเราปล่อยปลายไม้ทำพื้นที่หัวโต๊ะให้เป็นอิสระครับ ดังนั้นเราจะเห็นเนื้อไม้หนา 70 มม. กว้าง 71 ซม. ตามรูปที่ 124 อย่างชัดเจน ส่วนนี้ของโต๊ะก็เป็นที่ทดสอบฝีมืออีกที่หนึ่งครับ เพราะว่าถ้าเพลาะไม้ไม่สนิทหรือตัดไม้ปลายโต๊ะไม่ตรงไม่ฉากก็จะเห็นได้ชัดเจน  
 

คำว่า “ฉาก” ในที่นี้มีอยู่ 2 จุดนะครับ จุดที่ 1 คือเมื่อมองจากด้านบนต้องเห็นขอบปลายโต๊ะเป็นเส้นตรงที่ตั้งฉากกับหน้าและหลังโต๊ะ และ จุดที่ 2 ระนาบของสันไม้ที่ปลายโต๊ะต้องตั้งฉากกับผิวโต๊ะครับ

ก่อนตัดไม้เราก็ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าขอบโต๊ะด้านหน้าและหลังเป็นเส้นตรงและขนานกันหรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าพื้นโต๊ะกว้างเท่ากันตลอดแนวความยาวโต๊ะ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะใช้ด้านหน้าหรือด้านหลังเป็นหลักก็ได้ครับ จากนั้นเราก็ลากเส้นตรงที่ตั้งฉากกับขอบหน้าหรือขอบหลังของโต๊ะครับ

ผมคิดว่าการตัดไม้หัวโต๊ะให้ตรงและได้ฉากกับขอบเป็นเรื่องที่มากกว่าความสวยงามครับ เพราะหลายครั้งเมื่อใช้โต๊ะช่างไม้ผมมักจะใช้ขอบโต๊ะและมุมฉากที่ขอบโต๊ะเป็นจุดอ้างอิงหรือเล็งแนว

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-04 02:00:26


ความคิดเห็นที่ 227 (1449219)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

การจะลากเส้นทำมุมฉากที่แม่นยำมากๆ บนไม้ที่กว้าง 71 ซม.นั้นออกจะเกินพิกัดของฉากเหล็ก 1 ฟุตที่ผมใช้อยู่ครับเพราะต้องใช้บรรทัดเหล็กยาว 1 เมตรมาทาบประกบไม้ฉากอีกทีหนึ่งจึงจะขีดเส้นตั้งฉากยาวตลอดแนวความกว้างของโต๊ะได้ตามภาพบนในรูปที่ 125 วิธีที่ว่านี้เราจ้องคุมจุดสัมผัส 2 แนวให้สนิทพร้อมๆกันคือ แนวสัมผัสระหว่างด้ามฉากกับสันโต๊ะและแนวสัมผัสระหว่างขอบฉากกับขอบไม้บรรทัดยาว
 

ผมจึงใช้วิธีที่ช่างสร้างบ้านใช้กันมานานในการสร้างมุมฉากครับ เรียกว่าวิธี 3-4-5 ครับ ถ้าเรามีสามเหลี่ยมที่มีด้านทั้งสามยาว  3 ส่วน 4 ส่วน และ 5 ส่วนแล้ว มุมที่อยู่ระหว่างด้านที่ยาว 3 ส่วน และ 4 ส่วน ต้องเป็นมุมฉากครับ คนโบราณใช้วิธีนี้กันมาเป็นพันปีแล้วครับ

ตามภาพล่างในรูปที่ 125 ถ้าเราต้องการลากเส้น AC ให้ตั้งฉากกับด้าน AB ที่เป็นแนวขอบหน้าโต๊ะ เราก็ใช้ดินสอขีดเส้นเล็กๆตัดขอบหลังโต๊ะที่จุด A แล้ววัดระยะ AB ไป 4 ส่วน ถ้าให้ 1 ส่วนเท่ากับ 20 ซม. AB ก็จะยาว 80 ซม. ได้ระยะ 80 ซม. จากจุด A แล้วก็ลากเส้นเล็กๆตัดขอบหลังโต๊ะที่จุด B
จากนั้นก็หาจุด C ที่ห่างจากจุด A 60 ซม. (3ส่วน) และห่างจากจุด B 100 ซม. (5 ส่วน) จะใช้ไม้บรรทัดเหล็กที่ยาว 1 เมตรหรือตลับเมตรวัดก็ได้ครับ ถ้าใช้ตลับเมตรผมจะไม่เริ่มที่ขอเกี่ยวครับเพราะอาจไม่ศูนย์จริงแต่จะเริ่มที่เลข 10 ซม.แทนครับ เมื่อได้จุด C แล้วก็ลากเส้นตรง (เส้นไข่ปลาสีเหลืองในภาพล่าง) ผ่านจุด A และจุด C เส้นตรงนี้จะตั้งฉากกับขอบโต๊ะครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-04 02:02:44


ความคิดเห็นที่ 228 (1449292)
avatar
ปราโมทย์ พิดโลก

 ชอบอ่านและิติดตามทุกวันครับ ขอบคุณที่สละเวลานำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ปราโมทย์ พิดโลก (motepits6-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-04 13:14:18


ความคิดเห็นที่ 229 (1449588)
avatar
พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน

เจริญพรครับ  คุณโยมเขมทัต  และทุกๆ ท่่าน

       อาตมาได้ติดตามอ่านผลงานของคุณโยมมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว  บางวันถ้ามีเวลาว่างจะเข้ามาอ่านหลาย ๆ  รอบ  เนื่องจากเป็นงานที่ทั้งชอบและรัก (งานไม้) จึงไม่ีมีคำว่า "เบื่อ" ยิ่งอ่านก็ิยิ่งมีความสุข  ได้ทั้งสาระความรู้ต่าง ๆ  ที่อาตมาไม่เคยได้รู้มาก่อน  เช่น  การสร้างมุมฉากด้วยสูตร ๓-๔-๕ เป็นต้น  และอีกมากมาย  กล่าวคือทั้งหมดในกระทู้ีนี้  เพราะว่าอาตมาไม่เคยได้เรียนเลยเกี่ยวกับ "งานไม้" ถือว่าเป็นประโยชน์และเป็นแรงบัลดาลใจได้อย่างเลิศทีเดียว  สำหรับผู้ที่มีความฝัน  ซึ่งยังไม่กลายเป็นจริง  เช่นอาตมาเป็นต้น  เรื่องงานไม้ก็พอเคยทำอยู่บ้างเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ  ที่เขาเรียกกันว่า "แบบชาวบ้าน ๆ" กระมัง  ส่วนแบบปราณีตเช่นนี้ยังไม่เคยทำเลย  ก็ด้วยความฝันดังกล่าว  จึงเป็นเหตุให้อาตมาได้มาเจอบทความนี้  คือกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำเครื่องมืองานไม้  "แบบทำเองใช้เอง"  ประมาณนั้น  ตั้งใจว่าจะปรับปรุงเครื่องมือที่มีอยู่ไำม่กี่ชนิดให้ดีขึ้น  เช่นโต๊ะผ่าไม้ (วงเดือน)  ที่สภาพแย่มาก,  โต๊ะเร้าเตอร์ที่มีความสามารถจำกัดใด้ดีขึ้น  และค่ีอยๆ ทำเพิ่มบางอย่างที่ยังไม่มี เช่น โต๊ะเลื่อยสายพาน,  โต๊ะงานไม้  เป็นต้น ถ้าเครื่องมีพอใช้ได้แ้ล้ว  ต่อไปคือ  "กังหันน้ำ" แบบใช้ไม้สักทำทั้งหมด  แต่ละอย่างที่ว่ามาิหินๆ ทั้งนั้นเลย  ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่าเพราะไม่เคยทำมาก่อน  แต่ก็ฝันไว้ก่อน    

ต้องขอบอกว่า  "กระทู้ หรือบทความนี้"  เป็นประโชยน์มากทีเดียว  ขออนุโมทนาและขอบคุณมากๆ ที่เสียสละทั้งเวลาและความรู้มาแบ่งปันกัน สาธุ  สาธุ  สาธุ  ครับผม

เจริญพร

ผู้แสดงความคิดเห็น พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน (vichan02-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-10-05 21:05:12


ความคิดเห็นที่ 230 (1449775)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

เข้ามาอ่านต่อครับพี่....มาไม่เคยทันคุณโมทย์ซะที555

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-06 20:50:27


ความคิดเห็นที่ 231 (1449788)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

กราบสวัสดีพระคุณเจ้าครับ

ผมดีใจมากครับที่พระคุณเจ้าให้ความสนใจกับบทความนี้และภูมิใจที่ท่านได้สาระ ความสุขและแรงบันดาลใจ จากเรื่องนี้ครับ อ่านความเห็นของท่านแล้วดูเหมือนท่านจะมีกิจกรรมด้านงานไม้อยู่ด้วย ถ้าเป็นไปได้ขอความกรุณาท่านช่วยลงภาพของงานที่ทำอยู่ให้ชมด้วยนะครับ อีกเรื่องที่ผมอยากทราบคือพระคุณเจ้าจำวัดที่ไหนครับ? ถ้ามีโอกาสผมอยากจะไปเยี่ยมครับ

ถ้ามีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ในเรื่องงานไม้กรุณาแจ้งมาเลยนะครับ เบอร์ติดต่อผม 081 8241784 อีเมล์ kematat_k@yahoo.com ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-06 22:45:13


ความคิดเห็นที่ 232 (1449809)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อลากเส้นตรงที่ตั้งฉากกับขอบโต๊ะได้แล้วลำดับต่อไปก็เป็นการตัดหรือเล็มขอบให้ได้ฉากโดยเสียเนื้อไม้น้อยที่สุดครับ  

เครื่องมือที่ผมเลือกใช้คือเลื่อยวงเดือนขนาดใบ 7 ¼ ตามรูปที่ 126 ครับ ก่อนเลื่อยก็ยึดรั้วอลูมิเนียมให้ขนานกับเส้นตั้งฉากที่ลากไว้และห่างจากเส้นตั้งฉากเท่ากับระยะจากใบเลื่อยถึงขอบเลื่อย เนื่องจากระยะกินลึกของเลื่อย (55 มม.) น้อยกว่าความหนาของพื้นโต๊ะ(70 มม.)  ผมจึงต้องตัดจากทั้งสองด้านโดยกะระยะให้คลองเลื่อยเหลื่อมกันน้อยที่สุด

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 00:17:46


ความคิดเห็นที่ 233 (1449812)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

หลังจากเลื่อยหัวโต๊ะให้ได้ฉากแล้วเราก็ปรับขอบไม้ให้ได้ฉากด้วยกบไสไม้ครับ วิธีการไสนั้นเราต้องมีไม้มารองรับตัวกบขณะไสตามรูปที่ 127 A ครับเพราะการที่จะประคองกบให้ได้ฉากกับไม้แล้วไสไม้ตลอดความกว้าง 71 ซม.ให้เป็นระนาบนั้นทำได้ยากมาก

ไม้กระดานรองกบในรูปซึ่งขนานกับใต้ท้องโต๊ะจะช่วยเรารับน้ำหนักทั้งหมดของกบและช่วยให้ใบกบตั้งฉากกับพื้นโต๊ะ ดังนั้นแรงทั้งหมดของเราก็จะใช้การดันกบและไสเฉือนเนื้อไม้ออกให้ตรงและได้ฉากเท่านั้นครับ

คิดดูก็เหมือนง่ายยิ่งมีกบ Veritas มุมใบกบต่ำ Low-Angle Jack Plane (12 องศา) ซึ่งเขาออกแบบมาให้ไสสันไม้เป็นหลักมาเป็นเครื่องมือด้วยแล้วก็น่าจะทำงานได้อย่างง่ายดาย แต่พอไสเข้าจริงกลับไม่เป็นไปดังที่คาดไว้ครับเพราะแรวที่ใช้ในการเฉือนสันไม้ด้วยใบกบหน้ากว้าง 2 ¼ นิ้วบวกกับแรงที่ต้องดันกบสีกับไม้รองเป็นระยะถึงประมาณ 80 ซม.ทำให้ผมหมดกำลังในไม่กี่นาที ไสไม่ไหวจริงๆครับ การไสในระนาบที่ตั้งฉากกับลายไม้หรือ End-grain Planing นี้กินแรงมากที่สุดครับเพราะเป็นมุมที่เนื้อไม้ทนทานต่อแรงเฉือนของใบมีดได้มากที่สุดครับ 

ผมจึงทดลองเปลี่ยนมาใช้กบผิวยาว 9 นิ้วที่มีใบกบกว้าง 2 นิ้ว (51 มม.) ตัวเก่งของผมแทน ตามรูปที่ 127 B แม้จะเบาแรงกว่ากบเหล็กมากแต่ก็ยังไสไม่ถนัดอยู่ดีเพราะพอดันกบห่างตัวออกไปและแขนเริ่มจะเหยียดตรงขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าไม่มีแรงดัน (อาการคล้ายลูกสูบเคลื่อนเข้าใกล้ ศูนย์ตายบนในเครื้องยนต์) จะสังเกตในภาพได้ว่าผมใช้ไม้รองกลางระหว่างท้องโต๊กับไม้ประคองกบตามศรชี้ด้วยนะครับ การหนุนแบบนี้เราทำเพื่อให้ใบกบกินขอบไม้ได้เต็มหน้าเพราะช่วยระหว่างขอบใบกบกับข้างกบไม่มีคมมีดตัดไม้ครับ   

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 00:23:30


ความคิดเห็นที่ 234 (1449814)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

เมื่อไสแบบดันไม่ได้ผมก็เลยนึกถึงการไสโดยดึงเข้าหาตัวแบบกบญี่ปุ่น ตามรูปที่ 127 C โดยใช้นิ้วกลางกับนิ้วนางของมือขวาเข้าไปเกี่ยวไว้ในช่องคายขี้กบตามรูปที่ 128 ผลออกมาดีมากครับ การไสแบบนี้ออกแรงได้ถนัดกว่าและผมสามารถจะประคองกบให้แนบกับไม้รองพร้อมกับดึงกบให้กินไม้อย่างสม่ำเสมอตลอดหน้ากว้างของโต๊ะได้อย่างสบายเลย 

ตามภาพ 128 A และ B จะเห็นว่าด้านข้างกบแนบกับไม้รองเต็มหน้าส่วนในภาพ 128 C และ D จะเห็นว่าผมกดส่วนหน้าของกบแนบไม้รองและยกส่วนท้ายของกบขึ้นขณะไส ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะใบกบกว้างเพียง 51 มม. ส่วนขอบโต๊ะหนา 70 มม. ครับจึงต้องไสสองเที่ยวครับ การกดหัวกบให้แนบกับไม้รองก็ยังช่วยประคองความฉากได้อยู่ครับ  ผมได้กลับไปทดลองใช้กบเหล็กไสแบบดึงเข้าหาตัวเหมือนกันแต่ก็ไม่ถนัดครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 00:26:48


ความคิดเห็นที่ 235 (1449817)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ระหว่างการไสเราก็ต้องหมั่นตรวจสอบความฉากของสันไม้ที่ไสด้วยไม้ฉากครับ 

ในรูปที่ 129 เราจะเห็นการใช้ไม้ฉากสองแบบครับ ในภาพ 129 A จะเป็นการวัดความฉากโดยการกดด้ามของไม้ฉากลงแนบกับผิวโต๊ะแล้วดูความห่างระหว่างใบกับสันโต๊ะ

ส่วนในภาพ 129 B จะเป็นการวัดความฉากโดยการกดด้ามของไม้ฉากเข้ากับสันโต๊ะแล้วดูความห่างระหว่างใบกับพื้นโต๊ะ

การวัดแบบ B จะให้ผลที่เที่ยงตรงกว่าแบบ A ครับเพราะส่วนที่ใบของไม้ฉากที่แนบขนานไปกับชิ้นงานในการวัดแบบ B ยาวกว่าแบบ A มาก ดังนั้นด้วยมุมผิดพลาดที่เท่ากันการวัดแบบ B จะขยายผลความผิดพลาดให้เราเห็นได้ชัดเจนกว่าแบบ A มากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 00:30:01


ความคิดเห็นที่ 236 (1449818)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ในรูปที่ 130 เราจะเห็นขอบโต๊ะด้านสันไม้ที่ไสแล้ว ผมไม่ได้ใช้กระดาษทรายขัดก่อนลงน้ำมันครับจึงเห็นเป็นคลื่นเล็กๆบ้างทางขวามือในรูป

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 00:31:47


ความคิดเห็นที่ 237 (1449828)
avatar
เดชา

ขอชื่นชมและนับถือท่านเขมทัต อย่างหมดใจครับ ยอดฝีมือของแท้ โต๊ะตัวนี้ผมเห็นที่งานมาแล้วยังนึกอยู่ว่าใครหนอช่างมีความสามารถและความเพียรอย่างมากที่สร้างขึ้นมาได้ มาอ่านเรื่องราวการสร้างของท่านแล้วผมยังได้ความรู้อีกมาก ขอขอบคุณที่กรุณานำมาถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์และเป็นแรงผลักดันให้มีกำลังใจแก่ผู้ที่ชอบทำงานไม้ทุกๆคนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เดชา วันที่ตอบ 2011-10-07 07:37:45


ความคิดเห็นที่ 238 (1449852)
avatar
earth

คุณเขมทัตครับ

ผมอ่านข้อความในความเห็นที่235 แล้วรู้สึกว่าข้อความที่บรรยายใต้ภาพที่129กับข้อความในวรรคท้าย

มีความขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องที่ว่าการวัดแบบไหนให้ความเที่ยงตรงมากกว่ากันระหว่างAและB รบกวนคุณเขมทัตลองตรวจสอบด้วยนะครับ

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น earth วันที่ตอบ 2011-10-07 09:40:27


ความคิดเห็นที่ 239 (1449899)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนคุณ earth

ขอบคุณมากที่แจ้งมาให้ผมทราบครับ จริงอย่างที่คุณ earth กล่าวครับ เดิมผมเขียนคำบรรยายใต้รูปที่ 129 ว่า:

รูปที่ 129: ตรวจความฉากแบบ A ให้ผลที่เที่ยงกว่าแบบ ซึ่งไม่ถูกต้อง ผมได้แก้ไขข้อความที่ว่าแล้วเป็น

รูปที่ 129: ตรวจความฉากแบบ B ให้ผลที่เที่ยงกว่าแบบ A (แก้ไขข้อความจากเดิม)

ขอบคุณคุณ earth อีกครั้งครับ

 

เรียนคุณ เดชา

ขอบคุณสำหรับคำชมครับ

 

เขมทัต

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 13:41:50


ความคิดเห็นที่ 240 (1449982)
avatar
พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน

ตอบคุณโยมตามความเห็นที่ ๒๓๑ ครับ

เรื่องรูปกิจกรรมด้านงานไม้ก็พอมีอยู่บ้างแต่ไม่มากครับ  วันนี้ช่วงบ่ายอาตมาพยายามจะเอารูปมาวางในกระทู้ตั้งสองครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ  ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด  ก็เลยไม่ได้เห็นรูป  เอาเป็นว่าขอเวลาศึกษาเกี่ยวกับการวางรูปอีกสักระยะหนึ่งก่อน  แล้วจะเอามาให้ชมภายหลังครับ  อาตมาห่างเหินจากงานไม้มาปีกว่าๆ แล้ว  งานชิ้นล่าสุดเป็นชั้นวางทีวีเล็กๆ ทำถวายหลวงพ่อฯ ท่านเจ้าอาวาส  เมื่อก่อนเข้าพรรษาปีที่แล้ว (ปี ๕๓) พอหลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่เลยครับ

ที่อยู่ครับ  วัดสวนลำไย  ต.เหมืองง่า  อ.เมือง  จ.ลำพูน ๕๑๐๐๐ โทร. ๐๘ ๖๗๒๙ ๗๑๔๑  ถ้ามีโอกาสได้มาทางเหนือเชิญแวะเยี่ยมเยือนได้นะครับ  ยินดีต้อนรับครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน (vichan02-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-10-07 22:39:58


ความคิดเห็นที่ 241 (1449986)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

กราบสวัสดีพระคุณเจ้าครับ

ผมเข้าใจว่าการแนบรูปถ่ายในเว็ป Thaicarpenter.com จะทำได้กรณีเป็นสมาชิกเท่านั้นครับ ถ้าท่านไม่ได้เป็นสมาชิกขอความกรุณาให้ท่านแนบไฟล์รูปถ่ายที่จะแสดงส่งมากับอีเมล์ถึงผมที่ kematat_k@yahoo.com นะครับ ผมจะนำรูปขึ้นแสดงในกระทู้ให้ครับ

ขอบพระคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-07 23:02:16


ความคิดเห็นที่ 242 (1449995)
avatar
ธัญ ไม้ทัย

 ช่วงนี้ผมเข้าthaicarpenterจะไม่ค่อยไปไหนเลยครับนอกจากกระทู้นี้ เข้ามาก็จะมาชื่นชมงาน มาทบทวนความรู้บางครั้งก็มีมึนบ้างครับเพราะรายละเอียดเยอะมาก 

ผู้แสดงความคิดเห็น ธัญ ไม้ทัย (thanpisist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-08 00:22:13


ความคิดเห็นที่ 243 (1449996)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียน คุณธัญ ไม้ทัย

ขอบคุณที่ติดตามครับ อย่างที่เรียนไว้แต่แรกว่าผมเป็นมือใหม่หัดเขียน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่อาจจะใช้คำหรือวิธีอธิบายที่เข้าใจยาก ถ้าเป็นไปได้ช่วยบอกด้วยครับว่าเรื่องใดที่เขียนที่อยู่ในข่ายเข้าใขยากบ้าง เพื่อที่ผมจะได้ประเมินวิธีการสื่อสาร และปรับปรุงงานเขียนครับ ไม่ต้องเกรงใจนะครับขอความรู้สึกจริงของ คุณธัญ ไม้ทัย เลยครับ

 

ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-08 00:30:47


ความคิดเห็นที่ 244 (1450101)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

กราบสวัสดีท่าน พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน ครับ
 
รูปผลงานของพระคุณเจ้าทั้งสองรูปที่ส่งมาให้ผมนั้นเป็นงานไม้ที่ไม่ธรรมดาเลยครับ

รูปแรกที่ท่านเรียกว่า "ตู้เก็บทุกอย่าง" ที่ดูเหมือนจะทำจากไม้สักทองนั้น ออกแบบได้ทันสมัยดีครับ ฝีมือสร้างและการทำสีลงเงาดูประณีตงดงามมากครับ
 
ขอยกนิ้วให้เลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-08 22:26:15


ความคิดเห็นที่ 245 (1450105)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ต่อจากความเห็นที่ 244

ส่วนภาพที่สองนี้ยิ่งยืนยันว่าพระคุณเจ้าอยู่ในขั้นมืออาชีพเลยทีเดียวครับ ผลงานของท่านน่าสนใจมากครับ

ผมเชื่อว่าผู้อ่าน ThaiCarpenter.com อีกหลายท่านน่าจะอยากทราบความเป็นมาเรื่องการทำงานไม้ และผลงานอื่นๆของพระคุณเจ้าครับ

ขอแนะนำให้ท่านเขียนเรื่องลงกระทู้เลยครับ จะส่งให้ผมลงให้หรือส่งให้เวปมาสเตอร์ก็ได้ครับ

ผมเห็นภาพที่ท่านส่งมาแล้วก็คุยกับภรรยาว่า ขึ้นเหนือครั้งต่อไปต้องไปทำบุญที่วัดวัดสวนลำไย กราบทำความรู้จักท่าน และขอเยี่ยมชมผลงานและห้องทำงานไม้ของท่านครับ 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-08 22:45:05


ความคิดเห็นที่ 246 (1450170)
avatar
พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน

เจริญพรครับ

ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณโยมเขมทัตมากเลยนะครับที่จักการเรื่องรูปให้  แล้วยังอนุญาติให้เขียนเรื่องลงในกระทู้อีกด้วย  อาตมาจะขอเล่าแบบย่อๆ ก็แล้วกันนะครับพอได้ความ (ไม่ค่อยถนัดเรื่องเขียนสักเท่าไร) อีกอย่างจะได้ไม่เป็นการคั่นรายการนานเกินไป 

เริ่มจาก "ตู้เก็บทุกอย่าง" ก่อนนะครับตามความเห็นที่ ๒๔๔ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเริ่มทำเมื่อปี ๔๗ เป็นงานชิ้นแรกที่ทำเป็นเรื่องเป็นราวครับ  และทำด้วยความ  จะเรียกว่า "ยากมาก" ก็ถูกครับ  เพราะเป็นงานแรกซึ่งยังขาดทั้งประสบการณ์และความรู้เป็นอย่างมาก แต่อาสัยใจที่ชอบงานด้านนี้  จึงตัดสินใจลุยเลย  ลองดูครับ  ทำด้วยมือจริงๆ เครื่องมือที่มีก็แบบ "วัดๆ" นะครับ  บางท่านอาจจะเคยเห็นที่เขาจัดเป็นชุดขายไว้ใช้เป็นเครื่องประกอบในงานกฐินเป็นต้น  หนึ่งชุดก็มี เลื่อย, สิ่ว, ขวาน, กบไม้, และอื่นๆ อีกสองสามอย่าง  ราคาอยู่ที่ชุดละประมาณ สามร้อยกว่าบาท (ตอนนั้น) คุณภาพก็เลยตามนั้นครับ.....แต่ยังโชคดีที่มีโต๊ะเลื่อยวงเดือนเก่าๆ ที่ช่างเขาไม่เอาไป (ช่างสร้างศาลา) ก็ได้เลื่อยตัวนี้แหละทั้งทำลูกฝัก,ทำบัวหรือคิ้วครึ่งวงกลม  ส่วนวิธีทำจะไม่ขออธิบายนะครับเกรงว่าจะยาวเกินไป  ถ้ามีโอกาสค่อยเล่าให้ฟังทีหลัง  และอีกหนึ่งอย่างคือสว่าไฟฟ้ามากิต้ารุ่นที่เป็นสีตะกั่วเทาๆ นะครับ  ใช้เจาะนำร่องบ่าเดือยก่อนจะใช้สิ่งแต่ง และสลักไม้  ส่วนไม้ที่ใช้ทำเป็นไม้สักทองทั้งหมด  อาตมารู้สึกว่ายากตรงการปรับไม้ให้ได้ฉากได้มุนนี่แหละ  เพราะว่าไม่ใช่เป็นไม้จากโรงเลื่อย  แต่เป็นไม้ที่ชาวบ้านใช้เมือเลื่อย  กว่าจะปรับได้แต่ละชิ้นแต่ละแผ่นเล่นเอากล้ามขึ้นเลยครับ  ใช้เวลาทำประมาณสองเดือนกว่าๆ ส่วนเรื่องสีให้ช่างสีทำให้ครับ  ทาเองตอนรอบสุดท้าย  ตู้เก็บของเท่านี้นะครับ 

ส่วนความเห็นที่ ๒๔๕  วันอื่นค่อยมาต่อนะครับ  ขอบคุณครับผม

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน (vichan02-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-10-09 17:20:18


ความคิดเห็นที่ 247 (1450185)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

เรียนท่านผู้อ่านทุกท่าน

ผมได้ทำการคัดลอกข้อความที่เกี่ยวกับงานไม้ของท่าน พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน จากกระทู้นี้ไปลงใน กระทู้ใหม่ที่มีชื่อว่า "งานไม้ของท่าน พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน" เพราะผมมีความเห็นว่าผลงานไม้ของท่านวิชาญฯน่าสนใจมากและควรที่จะแยกออกเป็นกระทู้อิสระ ขอให้ท่านติดตามกระทู้ใหม่นี้ได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ:

http://www.thaicarpenter.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaicarpentercom&thispage=&anspage=1&No=1407407

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 17:58:05


ความคิดเห็นที่ 248 (1450192)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

วันนี้ผมมีโอกาสได้ไปจังหวัดอยุธยามาครับ ภรรยากับผมได้ติดตามข่าวน้ำท่วมเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านมาหลายวันแล้วแล้วก็รู้สึกว่าเรายังโชคดีกว่าเขาอยู่มาก จึงชวนเพื่อนสนิทของภรรยาไปซื้อของที่แม็คโครแล้วนำไปช่วยเหลือชาวบ้านแถบโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ครับ

เราเลือกซื้อของจำเป็นในการยังชีพซึ่งประกอบด้วย น้ำดื่ม บะหมี่สำเร็จรูป ถุงดำ ไฟแช็ค กระดาษม้วน นมถั่วเหลืองกล่อง ถ่านไฟฉาย ยาสามัญ จานชามกระดาษ จากแมคโครแล้วผมก็นั่งรถ Fortuner ไปกับคุณป้อมผู้เป็นโชเฟอร์ไปส่งมอบของให้คุณเกรียงไกร ด่านชัยวิจิตรเพื่อนสนิทของภรรยาอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนในพื้นที่ รับไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านอีกทีหนึ่ง กว่าจะเข้าไปถึงจุดส่งมอบของบริจาคเราต้องฝ่ารถติดหน้าห้างโลตัสกันเกือบหนึ่งชั่วโมงเลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:18:20


ความคิดเห็นที่ 249 (1450193)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ส่งของแล้วคุณป้อมโชเฟอร์ก็เลยไปรับเพื่อนทางแถบนิคมอุตสาหกรรมโรจนะซึ่งอยู่ทางตะวันออกของถนนสายเอเซีย สภาพน้ำท่วมน่ากลัวมากครับ ระหว่างอยู่บนสะพานข้ามถนนสายเอเซียก็เห็นรถที่คนในพื้นที่มาจอดหนีน้ำอยู่บนสะพานถึง 3 เลนครับ

ท่านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงวางแผนกันหรือยังครับว่าจะนำรถของท่านไปจอดที่ไหน?

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:21:01


ความคิดเห็นที่ 250 (1450194)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ระหว่างอยู่บนสะพานผมมองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือนิคมเห็นอาคารโรงงานฮอนด้าถูกล้อมด้วยผืนน้ำขนาดใหญ่ครับ น่าเห็นใจผู้ประกอบการและคนงานละแวกนี้มากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:25:03


ความคิดเห็นที่ 251 (1450195)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ลงจากสะพานมาก็ได้ลุยน้ำลึก 30 - 40 ซม.บนถนนโรจนะอยู่ 2-3 กม. จึงได้พบกับเพื่อนของคุณป้อมที่เดินลุยน้ำลึกขนาดหน้าขามาจากข้างทาง

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:26:32


ความคิดเห็นที่ 252 (1450196)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ระหว่างทางขากลับเห็นน้ำไหลบ่าข้ามเกาะกลางถนนจากเหนือมาใต้ด้วยความเร็วที่น่ากลัวทีเดียวครับ

 

ท่านผู้อ่านเตรียมรับมือกับน้ำท่วมหรือยังครับ ถ้ายังรีบประเมินสถานการณ์แล้วเตรียมการเลยครับ ถ้าพร้อมแล้วอยากชวนให้ช่วยชาวต่างจังหวัดที่เขาเดือดร้อนตามกำลังของท่านครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:28:11


ความคิดเห็นที่ 253 (1450201)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

กลับมาสู่เรื่อง "โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม" นะครับ

เรื่องต่อไปที่จะเล่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายของกระบวนการสร้างโดยละเอียด ครับ 
 

6.8) การอุดรอยตำหนิในไม้เก่าและการเสริมความแข็งแรงของไม้  การอุดไม้ที่พี่เติมกับผมทำบนโต๊ะตัวนี้มีสองลักษณะครับ คือ
6.8.1) อุดเพื่อพรางตำหนิ และ
6.8.2) อุดเพื่อเสริมความแข็งแรงของไม้


6.8.1) อุดเพื่อพรางตำหนิ 

ในการสร้างโต๊ะช่างไม้ในฝันตัวนี้นอกจากเดือยไม้สักบนเสาประคองแล้วไม้ที่ทำส่วนอื่นทุกชิ้นทำจากไม้ประดู่เก่าครับ เรื่องหนึ่งที่มากับไม้เก่าคือรอยรูตะปู รอยรูน๊อต รอยแตกร้าว และตะปูที่หักฝังอยู่ในเนื้อไม้ครับ ผมจำได้ว่าไม้ประดู่ขนาด 8 x 3 นิ้วที่ทำหน้าโต๊ะชิ้นหนึ่งมีตะปูตอกสายไฟและเข็มขัดอะลูมิเนียมอยู่ทุก 5 ซม.ตลอดความยาว 10 ศอกหรือ 5 เมตร คำนวณดูง่ายๆก็ 20 ตัวต่อเมตรหรือ 100 ตัวต่อ 5 เมตรครับ นอกจากตะปูตอกสายไฟเราก็เจอตะปูขนาด  1 ½ , 2, 3, 4 และ 6 นิ้ว กระจายอยู่ในไม้ทุกท่อนด้วยครับ พี่เติมกับผมช่วยคนงานที่โรงไม้ถอนตะปูในไม้ประดู่เก่าด้วยคีมปากนกแก้ว สิ่วและค้อน จนชำนาญไปเลยครับ หมดเวลาไปร่วม 2 ชั่วโมงกว่าจะกำจัดตะปูที่เห็นไปจนหมด แต่ระหว่างไสไม้ด้วยเครื่องไสชิดเราก็พบว่ายังมีอีกหลายตัวที่เราไม่เห็น แต่ใบกบเห็นแล้วก็บิ่นไปตามระเบียบครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:43:32


ความคิดเห็นที่ 254 (1450203)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ตอนแรกที่ตั้งใจจะใช้ไม้เก่าผมก็คุยกับพี่เติมว่าเราควรจะเจาะรูกลมล้างรอยตำหนิจากรูตะปูเดิมทุกรูแล้วอุดด้วยเดือยกลมเรียวที่ตัดจากดอกกัดเดือยตามรูปที่ 131

แต่หลังจากที่ไสเปิดผิวไม้แล้วก็ต้องคิดใหม่ครับ เพราะจำนวนรูตะปูมากมายเหลือเกิน พี่เติมก็พูดอย่างอารมณ์ดีขึ้นมาว่า “ผมว่าปล่อยไว้อย่างที่เห็นก็น่าจะได้นะ ถือว่าเป็น Feature ก็แล้วกัน” คำว่า Feature ที่ว่านี้พี่เติมตั้งใจจะหมายถึง ลักษณะเฉพาะหรือลูกเล่นนั่นเองครับ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:47:18


ความคิดเห็นที่ 255 (1450204)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อได้ดูไม้อย่างใกล้ชิดทุกชิ้นแล้วแล้ว เราก็สรุปกันว่าเราควรจะเลือกอุดเฉพาะบางรูเท่านั้นเพราะถ้าอุดทุกรูด้วยเดือยกลม เราก็จะเห็นรอยขอบเดือยอยู่ดี รอยขอบเดือยกลมนี้จะไม่น่าดูเลยกรณีที่มีเดือยอุดตำหนิหลายรูอยู่ใกล้กันตามรูปที่ 132 ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:49:33


ความคิดเห็นที่ 256 (1450205)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ระหว่างการทำโต๊ะตัวนี้เราพบว่าการพรางตำหนิไม้ประดู่ด้วยเดือยสี่เหลี่ยมจะออกมาดูสนิทเนียนกว่าเดือยกลม เพราะรอยเส้นขอบเดือยจะไม่เด่นชัดเท่าเดือยกลมตามการเปรียบเทียบในรูปที่ 133 แต่ปัญหาของเดือยเหลี่ยมคือกินเวลามากครับ ต้องใช้สิ่วเจาะรูแต่งขอบให้ฉากทั้ง 4 มุม แล้วใช้กบกับกระดานไสฉากแต่งเดือยเหลี่ยมให้สนิทกับรูทีละด้าน

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:50:55


ความคิดเห็นที่ 257 (1450210)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ดังนั้นเราจึงเลือกอุดรูเฉพาะบางรูเท่านั้นครับโดยมีวิธีเลือกดังนี้ครับ: 

1. ถ้ารูตำหนิที่ขนาดใหญ่กว่า ½ นิ้ว และอยู่ในที่ๆมองเห็นชัดเราตัวอุดพรางด้วยเดือยเหลี่ยม

2. ถ้ารูตำหนิเล็กกว่า ½ นิ้ว และอยู่ในที่ๆมองเห็นชัดเราตัวอุดพรางด้วยเดือยกลม

3. ส่วนรูตะปูตอกสายไฟและรอยตำหนิเล็กๆที่อยู่เป็นกลุ่มเช่นบริเวณด้านบนของไม้ประกบท้ายโต๊ะหรือขาโต๊ะตามรูปที่ 134 เราปล่อยไว้ตามสภาพครับเพราะถ้าอุดแล้วก็จะเห็นเป็นรอยชัดเจนตามภาพที่ 132 ซึ่งไม่ถือว่าดีกว่าก่อนอุด สู้ปล่อยให้เป็นลักษณะเฉพาะ Feature ตามที่พี่เติมแนะไม่ได้ครับ :)

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-09 20:57:00


ความคิดเห็นที่ 258 (1450300)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ต่อไปผมจะอธิบายวิธีอุดรูพรางตำหนิด้วยเดือยกลมและเดือยสี่เหลี่ยมโดยละเอียดดังนี้ครับ:

การอุดรูพรางตำหนิด้วยเดือยกลม

เริ่มจากการใช้ดอกขูด Forstner Bit เจาะรูครอบรูตะปูหรือตำหนิเดิมตามรูปที่ 135A ดอกขูดจะตัดขอบรูออกมาเรียบคมมากตามรูปที่ 135Bครับ เราเลือกขนาดรูตามขนาดดอกเจาะเดือยที่มีโดยให้รูที่เจาะใหญ่กว่ารอยตำหนิเล็กน้อยและเจาะรูให้ความลึกประมาณ 3/4 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 00:04:08


ความคิดเห็นที่ 259 (1450302)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมมีดอกกัดเดือยกลมอยู่ 3 ขนาดคือ 1/2, 3/8 และ 1/4 นิ้ว ดอกทั้งสามวางอยู่คู่กับดอกขูดขนาดเดียวกันในรูปที่ 136A 

ดอกกัดเดือยประเภทนี้ชื่อว่า Tapered Plug Cutter หรือดอกกัดเดือยกลมเรียว เดือยที่กัดออกมาจะมีหน้าตัดกลมและมีรูปทรงด้านข้างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูตามรูปที่ 136B ครับ 

การกัดเดือยกลมเรียวเริ่มจากการเลือกไม้ทำเดือยที่สีและลายใกล้เคียงกับเนื้อไม้รอบรอยตำหนิครับ การกัดเดือยใช้สว่านแท่นจับดอกกัดเดือย เมื่อเรากดสว่านลงให้ดอกกัดเดือยกินเนื้อไม้ตามรูปที่ 136C ดอกจะกัดไม้เป็นวงแหวนโดยที่ตัวเดือยจะเป็นไม้ที่เหลืออยู่ในวงแหวนตามรูปที่ 136D ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 00:09:54


ความคิดเห็นที่ 260 (1450307)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อเจาะจนสุดดอกกัดเดือยแล้วก็ใช้เลื่อยตัดโคนเดือยออกตามภาพที่ 137A เดือยตามภาพที่ 137B จะหลุดออกมา

นำเดือยที่ได้ไปลองกดลงไปในรูที่เจาะไว้ด้วยดอกขูดเพื่อดูรอยสัมผัสโดยรอบตามภาพที่ 137C

เมื่อได้เดือยที่แน่นสนิทดีเราแล้วก็ทำความสะอาดรูและเดือยทากาวเล็กน้อย ปรับลายไม้ของเดือยและลายไม้รอบๆรูให้อยู่ในแนวเดียวกัน  แล้วใช้ค้อนเคาะเดือยลงให้แน่น ตามรูปที่ 137D ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 00:27:24


ความคิดเห็นที่ 261 (1450311)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

หลังจากกาวแห้งเราก็เฉือนปาดเนื้อไม้ส่วนเกินที่ยอดเดือยออกด้วยสิ่วตามภาพที่ 138A ครับ เมื่อเหลือเนื้อไม้ที่โผล่จากผิวประมาณ 1 ถึง 2 มม. ตามภาพที่ 138B เราก็ใช้กบผิวไสเดือยที่เหลือจนเสมอผิวไม้รอบข้าง

เหตุที่ต้องใช้กบผิวเพราะเราต้องระวังไม้ย้อนครับ แม้จะเลือกลายไม้บนเดือยให้ใกล้เคียงกับไม้รอบๆรูเราก็อาจเจอเนื้อไม้ย้อนกันก็ได้ครับ ถ้าไม้ย้อนกันแล้วเราใช้กบที่มีช่องเปิดหน้าใบกบกว้างอย่างกบล้างไสก็มีโอกาสสูงที่ไม้ที่ผิวเดือยหรือผิวรอบๆจะฉีกครับ ถ้าใช้กบผิวจะปลอดภัยกว่าครับ

หลังจากไสด้วยกบผิวจนเดือยเรียบเสมอกับไม้รอบข้างแล้วก็จะได้ผลออกมาตามภาพที่ ตามภาพที่ 138C ครับ 

โดยรวมแล้วการอุดรอยตำหนิด้วยเดือยกลมเรียวสะดวกและรวดเร็วมาก จะยากอยู่เรื่องเดียวคือการหาลายไม้ให้เข้ากันครับ
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 00:58:18


ความคิดเห็นที่ 262 (1450315)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

การอุดรูพรางตำหนิด้วยเดือยเหลี่ยม 

การพรางตำหนิไม้ด้วยเดือยเหลี่ยมมี 2 ขั้นตอนครับคือการเจาะร่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและการทำเดือยที่มีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีรูปทรงด้านข้างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูครับ   

อุปกรณ์ในการเจาะร่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามี ไม้ฉาก มีดกรีดไม้ ขอขีด สิ่ว เวอร์เนียร์ และค้อนไม้ ตามรูปที่139 ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 01:07:41


ความคิดเห็นที่ 263 (1450323)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เราเริ่มจากการกำหนดตำแหน่งที่ร่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้ครอบคลุมตำหนิไม้ กรีดด้านขวางลายไม้โดยลากคมมีดแนบกับไม้ฉาก และกรีดด้านตามลายไม้ด้วยขอขีดจะได้รอยกรีดและรอบขีดตามภาพที่140A ใช้สิ่วเจาะรูสี่เหลี่ยมด้านในของรอยมีด ตามภาพ 140B ให้ได้ความลึกที่ต้องการ

เมื่อเจาะเนื้อไม้จนเหลือประมาณ 2 มม.จากรอยมีดให้ประคองใบสิ่วให้อยู่ในแนวดิ่งและเจาะเนื้อไม้ให้ห่างจากรอยมีดประมาณ 1 มม. ตามภาพที่140C หลังจากเจาะทั้งสี่ด้านแล้วจะได้ผลตามภาพที่ 140D

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 01:28:02


ความคิดเห็นที่ 264 (1450336)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

ขั้นตอนต่อไปเป็นการเก็บขอบร่องสี่เหลี่ยมตามแนวใบมีดที่กรีดไว้ ท่านจะเห็นว่าแม้รอยกรีดจะคมบางแต่ก็มีร่องที่ลึกพอที่จะวางใบสิ่วลงอย่างแม่นยำได้ ตามที่เห็นในภาพที่ 141A ครับ วิธีนี้เหนือกว่าการวางสิ่วบนเส้นดินสอมากครับเพราะถ้าใช้เส้นดินสอเราจะได้เส้นที่มีความกว้างมากทำให้วางคมสิ่วไม่ง่ายเลย แต่ถ้ามีรอยกรีดเราแทบไม่ต้องเล็งเลยครับเพราะถ้าวางคมสิ่วในแนวมีดกรีดพอดีเราจะรู้สึกได้เลยว่า "คมสิ่วตกร่อง"

เมื่อสิ่วอยู่ในร่องอย่างมั่นคงแล้วก็ประคองใบให้ฉากกับงานแล้วตอกด้วยค้อนอย่างมั่นคง เนื่องจากเราเหลือเนื้อไม้ที่จะเฉือนออกเพียง 1 มม.การตอกอย่างมั่นคงเพียงครั้งเดียวก็จะทำให้สิ่วกัดเนื้อไม้ลงไปได้เกือบถึงพื้นร่องครับ เมื่อเล็มขอบด้านแรกแล้วจะได้ผลตามภาพที่ 141B ครับ

เจาะขอบร่องด้านตรงข้ามด้วยวิธีเดียวกัน แล้วขยับมาเจาะขอบด้านยาว ตามภาพที่ 141C การเจาะขอบด้านยาวนี้เป็นการเฉือนตามเนื้อไม้ สิ่วจะกินไม้ง่ายมากครับเพราะไม้มีกำลังหรือแรงต้านการเฉือนน้อยกว่าสองด้านแรก

เมื่อเจาะเล็มขอบครบสี่ด้านจะได้ร่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีขอบคมและเรียบดิ่งตามภาพที่ 141D ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 01:53:50


ความคิดเห็นที่ 265 (1450396)
avatar
ธัญ ไม้ทัย

 สำหรับผมแล้ว วิธีการสื่อสาร ลำดับขั้นตอนการอธิบาย การใช้ภาษาต่างๆของคุณเขมทัต เข้าใจง่ายดีครับ แต่เห็นโต๊ะงานไม้งามๆ ดูเรียบๆ่ง่ายๆอย่างนี้ ไม่คิดว่าจะมีรายละเอียดมากมายขนาดนี้จึงเป็นเรื่องน่าติดตามและนำมาปฏิบัติครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น ธัญ ไม้ทัย (thanpisist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 12:58:54


ความคิดเห็นที่ 266 (1450404)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ขอบคุณคุณธัญ ไม้ทัย ที่ติดตามมาโดยตลอดครับ ผมดีใจที่คุณธัญเข้าใจภาษาและวิธีการอธิบายที่ผมใช้ครับ บ่อยครั้งที่เขียนเสร็จแล้วต้องแก้ใหม่เพราะภาษาซับซ้อนเกินไปครับ

โชคดีที่มีกล้องถ่ายรูปคู่ใจอยู่ใกล้มือ ก็เลยเก็บภาพได้สะดวก

แต่เมื่อคืนนี้คงเป็นโชคร้ายของผมที่กล้อง Casio Exelim คู่ใจ (ตามภาพ) ที่ใช้มาเกือบ 3 ปีและเป็นกำลังหลักในการเก็บภาพระหว่างทำโต๊ะตัวนี้ มีอาการป่วยกระทันหันครับ ใครพอทราบร้านซ่อมที่เชื่อถืดได้รบกวนช่วยแนะนำผมด่วนด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-10 13:26:44


ความคิดเห็นที่ 267 (1450714)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

กล้องถ่ายรูปใช้ได้แล้วครับ

ผมขอกลับไปขยายความเรื่องการใช้มีดกรีดเส้นแทนการใช้ดินสอสักหน่อยนะครับ เพราะกลับไปย้อนอ่านที่ตัวเองเขียนแล้วรู้สึกว่าจะกล่าวอ้างว่า “ถ้าใช้เส้นดินสอเราจะได้เส้นที่มีความกว้างมากทำให้วางคมสิ่วไม่ง่ายเลย” โดยไม่ได้มีหลักฐานเปรียบเทียบประกอบเลย บางท่านอาจยังไม่เข้าใจและยังไม่คล้อยตามครับ 

ขอเริ่มด้วยการขยายความเรื่องที่ผมกล่าวว่า “เส้นดินสอมีความกว้างมาก” โดยผมจะเปรียบเทียบการลากเส้นขนานกับไม้ฉากให้ดูสองแบบตามรูปที่ 142 นะครับ แบบแรกเป็นการลากเส้นดินสอขนาด 0.9 มม. (0.5 และ 0.7 มม. หักง่ายเกินไปสำหรับผมครับ) ตามภาพ 142A ส่วนแบบที่สองเป็นการใช้มีดกรีดตามภาพ 142B ครับ รอยกรีดในภาพ 142B เป็นการกรีดที่หนักกว่าปกติเพราะผมอยากให้แน่ใจว่ากล้องจะจับภาพรอยกรีดได้ชัดเจน แม้กระนั้นท่านจะเห็นได้ว่ารอยมีดกรีดที่หนักนี้ก็ยังบางคมกว่ารอยเส้นดินสอครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-11 21:53:21


ความคิดเห็นที่ 268 (1450719)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ส่วนเรื่องที่ผมให้ความเห็นว่าเส้นดินสอ “ทำให้วางคมสิ่วไม่ง่ายเลย” นั้นขอให้ดูรูปที่ 143 ประกอบคำอธิบายนะครับ 

กรณีที่ 1 ตามภาพที่ 143A คมสิ่วอยู่ชิดทางซ้ายของเส้นดินสอ
กรณีที่ 2 ตามภาพที่ 143B คมสิ่วอยู่ชิดชิดทางขวาของเส้นดินสอ
กรณีที่ 3 ตามภาพที่ 143C ด้านหน้าของคมสิ่วอยู่ชิดทางซ้ายของเส้นดินสอ ด้านหลังชิดขวา
กรณีที่ 4 ตามภาพที่ 143D ด้านหน้าของคมสิ่วอยู่ชิดทางขวาของเส้นดินสอ ด้านหลังชิดซ้าย 

ถ้าใช้เส้นดินสอเป็นหลัก การวางคมสิ่วทั้งสี่กรณีถือว่าอยู่บนเส้นหรือ “เข้าเป้า” ครับเพราะทุกกรณีอยู่บนเส้นดินสอ

แต่สำหรับงานละเอียดบางแบบเช่นการเข้าหางเหยี่ยวหรือการอุดเดือยเหลี่ยมแล้ว เราจะเห็นรอยห่างในการเข้าไม้ได้อย่างชัดเจนในกรณีที่ 3 และ 4 ส่วนกรณีที่ 1 และ 2 ถ้าวางคมชิดด้านใดด้านหนึ่งทุกครั้งไปก็อาจจะไม่เห็นรอยห่าง แต่ถ้าชิดขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ก็จะเห็นความห่างได้ชัดเจนครับ ด้วยเหตุผลจากกรณีทั้งสี่ที่กล่าวมานี้ผมจึงสรุปว่าการวางคมสิ่วบนเส้นดินสอไม่ง่ายเลยครับ สำหรับท่านที่สายตาไม่คมชัดก็ยิ่งแล้วใหญ่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-11 22:07:39


ความคิดเห็นที่ 269 (1450721)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

วิธีที่ผมชอบใช้คือการวางคมสิ่วในรอยมีดกรีดครับเนื่องจากวางสิ่วลงร่องง่ายมากไม่ต้องพึ่งสายตาว่าจะวางสิ่วตรงไหนของเส้นเพราะถ้าคมอยู่ในร่องแล้วน้ำหนักของตัวสิ่วก็จะพาปลายคมสิ่งไปสู่ส่วนที่ลึกที่สุดของร่องเสมอซึ่งต่างกับการที่สิ่วที่อยู่บนรอยดินสอซึ่งเป็นผิวราบครับ  

ในกรณีที่เราจะวางคมสิ่วในร่องมีดถ้าเราประคองใบสิ่วด้วยนิ้วมือเบาๆเราจะรู้สึกเลยครับว่าในขณะที่ “คมสิ่วตกร่อง” นั้นสิ่วจะขยับผ่านนิ้วเราลงไปสู่ก้นร่องและถ้าเราอยู่ในห้องเงียบๆเราก็จะได้ยินเสียงดัง “ตึก” เบาๆด้วยครับ เนื่องจากร่องที่มีดกรีดมีความลึกเมื่อคมสิ่วตกลงไปในร่องแล้วจะบิดตัวยากครับเพราะสิ่วต้อง “ปีน” ขึ้นมาจากร่องครับ 

ในขณะที่การวางคมสิ่วบนเส้นดินสอไม่ง่ายเลย การวางคมสิ่วในร่องตามรูปที่ 144 นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมากครับ ขอแนะนำให้ท่านทดลองยามว่างนะครับ มีดที่จะใช้เป็นคัตเตอร์ธรรมดาก็ได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-11 22:10:10


ความคิดเห็นที่ 270 (1450744)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมมีโอกาสได้พบกับ “ช่างยี” ช่างไม้ฝีมือดีทีมีอุปนิสัยน่านับถือผู้ที่ผมเคยกล่าวถึงใน ความเห็นที่ 3 ครับ ผมไม่ได้พบช่างยีเกือบ 10 ปี ทุกครั้งทีเจอช่างผมก็จะชวนคุยเรื่องงานช่างไม้ ผมชอบฟังช่างยีเล่าเรื่องการทำงานไม้ในสมัยที่ช่างยีหัดงานใหม่ๆ การใช้เครื่องมือประเภทต่างๆในอดีต ครั้งนี้ช่างยีเล่าให้ฟังว่าช่วงที่ละครเรื่อง คมแฝก กำลังดังเมื่อสองปีก่อนนั้นช่างยีได้ทำคมแฝกไม้ชิงชันออกขายเป็นจำนวนไม่น้อย ก็ถือเป็นรายได้เสริมจากการทำเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินของถนัดของช่างยีครับ

ผมมีโอกาสพาช่างยีไปชม “โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม” ช่างยีถูกใจมากและคิดจะสร้างขึ้นมาใช้เองตัวหนึ่งเพราะ 40 กว่าปีที่ทำงานไม้มาช่างยีไม่ได้ทำโต๊ะช่างไม้ที่คงทนถาวรไว้ใช้เลย

ผมเล่าให้ช่างยีฟังว่าวันที่ไปแสดงโต๊ะตัวนี้มี่งานรวมพลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพี่เติมกับผมได้รับคำถามจำนวนมากจากผู้ที่มาสัมผัสโต๊ะตัวนี้ว่า “ขายเท่าไหร่?” และ “รับจ้างต่อไหม?” คำตอบที่พี่เติมกับผมให้กับทุกท่านคือ “ตัวนี้ไม่ได้ทำมาขายครับ นำมาให้ดูอย่างเดียวครับ” “ไม่ได้รับจ้างต่อครับ” บางท่านก็ยังถามต่อว่าทำอย่างไรจึงจะได้โต๊ะอย่างนี้บ้าง ผมก็ตอบว่า “ถ้าอยากได้จริงๆ ต้องต่อเองครับ วัดแบบไปได้เลยครับ ผมยินดีให้คำแนะนำในการทำครับ”

ผมก็ตระหนักดีว่าคำตอบของผมในวันนั้นคงไม่โดนใจหลายๆท่าน มาวันนี้ผมก็เลยถามช่างยีว่าสนใจที่จะทำออกขายหรือไม่ ถ้าสนใจผมยินดีจะช่วยออกแบบให้พร้อมประชาสัมพันธ์ ช่างยีบอกว่าน่าสนใจและจะลองหาไม้ดูก่อนหลังน้ำลด ถ้ามีผู้สนใจก็อดใจรอช่างยีหาไม้และคำนวณราคาหน่อยนะครับ เมื่อทราบแล้วผมจะมาบอกกล่าวในเว็ปนี้อีกครั้งครับ คุยกับช่างยีวันนี้แล้วผมก็ขอถ่ายภาพช่างยีมาให้พวกท่านได้รู้จักกันด้วยตามรูปที่ 145 ครับ ในภาพช่างยีกำลังสนุกกับกระดานไสฉากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-11 22:48:22


ความคิดเห็นที่ 271 (1450749)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

กลับมาเรื่องการอุดพรางตำหนิไม้ด้วยเดือยสี่เหลี่ยมนะครับ เราได้ผ่านเรื่องการเจาะร่องสี่เหลี่ยมแล้ว ยังเหลือเรื่องการทำเดือยไม้ที่มีหน้าตัดสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปทรงด้านข้างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูที่ผมจะเล่าให้ฟังครับ 

อุปกรณ์ในทำเดือยสี่เหลี่ยมคางหมูมี เลื่อยฟันละเอียด กบ ไม้ฉาก เวอร์เนียร์ฯและกระดานไสฉากครับ เมื่อได้ร่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วก็วัดขนาดแล้วใช้เลื่อยฟันละเอียดตัดเดือยจากเศษไม้ที่มีสีและลายใกล้เคียงกับไม้ที่จะพรางตำหนิโดยกำหนดขนาดให้หน้าตัดกว้างและยาวกว่าร่องสี่เหลี่ยมที่เจาะไว้ประมาณ 2 มม.ตามรูปที่ 146A 

นำเดือยไม้ที่ตัดไว้ไปแต่งขอบบนกระดานไสฉากตามรูปที่ 146B  โดยไสให้ด้านหกขนานและได้ฉากกัน จากนั้นแต่งด้านกว้างและยาวของเดือยให้กว้างยาวมากกว่าร่องสี่เหลี่ยมประมาณ 1 มม. ตามรูปที่ 146C และ D

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-12 00:31:12


ความคิดเห็นที่ 272 (1450751)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

การไสเดือยให้มีด้านข้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมคางหมูก็ใช้กระดานไสฉากตัวเดิมนี่แหละครับโดยเราใช้ไม้บรรทัดเหล็กหนุนรองใต้เดือยด้านในของกระดานโดยให้ลายไม้ของเดือยขนานกับขอบกระดานไสฉากตามรูปที่ 147A แล้วไสตามปกติ

ตามรูปที่ 147B จะเห็นว่าเมื่อกบไสด้านข้างของเดือยจนดิ่งกับแนวราบแล้วด้านที่ถูกไสก็จะเป็นมุมเอียงจากแนวฉากเดิมก่อนไสเท่ากับมุมเอียงใต้เดือยที่ถูกไม้บรรทัดหนุนที่ฐาน และมุมนี้คือมุมของสี่เหลี่ยมคางหมูนั่นเองครับเป็นมุมที่มำให้ก้นเดือยที่จะสอดเข้าร่องสอบลงกว่าด้านบนของเดือยครับ  

ระหว่างไสต้องให้กบกินไม้ให้เสมอตลอดแนวแล้ววัดด้วยเวอร์เนียร์ฯเพื่อที่จะให้ด้านที่ไสคงความขนานกับด้านตรงข้ามไว้ครับไสด้านกว้างแล้วก็สอดเดือยลงในร่องเพื่อวัดขนาด เราไสเอียงด้านเดียวก็พอไม่จำเป็นต้องไสเอียงทั้งสองด้านครับ

จากนั้นก็ไสข้างเดือยด้านสันไม้ด้านหนึ่งตามรูปที่ 147C

วัดขนาดโดยสอดเดือยลงในร่องเหลี่ยม แต่งให้ด้านทั้งสี่สัมผัสกันอย่างสนิทและแน่นตามรูปที่ 147D ถ้าหลวมก็ไสท้ายเดือยด้านเล็กออกแล้วแต่งขอบใหม่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-12 00:53:41


ความคิดเห็นที่ 273 (1450752)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

เมื่อเดือยฟิตพอดีกับร่องก็ทำความสะอาดและติดกาวครับภาพที่เห็นในรูป 148A นี้ผมไม่ได้ใส่กาวเพียงใช้ค้อนตอกอัดลงไปเท่านั้นครับ

ในงานจริงเมื่อกาวแห้งแล้วก็ใช้สิ่วเล็มส่วนบนของเดือยไม้ที่ยื่นจากผิวออกตามรูปที่ 148B  เล็มจนเหลือเนื้อเดือยยีนจากผิวไม่ประมาณ 1 มม. ตามรูปที่ 148C ก็เปลี่ยนมาใช้กบผิวไส

รูปที่ 148D เป็นภาพเดือยที่เสมอกับผิวไม้โดยรอบแล้วครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-12 00:55:26


ความคิดเห็นที่ 274 (1450753)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ขณะที่ทำเดือยเหลี่ยมเพื่อสาธิตประกอบการเขียนเรื่องวันนี้ผมสังเกตเห็นว่าเมื่อใช้กบผิวไสเดือยจนเสมอกับหน้าไม้แล้วจะเห็นรอยไม้ฉีกอยู่อย่างชัดเจนตามรูปที่ 149A ทั้งๆที่ผมเพิ่งจะลับใบกบมาจนคมกริบก่อนเริ่มไส ลักษณะการฉีกของผิวไม้หรือ Shattered Wood นี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ไสไม้ประดู่ชิ้นที่ทำขาหน้าซึ่งผมนำเศษที่เหลือมาทำเดือยสาธิตครั้งนี้ ผมไม่เคยเจอลายไม้แบบนี้ในไม้ชนิดอื่นเลยครับ 

เมื่อเจอกับอาการไม้ฉีกที่ว่านี้ผมก็นึกถึงเรื่องการไสไม้ย้อนด้วยการกลับใบกบผิวเพื่อทำหน้าที่กบขูดตามที่เคยอธิบายไว้ในกระบวนการปรับผิวหน้าโต๊ะได้ครับ (ความเห็นที่ 218 และ 219) ผมจึงทดลองกลับใบกบผิวตัวที่ใช้ซึ่งมีมุมใบกบ 58 องศา โดยให้เหลี่ยมของคมใบขึ้นมาอยู่ด้านบน

ผลออกมาเหมือนกับที่ผมเคยอธิบายไว้ทุกประการครับ กบคว่ำใบหรือกบขูดจัดการรอยฉีกได้เกือบหมดตามรูปที่ 149B ครับ ขอให้สังเกตภาพขยาย A และ B ด้านล่างนะครับจะเห็นความแตกต่างของกบผิวปกติกับกบผิวแปลงเป็นกบขูดอย่างชัดเจนเลยครับ ภาพ A คืออาการผิวเสมอแต่ฉีก ส่วนภาพ B คืออาการเสมอและเรียบ ผิวที่เรียบขนาดนี้เทียบเท่าผิวที่ขัดด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์สูงๆสบายเลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-12 00:59:58


ความคิดเห็นที่ 275 (1450765)
avatar
พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน

เยี่ยมเลยครับ  สำหรับวิธีจัดการรอยตำหนิไม้  แถบจะดูไม่ออกเลยว่ามีตำหนิ  โดยเฉพาะรูปที่ ๑๔๘ ดี  และรูปที่ ๑๔๙ บี  เนียนมากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น พ.ม.วิชาญ สุขวฑฺฒโน (vichan02-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-10-12 07:38:53


ความคิดเห็นที่ 276 (1451020)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

รูปที่ 150 แสดงให้เห็นการใช้เดือยสี่เหลี่ยมพรางรอยรูน๊อตขนาดใหญ่ 5 จุดบริเวณขอบโต๊ะด้านหน้าครับ

ถ้าอยากเห็นภาพว่ารอยรูน๊อตขนาดใหญ่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไรขอให้กลับไปอ่านเรื่องการเตรียมไม้ในหัวข้อที่ 3 และ ดูรูปที่ 28 ในความเห็นที่ 39 นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 17:03:16


ความคิดเห็นที่ 277 (1451021)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

รูปที่ 151 แสดงให้เห็นการใช้เดือยสี่เหลี่ยมพรางรอยรูที่เราเจาะไว้สำหรับสอดหัวน๊อตตัวเมียเข้าไปในขาโต๊ะเพื่อร้อยกับสตัดในการยึดพนังกับขาโต๊ะเข้าด้วยกันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 17:04:23


ความคิดเห็นที่ 278 (1451023)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ในการใช้เดือยไม้อุดพรางตำหนิมีอยู่จุดหนึ่งที่หินที่สุดครับ จุดนี้อยู่ที่สันของไม้ประกับท้ายโต๊ะที่อยู่ตรงข้ามกับด้านที่เป็นหางเหยี่ยว

ไม้ชิ้นนี้เดิมเป็นเสาบ้านที่ผมไสและผ่าออกมาตามรูปที่ 152A และ B ครับ

มองจากภายนอกไม่ทราบเลยว่ามีรอยแตกอยู่ข้างใน มาทราบอีกทีก็ตอนที่ตัดไม้ได้ขนาดแล้วตามรูปที่ 152C  จะเปลี่ยนใหม่ก็เสียดายไม้เดิมจึงลองอุดดูครับ เลือกไม้อยู่นานเพราะจุดที่มีรอยร้าวเห็นวงปีของไม้ชัดเจนมากไม้ที่จะอุดจึงต้องคัดให้วงปีเข้ากันด้วย  

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 17:05:56


ความคิดเห็นที่ 279 (1451026)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ในภาพ A ของรูปที่ 153 ท่านจะเห็นรอยเสริมไม้ประกับท้ายโต๊ะที่ว่าอยู่ทางด้านขวามือและรอยเสริมไม้ขอบโต๊ะที่บิ่นอยู่ทางซ้ายมือครับ ภาพ B เป็นรูปขยายให้เห็นถึงเดือยที่เสริมรอยแตกบนสันไม้ประกับฯครับ ผลที่ออกมาได้แนวรอยต่อไม้สนิทและลายวงปีเข้ากันดูดีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 17:07:31


ความคิดเห็นที่ 280 (1451027)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมเล่าเรื่องการอุดพรางตำหนิไม้ไปแล้วในหัวข้อ 6.8.1) อุดเพื่อพรางตำหนิ เรายังเหลือการอุดไม้อีกลักษณะหนึ่งคือ

6.8.2) อุดเพื่อเสริมความแข็งแรงของไม้ 

ไม้เก่าที่พี่เติมกับผมได้มานี้นอกจากจะมีรูขนาดใหญ่ที่เจาะทะลุตลอดความกว้างของไม้อยู่หลายแห่งแล้วก็ยังมีรอยแตกรอยร้าวรอยบิ่นอีกหลายแห่งด้วย ถ้ารอยตำหนิใดส่งผลถึงความแข็งแรงเราก็ทำการเสริมเนื้อไม้ดีเข้าไปแทนที่เนื้อไม้แตกร้าวหรือเนื้อไม้ที่แหว่ง ขาดหายไปครับ  

ตำหนิอีกประเภทหนึ่งเกิดจากการวางตำแหน่งปากกาผิดที่ตามที่ผมอธิบายไว้ในความเห็นที่ 70 ครับ เมื่อวางตำแหน่งผิดที่ก็ทำให้เจาะรูยึดปากกาและเซาะร่องวางรางปากกาท้ายโต๊ะผิดที่ด้วย ระหว่างแก้ไขตำแหน่งปากกาให้ถูกต้องสำหรับพี่เติมซึ่งถนัดซ้ายเราก็เห็นปัญหาว่ารูและรางที่เจาะไว้ผิดที่ทำให้เสียเนื้อไม้ในจุดสำคัญไปไม้น้อยทีเดียว เรามีทางเลือก 2 ทางครับคือ ตัดไม้ที่เจาะรูและเซาะร่องผิดออกไปแล้วยอมให้โต๊ะสั้นลง หรือ อุดเสริมไม้ที่แหว่งหายไปให้ใกล้เคียงเนื้อไม้เดิม 

เราเลือกทางเลือกที่ 2 ครับเพราะไม่ต้องการโต๊ะสั้นกว่าที่เป็นอยู่และถ้าทำดีๆการเสริมไม้ก็สามารถเรียกกำลังไม้คืนมาได้มาก 

ผมจะเล่าให้ฟังเรื่องการเสริมความแข็งแรง 2 จุดครับ   

จุดแรกตามรูปที่ 154 เป็นการเสริมเนื้อไม้เข้าไปในร่องวางรางปากกา (A) และร่องวางเกลียวปากกา (B) เดือย A และเดือย B มีความยาวประมาณ 35 ซม.ซึ่งเท่ากับร่องที่เซาะไว้ครับ

ตามภาพจะเห็นเดือย C ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอยู่ทาวด้านขวามือ เดือยนี้ใช้อุดร่องบิสกิทหรือเดือยเพลาะไม้ที่บังเอิญมาโผล่ในตำแหน่งนี้พอดีเนื่องจากเราต้องเล็มหางเหยี่ยวที่ทำไว้ผิดที่ออกไปทำให้แนวขอบโต๊ะร่นสั้นเข้าไปถึงแนวบิสกิทเดิมครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 17:10:26


ความคิดเห็นที่ 281 (1451029)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

จุดที่สองตามรูปที่ 155 เป็นการเสริมความแข็งแรงของไม้โดยการสอดเพลาไม้กลมเข้าไปในรูน๊อตที่มากับไม้และรูยึดปากกาที่เจาะผิด  

ในภาพที่เห็นเราอุดทั้งหมด 3 รูครับ สำหรับรูน๊อตเดิมก่อนอุดก็ต้องใช้ดอกสว่านคว้านรูให้ถึงเนื้อไม้เพื่อให้ได้ผิวไม้ที่สะอาดสำหรับยึดกาวครับ 

ในภาพที่ 155A จะเห็นสันของเดือยที่เสริมแล้วโผล่มาด้านในของร่องปากกาท้ายโต๊ะครับ 

การทำเดือยกลมนั้นผมใช้กบเหลาเศษไม้ครับเพราะไม่มีเครื่องกลึง การเหลาเริ่มโดยไสไม้ให้มีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส จากนั้นลากเส้นรอบวงของวงกลมที่มีขนาดเท่าเพลาลงบนสันไม้ แล้วไสลบเหลี่ยมตามภาพที่ 155B 

เหลาจนไม้มีความกลมตามเส้นที่ลากไว้ตามภาพที่ 155C ทดลองสอดเดือยเข้าไปในรูกลมได้พอดี 

ก่อนจะติดกาวก็ใช้เลื่อยเซาะร่องขนานกับแกนยาวของเพลากลม 4 ร่องเพื่อระบายกาวส่วนเกินและอากาศออกมาจากก้นรูขระติดอัดกาว เมื่ออากาศและกาวส่วนเกินออมาได้เดือยก็จะได้ลงไปถึงก้นรูที่เจาะไว้

ขั้นตอนสุดท้ายคือการทากาว สอดเพลากลมเข้าไปในรูที่เจาะแล้วใช้ F แคลมป์อัดตามภาพที่ 155D ครับ ระหว่างที่ใช้แคลมป์อัดจะมีกาวไหลทะลักออกมาตามร่องทั้งสี่ที่เซาะไว้ ถ้าเราไม่เซาะร่องระบายเราก็ต้องออกแรงมากในการอัดเดือยเข้าไปครับเพราะกาวจะทำหน้าที่เหมือนแหวนในกระบอกสูบกันไม่ให้อากาศระบายออกมา ในส่วนของก้นรูก็จะมีอากาศกับกาวส่วนเกินติดค้างอยู่

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 17:16:15


ความคิดเห็นที่ 282 (1451031)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

 

เรียนผู้ติดตามเรื่อง "โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม" ทุกท่านครับ

ผมได้เขียนเรื่องนี้มาเดือนเศษแล้วนะครับ โครงเรื่องเดิมที่วางไว้คือ

1) “พี่เติม” เป็นใคร 

2) การออกแบบ 

3) การเลือกซื้อไม้และการเตรียมไม้ 

4) ปากกาท้ายโต๊ะแบบพวงมาลัย (Wagon Vise) ชุดเดือยกลม (Round Bench Dogs) และปากกา Record No. 52 ½ แบบมีกระเดื่องชักเร็ว (Quick Release) 

5) เสาพยุงไม้ (Sliding Deadman) ที่มีหน้าที่ประคองไม้ (ไม่ใช่เสาไม้พะยุง นะครับ) 

6) กระบวนการสร้างโดยละเอียด 

7) การเข้าไม้แบบต่างๆ ซึ่งจะเล่าถึงวิธีเข้าหางเหยี่ยว (Dovetail Joint) เดือยเหลี่ยม (Mortise and Tenon Joint) เดือยรางลิ้น (Dado Joint) การเพลาะไม้ (Edge Joining) และการอุดเดือยพรางตำหนิบนผิวไม้ 

8) กบไสไม้ และ การใช้งานแบบต่างๆ คือไสล้าง ไสปรับระดับ ไสผิว และไสชิด 

9) การใช้เร้าเตอร์ทำเป็นเครื่องไสไม้ 

10) เกร็ดความรู้ (Tips) เกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ รวมถึงแบบยึดงาน (Jig) 

11) บทเรียนที่ได้รับ และ งบประมาณที่ใช้ 

เมื่อถึงเวลาเล่าเรื่องเข้าจริงๆลำดับเรื่องที่เล่าต่างจากโครงเรื่องเดิมที่วางไว้ครับ โดยผมนำหัวข้อที่ 7) 8) และ 10) มาเล่าระหว่างที่อธิบาย หัวข้อที่ 6) กระบวนการสร้างโดยละเอียด  เรียบร้อยแล้วครับ อาจจะมีบางเรื่องที่เกี่ยวกับกบไสไม้ที่ผมอยากจะเล่าเพิ่มเติมภายหลังในกระทู้ที่แยกต่างหากจากเรื่องนี้ครับ

ดังนั้นผมยังเหลือเรื่องที่จะเล่าอีก 2 หัวข้อนะครับคือ หัวข้อที่ 9) การใช้เร้าเตอร์ทำเป็นเครื่องไสไม้   และหัวข้อที่ 11) บทเรียนที่ได้รับ และ งบประมาณที่ใช้ 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 17:50:48


ความคิดเห็นที่ 283 (1451049)
avatar
เอ๋ เพาะช่าง

ยาวจริงๆพี่....

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ๋ เพาะช่าง (hometist-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-13 21:03:54


ความคิดเห็นที่ 284 (1451644)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

9) การใช้เร้าเตอร์ทำเป็นเครื่องไสไม้   

ในช่วงที่กำลังออกแบบติดตั้งปากกาหัวโต๊ะและปากกาท้ายโต๊ะผมใช้เวลาพักหนึ่งทดลองหาวิธีไสไม้สองหน้าให้ขนานกันพอดีตลอดทั้งชิ้นงานโดยไม่ต้องใช้กบไสไม้ ที่ปากกาหัวโต๊ะมีไม้หมอนตามรูปที่ 156A ที่กว้าง 19 ซม. ยาว 35 ซม. หนา 7 ซม. ส่วนปากกาท้ายโต๊ะก็มีไม้ประกับตามรูปที่ 156B ที่กว้าง 14 ซม. ยาว 73 ซม. หนา 8 ซม. ความหนาของทั้งสองชิ้นงานนี้ต้องพอดีเป๊ะครับ 

ผมมีเครื่องรีดไม้อยู่ตัวหนึ่งที่เมื่อลองใช้กับไม้ประดู่แล้วได้ผลงานไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สองปัญหาที่เจอคือเรื่องการ “ขบ” หัวและท้ายไม้ และการกินไม้ไม่เสมอขณะไสไม้ประดู่  

การขบหัวไม้เกิดจากการที่ชุดลูกกลิ้งยางพาไม้เกิดการกระดกเงยตัวขึ้นเพราะถูกส่วนหน้าของชิ้นงานดันขณะที่ไม้เคลื่อนเข้าไปในเครื่องทำให้มีดเอียงกินไม้ลึกกว่าปกติขณะเริ่มกัดไสส่วนแรกของไม้ อาการที่จะพบคือไม้บริเวณส่วนหัวไม้จะถูกกินเป็นร่องลึกตลอดความกว้างอยู่ประมาณ 10 ถึง 50 มม. ส่วนการขบท้ายไม้ก็เกิดจากการกระดกทรุดตัวลงของชุดลูกกลิ้งหลังจากที่ไม้ผ่านเข้าไปในเครื่องจนหมดแล้ว 


วิธีแก้ไขทำได้สองวิธีครับ วิธีแรกเราสอดเศษไม้นำไม้จริงที่ความหนาใกล้เคียงชิ้นงานเข้าไปก่อนแล้วป้อนไม้จริงตามจ่อเศษไม้เข้าไปโดยไม่ให้ขาดช่วง เมื่อไม้เข้าไปในเครื่องใกล้จะหมดก็ดันเศษไม้ความหนาใกล้กันตามเข้าไปอย่าให้ขาดช่วง อาการขบจะเกิดที่เศษทั้งสองและจะไม่ปรากฏที่ชิ้นงานเราครับครับ ในกรณีนี้ผมไม่มีเศษไม้ที่จะใช้เป็นไม้นำครับ  

 ส่วนวิธีที่สองผมเพิ่งจะรู้จักเมื่อเร็วๆนี้จากเว็ปของ Matthias Wandel ครับ เขาสร้างจิ๊กเข้าไปค้ำยันไม่ให้ชุดลูกกลิ้งยางกระดกครับ ถ้าอยากทราบรายละเอียดดูได้จากลิ๊งค์นี้ครับ
http://woodgears.ca/jointer/planer_snipe.html
เขาอธิบายด้วยภาพและ VDO ครับ ถ้าดูแล้วไม่เข้าใจและอยากได้คำอธิบายเพิ่มขอให้แจ้งผมมานะครับ จะหาโอกาสแปลให้ครับ 


ปัญหาการกินไม้ไม่เสมอกันทำให้ความหนาของไม้ที่ไสแล้วไม่เท่ากัน ผมยังไม่มีโอกาสหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ปัญหานี้ไม่เกิดเมื่อไสไม้เนื้ออ่อนอย่างไม้ลัง หรือไม้สักครับ เกิดเฉพาะไม้ประดู่ อาจจะเกี่ยวกับความคมของใบกบก็เป็นได้ครับ ผมยังต้องหาโอกาสทำความเข้าใจ 

โดยสรุปแล้วผมไม่ไว้ใจเครื่องรีดไม้ที่มีอยู่ถ้าจะใช้ในงานนี้ครับ เราไม่มีไม้สำรอง ต้องทำให้ผ่านในครั้งแรกเท่านั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 00:41:39


ความคิดเห็นที่ 285 (1451648)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ถ้าจะทำจริงๆใช้กบมือไสก็ได้ครับแต่ผมอยากลองแปลงเราเตอร์ให้เป็นเครื่องกัดไสปรับหน้าไม้มานานแล้วก็เลยได้โอกาสพอดีครับ เคยเห็นหลักการทำงานในเว็ปของฝรั่งก็มาทดลองประยุกต์จนออกมาตามที่ท่านเห็นในรูปที่ 157 ครับ

หลักการทำงานของเครื่องกัดไสนี้คือการยึดเราเตอร์เข้ากับแคร่ที่วิ่งบนรางคู่ในรูปที่ 158 ถ้าเราตั้งให้รางคู่นี้ให้ขนานกับพื้นวางชิ้นงานซึ่งทำจากหินแกรนิตที่เรียบมาก (ความแอ่นของหินชิ้นนี้วัดแล้วไม่เกิน 0.1 มม.) ดอกเราเตอร์ก็จะอยู่เหนือพื้นวางชิ้นงานด้วยระยะคงที่เสมอไม่ว่าเราจะขยับแคร่ เราเตอร์ และดอกไปที่จุดใด เมื่อเรายึดชิ้นงานเข้ากับพื้นแล้วเลื่อนเราเตอร์ไปตามราง ดอกเราเตอร์ก็จะกัดชิ้นงานเป็นร่องพื้นของร่องที่ถูกกัดจะขนานกับพื้นวางชิ้นงานเสมอ

เราปรับความสูงของรางให้พอดีกับความหนาของไม้และระยะกินลึกของเราเตอร์ได้โดยขยับแผงข้างให้ตรงกับรูที่เหมาะสม

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 00:55:45


ความคิดเห็นที่ 286 (1451649)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อยึดชิ้นงานกับพื้นตามรูปที่ 158 เราเตอร์ซึ่งอยู่บนแคร่อะลูมิเนียมก็พร้อมจะเซาะชิ้นงานให้ได้ผิวที่ก้นร่องขนานกับพื้นแกรนิต

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 00:59:51


ความคิดเห็นที่ 287 (1451650)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

เมื่อขยับเราเตอร์ไปด้านข้างก็จะได้ร่องที่กว้างขึ้น ตามรูปที่ 159 จะเห็นร่องที่กว้างขึ้นจนเกือบจะเต็มหน้าไม้แล้วครับ ผิวที่กัดไสแล้วแต่งด้วยกบผิวอีกนิดหน่อยก็ใช้ได้ครับ ผมใช้ดอกกัดตรงขนาด 1 นิ้วซึ่งเป็นดอกใหญ่ที่สุดที่ผมมีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 01:06:09


ความคิดเห็นที่ 288 (1451651)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ระหว่างกัดไสเราก็ใช้ปากกายึดชิ้นงานกับพื้นตามรูปที่ 160 ครับ ในรูปนี้เราต้องการกัดไสเต็มหน้าชิ้นงานเราจึงต้องยึดปากกาเกลียวคู่ Hand Screw เข้ากับด้านข้างของชิ้นงาน จากนั้นจึงยึดปากกาเข้ากับพื้นหินแกรนิตอีกทีหนึ่งด้วย F แคล็มป์ครับ 

การยึดจับชิ้นงานตามที่เห็นอยู่ก็ถือว่าพอใช้ได้ แต่ยังไม่ถูกใจผมครับ ผมอยากให้สะดวกกว่าที่เป็นอยู่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 01:17:30


ความคิดเห็นที่ 289 (1451652)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผลการกัดไสบ่าของไม้หมอนรองปากกาหัวโต๊ะออกมาดีมากครับ ตามรูปที่ 161 เหลืองานเก็บขอบบ่าด้วยสิ่วและกบเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 01:20:28


ความคิดเห็นที่ 290 (1451653)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

รูปที่ 162 เป็นการกัดไสไม้ประกับท้ายโต๊ะ ตามภาพแม้ว่าผมจะใชัทั้งหน้ากากกันฝุ่น แว่นตา และครอบหู แล้วผมก็ยังรู้สึกไม่ชอบฝุ่นและเสียงครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 01:22:52


ความคิดเห็นที่ 291 (1451654)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

โดยรวมแล้วถ้าไม่พูดถึงเรื่องฝุ่นกับเสียงที่รบกวนเราแล้ว ก็นับว่าการใช้เราเตอร์เป็นเครื่องกัดไสไม้ได้ผลดีมากครับ

เครื่องมือชิ้นนี้ทำหน้าที่ปรับผิวด้านแรกของชิ้นงานให้เรียบตรงเป็นระนาบแทนเครื่องชิดไม้ และ ปรับผิวด้านที่สองของชิ้นงานให้เรียบเป็นระนาบขนานกับผิวด้านแรกแทนเครื่องรีดไม้ ได้สะดวกเลยครับสำหรับชิ้นงานขนาดใหญ่ กว้าง  x  ยาว x หนา ไม่เกิน 30 x 75 x 14 ซม.

ตามรูปที่ 163 โค้ชของผมก็ถูกใจด้วยครับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 01:30:26


ความคิดเห็นที่ 292 (1451753)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมขอขยายความเรื่องการจับยึดชิ้นงานเข้ากับพื้นหินแกรนิตตามรูปที่ 164 ครับ

ในภาพ A จะเห็นไม้ขนาด 5 x 2 ซม. ที่เสริมไว้ใต้ขอบหินแกรนิตทั้งสองข้างเพื่อใช้เป็นที่จับยึดปากกา ถ้าเราหนีบยึดปากกาโดยตรงกับหินเกรงว่าหินอาจจะแตกได้ เราจึงใช้ไม้หนีบประกบเพื่อกระจายแรงที่กดงัดบนหินครับ การยึดก็ใช้วิธีเจาะหินแกรนิต สอดพุกเกลียวตัวเมียไว้ในแกรนิตยึด แล้วร้อยน๊อตตัวผู้ขึ้นมาจากด้านใต้ผ่านไม้เสริมครับ

ภาพ B และ C แสดงการยึดชิ้นงานด้วยปากกาเกลียวคู่และ F แคล็มป์อีกครั้งเพื่อความชัดเจนเป็นการเสริมเรื่องที่อธิบายไว้ในความเห็นที่ 288 และ รูปที่ 160 ครับ

ภาพ D แสดงชิ้นงานที่เราจับยึดไว้ก่อนจะกัดไส ในภาพจะเห็นว่าปากกายึดชิ้นงานจากด้านเดียวเนื่องจากชิ้นงานยาวไม่พอที่จะให้เราหนีบยึดปลายอีกข้างหนึ่งได้สะดวก การยึดจากด้านเดียวก็พอทำงานได้แต่ยังไม่รู้สึกถูกใจครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 22:38:30


ความคิดเห็นที่ 293 (1451755)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

ผมกำลังคิดที่จะเจาะพื้นตรงกลางเพื่อหาวิธีจับยึดชิ้นงานแบบที่ช่างกลเขาใช้บนโต๊ะของเครื้องมิลลิ่งตามรูปที่ 165 ครับ

เครื่องกัดไสด้วยเราเตอร์นี้ยังอยู่ในระหว่างการทดลองอยู่ครับ ในอนาคตผมอยากปรับปรุงเรื่องการจับยึดชิ้นงานและการดูดฝุ่นผงไม้ที่กระจายฟุ้งขณะใช้งาน ถ้ามีพัฒนาการจากที่เป็นอยู่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 22:40:51


ความคิดเห็นที่ 294 (1451763)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

วันนี้ผมเพิ่งจะพบภาพจริงของลิ้นและรางของไม้ประกับท้ายที่เคยให้ชมเป็นแบบร่างในรูปที่ 49 ผมจึงขอแสดงภาพจริงให้ชมตามรูปที่166 ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-18 23:02:21


ความคิดเห็นที่ 295 (1451777)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

11) บทเรียนที่ได้รับ และ งบประมาณที่ใช้ 

เรื่องต่อไปคือหัวข้อที่ 11 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทเรียนที่ได้รับระหว่างการทำ “โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม” และ เรื่องงบประมาณที่ใช้ หัวข้อนี้เป็นหัวข้อสุดท้ายแล้วครับ

เริ่มจากเรื่องงบประมาณที่ใช้ก่อนนะครับ ตัวเลขทั้งหมดเป็นค่าประมาณนะครับ
ค่าไม้ประดู่                         16,000 บาท
ปากกาหัวโต๊ะ                       3,200
ปากกาท้ายโต๊ะ                     6,500
เดือยทองเหลือง 6 ตัว           1,800
น๊อตและสตัดที่ซื้อ                 1,500
น๊อตและสตัดที่กลึงและกัด     3,000
น้ำมัน ทีคออยล์                       500
รวม                                    32,700 บาท

ตัวเลขนี้ไม่ได้รวมค่าเดินทางไปบางบาล โอเดียน คลองถม และโรงกลึง อีกหลายๆครั้งและไม่ได้รวมค่าไฟฟ้านะครับ ส่วนค่าจ้างทำไม่ต้องพูดถึงครับ ตัวผมได้ค่าจ้างมาเป็นน้ำหนักตัวที่ลดลง 15 กิโลกรัมบวกความสนุกอีกต่างหากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-19 02:34:25


ความคิดเห็นที่ 296 (1451778)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

สำหรับบทเรียนจากการทำโต๊ะตัวนี้มีดังนี้ครับ: 

1) ถ้าไม่อยากผิดพลาดต้องเขียนแบบอย่างชัดเจนก่อนทำทุกครั้ง ผมจ่ายบทเรียนนี้ด้วยราคาแพงมากครับ เพราะลืมคิดไปว่าเจ้าของโต๊ะถนัดซ้ายกว่าจะนึกได้ก็ทำงานที่ต้องรื้อ ทำซ้ำ ไปหลายวัน นอกจากนี้ก็ต้องตัดไม้ทิ้งทำให้เสียความยาวโต๊ะไปไม่น้อยเลยครับ 

2)  การใช้ไม้เก่ามีงานเพิ่มในการจัดการกับตำหนิบนไม้และการกำจัด/หลบหลีกเหล็กกับตะปูที่ฝังในมากจริงๆ เครื่องมือของผมได้สัมผัสตะปูโดยไม่เจตนาเพียงสองสามครั้งเท่านั้น โชคดีที่ผมใช้เครื่องมือแรงคนเป็นส่วนใหญ่ความเสียหายจึงเป็นเพียงรอยบิ่น ถ้าใช้เครื่องจักรการสัมผัสเหล็กหรือตะปูที่ฝังในอาจทำให้เราเสียการควบคุมเครื่องมือและเกิดอันตรายได้ครับ 

ถ้าจะพิจารณาเรื่องต้นทุนแล้วผมคิดว่างานที่เพิ่มจากการใช้ไม้เก่าน่าจะใกล้เคียงกับส่วนต่างราคาระหว่างไม้เก่ากับไม้ใหม่ครับ ถ้าใครคิดจะทำงานลักษณะนี้เป็นเชิงพาณิชย์แล้วผมแนะนำให้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายให้รอบคอบนะครับ 

สำหรับผมซึ่งทำเพื่อความสนุกเพลิดเพลินเป็นหลัก ถ้าให้เลือกใหม่อีกครั้งผมก็จะเลือกใช้ไม้เก่าครับ   

3) ถ้าคิดจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับงานที่ทำต้องถ่ายรูปทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ไม่ต้องอธิบายมากครับ ในกรณีของผมนั้นเก็บภาพบ้างไม่เก็บบ้างทำให้พลาดโอกาสที่จะเก็บภาพสำคัญๆไปหลายครั้ง ทำให้ต้องถ่ายซ่อมภายหลัง หรือร่างภาพมาอธิบายซึ่งสิ้นเปลืองเวลามากและก็ไม่ได้คุณภาพเทียบเท่าของจริงครับ 

4) ผมประทับใจกบไม้ของธรรมศักดิ์มากครับ งานสร้างโต๊ะตัวนี้มีหลายขั้นตอนที่เราใช้กบไสปรับผิวไม้ ขี้กบที่เกิดจากโต๊ะตัวนี้ที่ผมกวาดโกยไปกองไว้ใต้ต้นมะม่วงที่บ้านหลังเลิกงานทุกคืนรวมแล้วได้หลายเข่งเลยครับ ผมได้ความรู้และความชำนาญในการไสไม้ขึ้นจากเดิมมาก และจากการที่ได้คลุกคลีกับทั้งกบเหล็กและกบไม้อย่างใกล้ชิดทำให้ผมชอบกบไม้ของธรรมศักดิ์มากจริงๆครับ อีกไม่นานผมจะเล่าให้ฟังนะครับว่าผมทำอะไรบ้างกับความประทับใจในกบไม้ของผม 

5) ฝุ่นไม้จากเครื่องมือไฟฟ้าประเภทเราเตอร์ เครื่องกบ และเลื่อยน่ารำคาญ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก แม้จะใช้เครื่องดูดฝุ่นคอยช่วยดูดขณะทำงานก็ยังมีฝุ่นกระจายฟุ้งอยู่ทั่ว หน้ากากกันฝุ่นพอช่วยได้บ้างครับแต่ก็รู้สึกอึดอัด ถ้ามีเวลาผมอยากจะทำระบบดูดฝุ่นโดยใช้กรวยลมหรือ Cyclone ดูบ้าง น่าจะทำให้ห้องทำงานไม้ เสื้อผ้า เนื้อตัว จมูก แบะปอดของผมสะอาดขึ้นมากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-19 02:40:05


ความคิดเห็นที่ 297 (1451780)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

6) การเจาะรูสตัดที่ยึดพนังกับขาโต๊ะด้วยสว่านมือและจิ๊กแบบที่เราทำไม่แม่นยำพอครับ ถ้ามีโอกาสทำใหม่อีกครั้งผมจะทดลอง 3 วิธีครับ
สองวิธีแรกได้เรียนรู้จากคุณMatthias Wandel ตามรูปที่ 167 จาก http://woodgears.ca/horizontal_boring/jig.html และ http://woodgears.ca/shop-tricks/drilling-big.html ครับ
ส่วนวิธีที่ 3 ได้เรียนรู้จาก คุณพงษ์ (บ้านงานไม้) ในเว็ปนี้จากกระทู้เรื่อง " แท่นสว่าน 3 in 1 " ตามลิ๊งค์ http://www.thaicarpenter.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaicarpentercom&thispage=2&anspage=1&No=1407345 ครับ

วิธีแรก ตามภาพ 167A จะเป็นการเจาะแนวนอนโดยทำจิ๊กจับยึดตัวสว่านมือ แล้วเจาะรูขณะที่วางจิ๊กกับชิ้นงานบนพื้นเรียบชิ้นเดียวกัน โดยดันสว่านเข้าหาชิ้นงานพร้อมกับประคองสว่านให้แนบกับพื้นและรั้วไม้ด้านข้างครับ  

วิธีที่สอง ตามภาพ 167B เป็นการเจาะในแนวดิ่งโดยการดัดแปลงสว่านแท่นครับ เขาใช้วิธีคลายน๊อตหัวจมที่ยึดส่วนบนของสว่านแท่นแล้วหมุนส่วนหัวไปจากตำแหน่งเดิม 180 องศาครับ หลังจากขันน๊อตหัวจมให้แน่นก็ยกสว่านแท่นขึ้นยึดวางบนโต๊ะให้มั่นคง จะเห็นจากภาพว่าในขณะที่ฐานสว่านอยู่บนโต๊ะส่วนหัวเจาะจะยื่นออกมานอกโต๊ะทำให้เราเจาะชิ้นงานที่ยาวกว่าความสูงของสว่านได้ การเจาะแบบนี้ก็ต้องทำจิ๊กจับชิ้นงานเหมือนกันครับ แต่จะได้เปรียบแบบแรกตรงที่เราป้อนดอกสว่านให้กินไม้ได้มั่นคงกว่าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-19 03:20:30


ความคิดเห็นที่ 298 (1451781)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

วิธีที่ 3 เป็นวิธีเจาะแนวนอนและแนวดิ่งตามที่คุณพงษ์ (บ้านงานไม้) ได้นำเสนอจิ๊ก " แท่นสว่าน 3 in 1 " ครับ

จิ๊ก " แท่นสว่าน 3 in 1 " ของคุณพงษ์มีหลักการทำงานคล้ายกับจิ๊กเจาะแนวนอนของ Matthias Wandel ในเรื่องการยึดสว่านมือแต่ต่างกันตรงที่คุณพงษ์ทำรางให้จิ๊กวิ่งในขณะที่ Matthias ใช้มือประคองให้จิ๊กแนบกับรั้วครับ

ผมชื่นชมแนวคิดของคุณพงษ์ และขออนุญาตคุณพงษ์ นำภาพจิ๊ก มาแสดงในรูปที่ 168 นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-19 03:26:00


ความคิดเห็นที่ 299 (1451782)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร

7) เลือกกาวให้เหมาะกับงาน ผมซื้อกาวลาเท็กซ์แบบใช้งานทั่วไปมาใช้แทนที่จะใช้แบบที่ทำมาสำหรับงานไม้และติดปาเก้ ถึงจะยังไม่เห็นปัญหาจากกาวที่ใช้ก็ทำให้ผมเสียดายที่ไม่รอบคอบครับ วันที่ซื้อกาวที่โฮมโปรในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีกาวลาเท็กซ์เพียงชนิดเดียวครับ แต่สัปดาห์ที่แล้วมีกาวลาเท็กซ์สำหรับงานไม้มาวางข้างแบบใช้งานทั่วไปแล้วครับ 

8) เรื่องสุดท้ายคือเรื่องการเลือกวัสดุให้เหมาะกับงานโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการขึ้นรูป วัสดุที่เราใช้ทำปากกาท้ายโต๊ะแบบ Wagon Vise ในส่วนที่เป็นรางนั้นผมเลือกใช้เหล็กหัวแดง Carbon Steel ด้วยเหตุผลว่า หน้าตัดได้ฉากดีและความกว้างหนาเต็มขนาดตลอดเส้น และผมก็คิดว่ามีงานขึ้นรูปที่ต้องทำเพียงงานเซาะร่องอย่างเดียวเท่านั้น

ปรากฏว่าเนื้อเหล็กแข็งมากจนดอกมิลลิ่งหักไป 3 ดอกและผิวร่องที่เซาะก็ไม่เรียบเท่าที่ควรต้องมาแต่งเพิ่ม ถ้าผมเลือกทองเหลืองเส้นแทนเหล็กหัวแดงผมคิดว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมจะถูกกว่ามากแม้ทองเหลืองจะแพงกว่า และที่สำคัญงานจะออกมาสวยกว่าด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-19 03:30:57


ความคิดเห็นที่ 300 (1451783)
avatar
เขมทัต กรัยวิเชียร
image

 

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามเรื่อง “โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม” มาโดยตลอด

ขอขอบคุณ ThaiCarpenter.com ที่เอื้อเฟื้อเนื้อที่ให้ผมเล่าเรื่องนี้ 

ขอขอบคุณชมรมคนรักงานไม้ที่จัดสถานที่แสดงโต๊ะตัวนี้ในงานชมรมคนรักงานไม้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และขอบคุณ คุณสรรพาวุฒิ (คุณเซี่ยง) คุณสุทิน และวีระวิทย์ ที่กรุณามาช่วยขนโต๊ะตัวนี้ไปแสดงที่งาน

ขอขอบคุณ คุณอธิวัชร ที่ให้ความช่วยเหลือจัดการงานโลหะแปลกๆนับจำนวนไม่ถ้วนให้ออกมาใช้งานได้ดี

ขอขอบคุณ พี่เติม ที่อยากได้โต๊ะช่างไม้ ขอบคุณที่ร่วมกันสร้าง"โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม" และสร้างโอกาสให้ผมได้ทำงานไม้ที่สนุกที่น่าจดจำชิ้นนี้

ขอขอบคุณ คุณพ่อ ผู้เป็น โค้ชที่ยอดเยี่ยม ที่ได้แนะนำให้ผมรู้จักกับงานไม้และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในเรื่องงานไม้ประณีตมาตลอดเส้นทางช่างไม้สมัครเล่นของผม

และที่ขาดไม่ได้ ผมขอขอบคุณ ภรรยาของผม คุณฐิติพร กรัยวิเชียร หรือคุณโอ๊ต ที่สนับสนุนการทำโต๊ะตัวนี้และสนับสนุนความสนใจของผมในเรื่องงานช่างไม้และการสะสมเครื่องมือช่างไม้มาโดยตลอด

ภาพสุดท้ายถ่ายไว้ระหว่างที่ผมกำลังนอนอยู่กับพื้นใต้ "โต๊ะช่างไม้ในฝันของผม" เพื่อถ่ายรูปเรื่องการเพลาะไม้ คุณโอ๊ตเดินเข้ามาทักทายผมในห้องทำงานไม้ ผมก็เลยเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกครับ :)

จบบริบูรณ์

ผู้แสดงความคิดเห็น เขมทัต กรัยวิเชียร (kematat_k-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-10-19 03:40:06



« 1 2 3 4 »


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.